‘นพ.สุภกร บัวสาย’:อย่าคาดหวัง ‘ปฏิรูประบบการศึกษา’ กับผู้มีอำนาจบางท่าน
...เชื่อหรือไม่ว่า มีเด็กที่มีความรู้เทียบเท่าเด็กโอลิมปิกวิชาการเพียง 0.1% (วิชาวิทยาศาสตร์) และ 0.5% (วิชาคณิตศาสตร์) หรือคิดเป็นประมาณ 100 คน จากเด็กที่เกิดในปีเดียวกัน 8 แสนคน ดังนั้นเด็กในประเทศสอบได้คะแนนสูงมีจำนวนน้อย ในขณะเด็กอีกครึ่งค่อนประเทศ ‘สอบตก’...
ในฐานะสมาชิกใหม่แกะกล่องของเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Venture Network, Asia (Thailand) หรือ SVN สำหรับ ‘นพ.สุภกร บัวสาย’ ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจและสื่อมวลชนเข้าทำความรู้จัก พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อสัมผัสถึงแนวคิดและผลงานที่น่าสนใจ
โดยที่ผ่านมา นพ.สุภกร นับเป็นผู้มีผลงานสำคัญและก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยหลากหลายด้าน อาทิ การจัดการความรู้เพื่อสังคม การรณรงค์ทางสื่อที่มีคุณภาพสูงดีเด่น หรือการวางรากฐานยุทธศาสตร์และระบบการบริหารจัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระหว่างปี 2544-53 จนกลายเป็นที่ยอมรับวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ บทบาทปัจจุบันกับการสวมหมวกเป็นผู้บริหาร สสค. ‘นพ.สุภกร’ เปิดประเด็นด้วยถ้อยคำเปรียบเปรยการยกเครื่องระบบการศึกษาไทยเหมือนกับการเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว
“เมื่อพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา เราจะนึกถึงกรรมวิธีการลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่หากเติมคำ ‘ระบบ’ เข้าไป นั่นหมายถึง ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่ไม่มีเฉพาะการลวกเส้น แต่มีอะไรมากกว่านั้น เช่น การทำบัญชี การตั้งราคา การกำหนดกลุ่มผู้บริโภค เป็นต้น
การปฏิรูประบบการศึกษาจึงมิใช่การเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนในห้อง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงการจัดการการศึกษา ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคลากรทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะ ‘ครู’ เท่านั้น โดยนำหลักเศรษฐศาสตร์เป็นตัวนำสำคัญ ทำอย่างไรให้เด็กที่มีฐานะแตกต่างกันได้รับโอกาสที่ใกล้เคียง”
ผู้จัดการ สสค.ชวนวิเคราะห์เปรียบเทียบโจทย์ระบบการศึกษาไทยกับต่างประเทศ โดยเห็นว่า เมื่อพูดถึงปัญหาการศึกษาไทย แต่ละคนสามารถพูดได้มากกว่า 10 ประเด็น บ่นได้มากกว่า 10 เรื่อง เด็กการบ้านเยอะก็บ่น เด็กการบ้านน้อยก็บ่น สิ่งเหล่านี้เป็นอาการของโรค
ส่วนตัวโรคแท้ ๆ นั้น ต้องกลับไปดู ‘ระบบ’ หากดูเฉพาะพฤติกรรมของครูฝ่ายเดียว เห็นทีจะฉาบฉวยเกินไป ซึ่งมี 2 เรื่อง สำคัญ คือ 1.คุณภาพการศึกษา และ 2.หลักเศรษฐศาสตร์ ก่อนจะอธิบายโดยละเอียดว่า
-คุณภาพการศึกษา
เราจะเห็นการนำเสนอข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์เป็นระยะว่า เด็กไทยได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ และมักปลอบใจตัวเองว่า เด็กไทยเก่ง ทั้งที่การแข่งขันดังกล่าวมิได้วัดจากผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุด 3 อันดับ เหมือนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ใครได้รับคะแนนผ่านเกณฑ์มาตรฐานก็ได้เหรียญรางวัลแล้ว
สำหรับประเทศไทย เชื่อหรือไม่ว่า มีเด็กที่มีความรู้เทียบเท่าเด็กโอลิมปิกวิชาการเพียง 0.1% (วิชาวิทยาศาสตร์) และ 0.5% (วิชาคณิตศาสตร์) หรือคิดเป็นประมาณ 100 คน จากเด็กที่เกิดในปีเดียวกัน 8 แสนคน ดังนั้นเด็กในประเทศสอบได้คะแนนสูงมีจำนวนน้อย ในขณะเด็กอีกครึ่งค่อนประเทศ ‘สอบตก’
“แต่ละปีมีเด็กไทยได้ผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ราว 4 แสนคน คาบเส้น 2-3 แสนคน และปานกลางไม่ถึง 1 แสนคน มีเพียงจำนวนน้อยมากที่เยี่ยมยอด” นพ.สุภกร กล่าว และว่าปัญหาของคุณภาพการศึกษาจึงอยู่ที่เด็ก 4 แสนคน ดังนั้นอย่าพยายามแก้ปัญหาที่กลุ่มเด็กส่วนน้อยอย่างเดียว เพราะเด็กกลุ่มใหญ่ยังอยู่ในอาการร่อแร่
-หลักเศรษฐศาสตร์
การบริจาคเงินสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กยากจน ผู้บริจาคเกิดความสบายใจ เพราะได้ทำบุญ แต่การแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศจะอาศัยเฉพาะคนใจบุญไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การบริหารจัดการทรัพยากร
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยวิเคราะห์ว่า คะแนนสอบของเด็กกับฐานะทางบ้านมีความสัมพันธ์กันสูงมาก โดยเด็กที่เกิดมาในครอบครัวยากจน จะมีโอกาสสอบได้คะแนนดีและประสบความสำเร็จทางด้านการศึกษาน้อยมาก นอกจาก ‘เฮง’ จริง ๆ
“การปฏิรูประบบการศึกษาผ่านการจัดสรรงบประมาณรายหัวเท่ากันทุกคน แม้จะแก้ปัญหาความเท่าเทียมได้ในความหมายหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านกลับไม่สนับสนุนให้ใช้แนวคิดดังกล่าว แต่ควรสร้างความเท่าเทียมในการจัดสรรทรัพยากร โดยดูจากผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเป็นสูตรคิด ไม่ใช่มองเพียง ‘ตัวเงิน’ ที่ใส่เข้าไปเท่านั้น” ผู้จัดการ สสค. กล่าว
ส่วนประชาชนจะสามารถที่มีส่วนร่วมในการปฏิรูประบบการศึกษาในประเทศอย่างไร นพ.สุภกร แนะนำว่า ใครทำอะไรได้ก็ทำ อย่างคนที่มีกำลังมาก อยากจะช่วยเปิดสอนฟรี ก็ทำตามพอมีกำลังจะช่วย อยากให้ดูแลบุญหลานของตัวเองให้ดีที่สุด และอย่าไปฝากความหวังกับผู้อื่นมากนัก ตลอดจนคาดหวังกับการเปลี่ยนแปลงจากผู้ที่มีอำนาจบางท่าน
ด้วยระยะหลังการปฏิรูปมักเน้นวาทกรรมมาก ทำให้คนเราหลงไปกับวาทกรรมเหล่านั้น แต่ความจริงแล้ว เชื่อว่าแต่ละคนล้วนมีปรัชญาของตัวเอง และต้องนึกถึงความจริงว่า ถ้าเป็นครอบครัวแล้วอยากให้เป็นอย่างไรกันแน่ สิ่งที่สำคัญ อย่านึกอยากข้างเดียว แต่ต้องให้น้ำหนักกับความคิดเห็นและความรู้สึกของลูกหลานด้วย
“การปฏิรูปเป็นสิ่งที่พวกเราคิดได้ ไม่ใช่อะไรที่ซับซ้อน อย่าไปหวังอะไรไกลตัว จงดูแลตัวเองและคนรอบข้าง” ผู้จัดการ สสค. ระบุ
กระนั้น ที่ผ่านมา สสค.มีกิจกรรมการพัฒนาปรังปรุงระบบการศึกษามุ่งเน้น 3 ด้าน คือ การสร้างคุณภาพ การสร้างประสิทธิภาพ และการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงสู่การปฏิรูปการศึกษา อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะไม่มีความหวัง
นพ.สุภกร มองว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้ภาคการเมืองก้าวตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่คนไทยทุกคนสามารถทำได้ผ่านการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต่อให้ผู้มีอำนาจทุ่มเทปฏิรูปการศึกษาเพียงใด ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จง่าย ๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา ท้ายที่สุด จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ ‘ลงมือทำ’
กรณีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.โต้แย้งงานวิจัยของ สสค.เป็นผลผิดพลาด ซึ่งเกี่ยวกับผลสำรวจกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครูไทย ที่พบว่า ใน 1 ปี มีจำนวนวันเปิดเรียน 200 วัน ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนถึง 95 วัน และหากนับเฉพาะวันธรรมดามีจำนวน 84 วัน หรือคิดเป็นร้อยละ 42
ผู้จัดการ สสค. ปฏิเสธที่จะเสนอความเห็น เพียงแต่ความเป็นมาให้ฟังว่า ผู้วิจัยมิได้ศึกษาเฉพาะองค์กรที่ทำหน้าที่ประเมินครูเท่านั้น แต่โจทย์อยู่ที่ว่า ครูได้อยู่กับนักเรียนหรือไม่ ในเวลาเปิดเทอม 200 วัน โดยหากครูต้องออกไปนอกชั้นเรียนเกินครึ่งวัน จะนับเป็น 1 วัน เพราะแม้ครูจะกลับเข้ามาก็คงไม่มีจิตใจจะสอนเต็มที่แล้ว
ทั้งนี้ กิจกรรมนอกชั้นเรียนส่วนใหญ่มีทั้งเกิดประโยชน์และไม่เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์เพียงเพื่อต้องการสื่อไม่ให้รบกวนเวลาการสอนของครูโดยไม่จำเป็น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องหันกลับมาทบทวนตัวเอง รวมถึง สสค.ด้วย .