โครงการรับจำนำข้าว บทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล ยกระดับข้าวไทยบนเวทีโลก
การที่คณะ รัฐมนตรี(ครม.)ไฟเขียว โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 ให้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554-29 กุมภาพันธ์ 2555 โดยรับจำนำข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% สำหรับข้าวหอมมะลิราคา 20,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมจังหวัด 18,000 บาทต่อตัน ข้าวปทุมธานี 16,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 100% 15,000 บาทต่อตัน โดยใช้งบประมาณรองรับโครงการ 400,000 ล้านบาท
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ นโยบายนี้ส่วนหนึ่งได้รับการขานรับจากชาวนาไทยว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะชาวนาจะได้ขายข้าวในราคาที่ดี
แต่อีกด้านหนึ่งหลายคนเป็นห่วงว่า การที่รัฐบาลตั้งราคา ข้าวเปลือกหอมมะลิไว้ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม ข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน 15 % กิโลกรัมละ 15 บาท ถ้าเป็นข้าวเปลือกเจ้า 100 % ราคาจะสูงกว่าปัจจุบันเยอะ เพราะปัจจุบันข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15 % จะซื้อขายกันกิโลกรัมละ 11 บาท ขณะที่รัฐบาลตั้งธงราคาจำนำไว้ 15 บาท นั่นมายความว่าราคาจะสูงกว่าปัจจุบันถึงกิโลกรัมละ 4 บาท
ส่วนข้าวสารขาวคุณภาพปานกลางที่ทุกวันนี้ซื้อขายกันในตลาดกิโลกรัมละประมาณ 16-17 บาท จะขยับขึ้นไปเป็นประมาณกิโลกรัมละ 22-24 บาท ด้วยเหตุนี้เมื่อรัฐบาลประกาศเดินหน้ารับจำนำข้าวในวันที่ 7 ตุลาคม หลายคนจึงกังวลว่าหากราคาข้าวสูง รัฐบาลจะรับมือไหวไหม จุดนี้เป็นประเด็นที่มีคนพูดถึงกันมาก โดยเฉพาะผู้ส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาข้าวที่แพงขึ้น เนื่องจากเกรงว่าหากราคาข้าวสูง การขายจะลำบาก เพราะไม่รู้ว่าต่างประเทศจะปรับราคาตามหรือเปล่า
ยิ่งในช่วงสองสามวันที่ผ่านมามีข่าวว่ารัฐบาลอินเดีย ได้ประกาศให้มีการส่งออกข้าวตามเดิม หลังจากที่มีการระงับการส่งออกมาเป็นเวลา 2-3 ปี ยิ่งเพิ่มความไม่สบายใจให้กับผู้ส่งออกไทยว่าจะสู้ในตลาดโลกได้ไหม
สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายของโครงการรับจำนำข้าวของประเทศไทย
ซึ่งหากจะถามว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าที่รัฐบาลยกระดับขึ้นมาเป็น 15,000 บาทต่อตัน หรือข้าวเปลือกหอมมะลิ 20,000 บาทต่อตัน มีที่มาของตัวเลขจากไหน ประเด็นนี้รัฐบาลบอกไว้ว่า ได้คำนวณจากปัจจัยพื้นฐานการผลิตและต้นทุนของไทย ระดับรายได้ขั้นต่ำที่ชาวนาควรได้รับ ดัชนีเงินเฟ้อในประเทศ และผลกระทบจากค่าเงินอเมริกันดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง การปรับขึ้นของราคาน้ำมัน และสินค้าเกษตรทั่วโลก เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำตาล เป็นต้น ราคารับจำนำที่กำหนดนี้จึงเป็นราคาที่เหมาะสมกับราคาข้าวของ
ไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีส่วนแบ่งการส่งออกข้าวอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 33 % ในขณะที่ทั่วโลกค้าขายกันอยู่ประมาณ 28-29 ล้านตันต่อปี เท่ากับไทยมียอดการส่งออกข้าว 1 ใน 3 ของโลก
ดังนั้น ถ้าประเทศไทยขึ้นราคาข้าวจะมีผลทำให้ผู้ส่งออกรายอื่นๆปรับราคาขึ้นตาม ประเทศไทยหรือไม่ ตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่ต้องยอมรับว่าท้าทายความสามารถของรัฐบาลชุดปัจจุบัน นี้อย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของข้าวขาวและข้าวนึ่ง ซึ่งมีประเทศคู่แข่ง ยกตัวอย่างข้าวนึ่ง วันนี้มีแหล่งผลิตในหลายประเทศ ทั้งจากอินเดีย ปากีสถาน บราซิล ส่วนข้าวขาวก็มีที่มาจากหลายแหล่งเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม พม่า ปากีสถาน ในขณะที่อเมริกาก็มีทั้งข้าวนึ่งและข้าวขาว
ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด (ผู้ผลิตและค้าข้าวภายใต้ “ตราฉัตร”) ในฐานะผู้ประกอบการทั้งส่งออกและขายภายในประเทศ ยอมรับว่านโยบายที่รัฐบาลจะเริ่มทำนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี กล้าที่จะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ยกระดับราคาข้าวไทยให้สูงขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชาวนาไทย ถึงแม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทาย เพราะหากไม่ปรับราคาจำนำสูงขึ้น รัฐบาลก็ต้องเอาเงินอุดหนุนให้กับชาวนา ในรูปการจ่ายชดเชยรายได้จากนโยบายประกันรายได้ เพราะมิเช่นนั้นชาวนาบางกลุ่มอาจจะเลิกปลูกข้าว เนื่องจากปลูกแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับจากราคาตลาดที่ต่ำไม่คุ้มค่า ซึ่งตรงนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวนาในประเทศกำลังพัฒนา หรือพัฒนาแล้วทั่วโลก ที่ขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร หรือแรงงานภาคเกษตรออกจากภาคนี้ไปประกอบอาชีพอื่น ฉะนั้นทุกประเทศจึงมีนโยบายแทรกแซง เพื่อยกระดับราคาสินค้าเกษตรที่จำเป็นของตัวเองให้สูงขึ้น พอเพียงสำหรับสร้างความมั่นคงให้อาชีพชาวนา โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “วิกฤตอาหาร” ที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ในระดับโลก ฉะนั้น ถ้าอาชีพชาวนา หรือเกษตรกรไม่มั่นคง เราจะสร้างผลผลิตให้พอความต้องการของพลเมืองโลกได้อย่างไร
ประเทศไทยเราตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะในการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้หลาย ชนิด นอกจากข้าว เช่น อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมีนโยบายจะปฏิรูปโครงสร้างพื้นที่การเกษตรของไทยให้ เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจโลกด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงและราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ราคาน้ำมันและประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน เช่น เอทธานอล มาผสมกับน้ำมันเบนซิลเป็นแก๊สโซฮอลที่เราคุ้นเคยมากขึ้น เพื่อทดแทนน้ำมันดิบที่เราต้องพึ่งการนำเข้า 100%
โดยเอทธานอลผลิตจากกากน้ำตาลของอุตสาหกรรมน้ำตาล และมันสำปะหลัง ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลชุดนี้จะเริ่มทำนโยบายปฏิรูปนี้อย่างจริง จัง ซึ่งอาจหมายถึงการลดพื้นที่ปลูกข้าวลง แต่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น แล้วไปปลูกพืชที่ใช้ทำพลังงานทดแทนมากขึ้ร ลดการพึ่งพาน้ำมันดิบนำเข้าลง
อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวไทยที่สูงขึ้นจากราคารับจำนำ จะเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาล ซึ่งก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะรัฐบาลที่มีความสามารถต้องบริหารเรื่องที่ยาก และท้าทายได้ โดยสินค้าข้าวที่น่ากังวลจะเป็นในกลุ่มข้าวขาวและข้าวนึ่ง เพราะไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากเวียดนาม, อินเดีย, ปากีสถาน, สหรัฐ, พม่า, บราซิล ซึ่งถ้ารัฐบาลบริหารจัดการได้ดีก็จะสร้างการยอมรับจากสังคมได้
ส่วนข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว อาจมีอุปสรรคไม่มาก เพราะยังไม่มีสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่จะมาทดแทนได้ในระยะใกล้นี้ และไทยเองก็มีผลผลิตไม่ล้นมากเกินไป เพราะมีการบริโภคภายในและส่งออกที่ดี
ที่มากกว่านั้นในการดำเนินนโยบายนี้สิ่งที่รัฐบาลจะหลงลืมที่จะดูแลไม่ได้ คือ การปรับราคาของสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือ เหยียวยาผู้บริโภคในประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน จากการติดตามข่าวเข้าใจว่ารัฐบาลมีการวางมาตรการหลายรูปแบบ ตั้งแต่การขายข้าวราคาประหยัดในรูปของข้าวธงฟ้า เพื่อลดแรงเสียดทานในเรื่องของภาวะเงินเฟ้อในประเทศลง หรืออาจจะเป็นการแจกคูปองเพื่อซื้อสินค้าสำเร็จรูปในหมวดที่จำเป็นสำหรับการ ดำรงชีพในชีวิตประจำวันให้กับคนยากจนเลย เช่น คูปองสำหรับข้าวสาร น้ำมัน ฯลฯ
นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีอีกหลายมาตรการที่กำลังซึ่งศึกษาอยู่เพื่อรองรับ สถานการณ์การปรับราคาข้าวที่สูงขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องข้าวถุงที่หลายคนแสดงความเป็นห่วงว่าราคาจะขยับขึ้น ซี.พี.อินเตอร์เทรด ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ประกอบการข้าวถุง เชื่อว่าสมาชิกโดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีความตั้งใจเอาเปรียบสังคม ไม่ใช่ว่าข้าวเปลือกราคาปรับขึ้น แล้วข้าวถุงจะถือโอกาสปรับขึ้นอย่างรุนแรง คงจะเป็นการปรับตัวตามปกติซึ่งเป็นผลจากวัตถุดิบราคาสูงขึ้น
และหากผู้ประกอบการจะมีการปรับราคาข้าวถุงก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า ราคาที่ขึ้นมานั้นได้มีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้ดีขึ้นด้วยหรือเปล่า เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น เมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากราคาข้าวที่แพงขึ้น ผู้ประกอบการก็ต้องมีทางเลือกที่ดีให้กับผู้บริโภค ที่สำคัญกว่านั้นในปัจจุบันข้าวที่ขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปมีเป็น 1,000 แบรนด์ เพราะฉะนั้นข้าวสารบรรจุถุงจึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีการแข่งขันสูง
เมื่อการแข่งขันสูง ก็หมายความว่าใครก็ตามที่ต้องการจะเอาเปรียบสังคม โดยขึ้นราคาสินค้าอย่างไม่เป็นธรรม จะทำได้ยาก เพราะคู่แข่งต่างก็จ้องที่จะแย่งส่วนแบ่งการตลาด
ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วงว่าข้าวถุงในประเทศไทยจะหมดไปจากบนชั้นวางของ เหมือนสินค้าอื่นๆ เพราะเชื่อว่าการปรับราคาของข้าวถึงน่าจะเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
ซี.พี.ก็เอาใจช่วย เพราะอยากจะเห็นข้าวไทยมีราคาที่แพงขึ้น สมน้ำสมเนื้อกับค่าแรงงานของชาวนาไทยที่ได้ลงทุนปลูก ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลชุดได้อย่างมาก
ที่มา : http://www.cpthailand.com/Default.aspx?tabid=129&articleType=ArticleView&articleId=188