องค์กรอัยการควรเป็นรูปใดจึงจะเป็นที่ศรัทธาของประชาชน (ตอนที่ 1)
ทุกคนต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอและจะต้องอยู่กับความเป็นจริงให้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด องค์กรอัยการเป็นหน่วยงานหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมในทางอาญา ถือว่าทำหน้าที่ตุลาการฝ่ายบริหาร กรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีจะถึงที่สุด แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี จะต้องมีการตรวจสอบโดยศาล ว่าผู้นั้นมีความผิดจริงหรือไม่ นี่คือกระบวนการอำนวยความยุติธรรมในทางอาญาในระบบสากล
สำหรับอัยการไทย นอกจากการอำนวยความยุติธรรมในทางอาญาแล้ว พนักงานอัยการยังมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ตรวจร่างสัญญา ว่าต่างและแก้ต่างในคดีแพ่ง คดีปกครอง และยังมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน โดยการให้คำปรึกษาในทางกฎหมาย ประนีประนอมข้อพิพาท เพื่อลดคดีขึ้นสู่ศาล และดำเนินคดีหรือจัดหาทนายความให้ประชาชนเพื่อดำเนินคดีในศาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในหน้าที่ทั้งสองประการหลังนี้ไม่มีในต่างประเทศ
การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการได้รับความเชื่อถือมาโดยตลอด ในสมัยเริ่มตั้งองค์กรอัยการใหม่ๆ องค์กรอัยการอยู่ในกระทรวงยุติธรรมเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม และการฟ้องคดีผู้ต้องหาที่มีอัตราโทษสูงจะต้องฟ้องศาลไต่สวนก่อน ว่า ควรจะส่งเรื่องไปฟ้องยังศาลสูงหรือไม่ และเมื่อความเห็นของศาลไต่สวนกับพนักงานอัยการต่างกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยนั้นได้ออกกฎเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ที่ 53 ว่าด้วยการที่จะส่งคดีชั้นไต่สวนให้ไปฟ้องยังศาลสูง ถ้าความเห็นของศาลไต่สวนกับอัยการต่างกัน ให้ถือเอาความเห็นของอัยการเป็นใหญ่
แต่เนื่องจากในปัจจุบัน ความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันมากจนใกล้จะถึงขั้นแตกแยก ทำให้ประชาชนที่เชียร์การเมืองฝ่ายหนึ่งและต่อต้านการเมืองอีกฝ่ายหนึ่ง เริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรม แม้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมเหล่านั้นจะดำเนินการไปตามหน้าที่ของตน
ฝ่ายที่คิดว่าตนเสียผลประโยชน์ก็จะออกมาตอบโต้ โดยที่ไม่ใช้เหตุผลหรือยอมรับเหตุผลของผู้มีหน้าที่พิจารณาในเรื่องนั้น โดยคิดว่าองค์กรเหล่านั้นมีการแทรกแซงทางการเมือง แม้ความจริงอาจจะไม่มีการแทรกแซงก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะออกมาตอบโต้วิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าการทำหน้าที่ถูกใจฝ่ายที่เห็นด้วยก็จะออกมาชื่นชมและรับคำวินิจฉัยนั้นๆ
ถ้าหากเรายังคงปล่อยให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ในกระบวนการยุติธรรมต่อไปเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างไม่อาจประมาณได้ ดังนั้น ทุกองค์กรจะต้องไปปรับปรุงองค์กรของตนให้ประชาชนเกิดความศรัทธาและไว้วางใจให้จงได้
องค์กรอัยการเป็นองค์กรหนึ่งในกระบวนการยุตธรรม จึงต้องมาพิจารณาดูว่าเพราะเหตุใดประชาชนจึงขาดความเชื่อมั่นทั้งที่การปฏิบัติหน้าที่ของอัยการได้สั่งคดีไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏและเหตุผลในทางกฎหมาย
เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่าเนื่องจากระบบการบริหารงานบุคคลและการบริหารงบประมาณต้องเกี่ยวพันกับทางการเมืองโดยตรง จึงทำให้ประชาชนมองว่าองค์กรอัยการสามารถถูกแทรกแซงจากทางการเมืองได้
ดังนั้น องค์กรอัยการควรได้รับการปรับปรุง และองค์กรอัยการจะเป็นไปในทางใดก็ย่อมแล้วแต่ความต้องการของประชาชน และเมื่อองค์กรอัยการเป็นเช่นไรประชาชนก็ย่อมจะได้รับผลเช่นนั้นด้วย ดังเช่นในอดีต ซึ่งจะย้อนรอยองค์กรอัยการในอดีตจนถึงปัจจุบันให้ท่านทราบ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าท่านต้องการให้องค์อัยการเป็นเช่นไร
เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2436 (ร.ศ. 112) ได้จัดตั้งองค์กรอัยการขึ้น เรียกว่า “กรมอัยการ” ให้สังกัดกระทรวงยุติธรรมเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม โดยมีอธิบดีอัยการเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะมีพนักงานอัยการประจำอยู่ที่ศาลทุกแห่ง และในต่างจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาในการบริหารทั่วไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2465 ได้โอนกรมอัยการให้ไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งการบริหารงานบุคคลในต่างจังหวัดก็เป็นเช่นเดียวกับส่วนราชการอื่น เหตุผลในการโอนกรมอัยการไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ปฏิบัติการได้ถนัดขึ้น
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2503 องค์กรอัยการได้เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานบุคคลโดยจัดให้มีองค์กรบริหารงานบุคคลของอัยการขึ้นเรียกว่า “คณะกรรมการอัยการ” เรียกชื่อย่อว่า “ก.อ.” เพื่อทำหน้าที่ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน และให้พ้นจากราชการของอัยการ ทั้งนี้ เพื่อประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการมิให้ถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร คือ ทั้งผู้บังคับบัญชาและทางฝ่ายการเมือง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ก.อ. ซึ่งแม้การบริหารงานบุคคลจะอิสระขึ้น แต่ก็ยังไม่ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง
ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534 กรมอัยการจึงแยกตัวออกมาจากกระทรวงมหาดไทยและเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานอัยการสูงสุด” อธิบดีกรมอัยการเปลี่ยนชื่อเป็น “อัยการสูงสุด” รองอธิบดีกรมอัยการเปลี่ยนชื่อเป็น “รองอัยการสูสุด” โดยเป็นหน่วยงานที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวง ทบวง กรม ใด อยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง และให้ประธาน ก.อ. มาจากการเลือกตั้งจากข้าราชการบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จข้าราชการบำนาญ โดยเลือกจากอดีตรองอัยการสูงสุดขึ้นไปหรือตำแหน่งอธิบดีขึ้นไป และต้องไม่เป็นทนายความหรือมีตำแหน่งทางการเมืองมาก่อนในระยะสิบปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นหลักประกันในการบริหารงานบุคคลให้เป็นอิสระจากผู้บังคับบัญชาและปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองมากขึ้น
ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2534 องค์กรอัยการได้กลับมาอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีและเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งใน หมวด 11 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 2 องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้องค์กรอัยการเป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ โดยใน มาตรา 255 ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
มาตรา 255 พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้และตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ
พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม
การแต่งตั้งและการให้อัยการสูงสุดพ้นจากตำแหน่งต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการอัยการ และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งอัยการสูงสุด
องค์กรอัยการมีหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นๆ โดยมีอัยการสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติพนักงานอัยการต้องไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกัน เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอัยการ ทั้งต้องไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือกระทำกิจการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่ หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการ และต้องไม่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือที่ปรึกษากฎหมาย หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนบริษัท
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 202 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
และตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการ พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
เนื่องจากคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ ของผู้ดำรงตำแหน่งและลักษณะงานของอัยการและผู้พิพากษา เป็นลักษณะเดียวกัน (เดิมอัยการและศาลต่างโอนตำแหน่งกันไปมา) การบริหารงานบุคคลจึงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้
เปรียบเทียบโครงสร้าง ก.ต. และ ก.อ.
คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ประกอบด้วย
(1) ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน
(2) กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสิบสองคน ซึ่งข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา เป็นผู้เลือกจากข้าราชการตุลาการในชั้นศาลของตนเอง ดังนี้
(ก) ศาลฎีกา ให้เลือกข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลฎีกาในตำแหน่งที่ ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาฎีกา จำนวนหกคน
(ข) ศาลอุทธรณ์ ให้เลือกข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่า ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค จำนวนสี่คน
(ค) ศาลชั้นต้น ให้เลือกข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลชั้นต้นในตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่าหัวหน้าศาลจำนวนสองคน
(3) กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน ซึ่งวุฒิสภาเลือกจากบุคคลที่ ไม่เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม และไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 39
สำหรับข้าราชการตุลาการซึ่งดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามมาตรา 11 วรรคสอง หรือ ผู้ซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการในศาลอื่นตามมาตรา 21 ให้มีสิทธิเลือกและได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในศาลซึ่งข้าราชการตุลาการผู้นั้นมีเงินเดือนอยู่ในศาลนั้นในขณะที่มีการจัดให้มีการเลือก ส่วนผู้พิพากษาอาวุโสให้มีสิทธิเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในชั้นศาลที่ตนปฏิบัติหน้าที่แต่ไม่มีสิทธิได้รับเลือกเป็นกรรมการศาลยุติธรรม
ห้ามมิให้กรรมการบริหารศาลยุติธรรมเป็นกรรมการศาลยุติธรรมในคราวเดียวกัน
ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นเลขานุการ และให้ ก.ต. แต่งตั้งข้าราชการศาลยุติธรรมจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ส่วนคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ประกอบด้วย (มาตรา 18)
(1) อัยการสูงสุดเป็นประธาน
(2) รองอัยการสูงสุดตามลำดับอาวุโสจำนวนไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการอัยการโดยตำแหน่ง ทั้งนี้ ให้รองอัยการสูงสุดที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นรองประธาน
(3) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคน ซึ่งข้าราชการอัยการชั้น 2 ขึ้นไปเป็นผู้เลือกจาก
(ก) ข้าราชการอัยการชั้น 6 ขึ้นไป และมิได้เป็นกรรมการอัยการโดยตำแหน่งอยู่แล้วสามคน
(ข) ผู้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการอัยการมาแล้ว และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามาตรา 19 ข. (2) (3) (4) (5) (6) และ (7) สามคน
(4) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาจำนวนสองคนและคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนหนึ่งคน
(5) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้านการบริหารจัดการ ซึ่งประธานและกรรมการตาม (2) (3) และ (4) เป็นผู้เลือกจากบุคคลซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชกาฝ่ายอัยการจำนวนหนึ่งคน
ให้ ก.อ. แต่งตั้งข้าราชการอัยการคนหนึ่งเป็นเลขานุการ ก.อ.
จากโครงสร้าง ก.ต. และ ก.อ. จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
โครงสร้าง ก.ต. มีความเป็นหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาที่จะใช้ดุลพินิจอย่างอิสระโดยแท้จริง ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในดุลพินิจของผู้พิพากษาว่าปลอดจากการแทรกแซงของผู้บังคับบัญชา เพราะมีผู้บังคับบัญชาสูงสุดเพียงคนเดียวที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง คือ ประธานศาลฎีกา ทั้งประธานศาลฎีกาก็ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขขององค์กร และทำหน้าที่ในการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ไม่สามารถพิจารณาพิพากษาคดีหรือแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาอื่นได้
การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทำเป็นรูปองค์คณะใช้เสียงข้างมาก แม้ในที่ประชุมใหญ่ก็ใช้เสียงข้างมาก ประธานศาลฎีกาจึงมิอาจเข้าแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาได้
ส่วนอัยการสูงสุดมีหน้าที่ต้องพิจารณาสั่งคดีหรือออกคำสั่งในการให้คำปรึกษาเป็นคนสุดท้ายที่ชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมาย และคำสั่งของอัยการสูงสุดเป็นที่สุด
การที่โครงสร้างของ ก.อ. ให้อัยการสูงสุด มาเป็นประธาน ก.อ.และมีรองอัยการสูงสุดอีก 4 คน ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งสิ้น จึงเป็นโครงสร้างการบริหารงานบุคคลยังไม่เป็นหลักประกันแก่พนักงานอัยการในการปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระแท้จริงได้ จึงทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่าอัยการสูงสุดจะแทรกแซงการทำหน้าที่ของพนักงานอัยการ แม้ความเป็นจริงผู้บังคับบัญชาของอัยการไม่เคยแทรกแซงคำสั่งของอัยการ ซึ่งผมรับราชการเป็นอัยการมา 30 ปีเศษ ไม่เคยมีผู้บังคับบัญชาคนใดมาแทรกแซงการใช้ดุลพินิจแม้แต่ครั้งเดียว และถ้าหากจะมีผมเชื่อว่าพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบก็จะไม่ปฏิบัติตาม เพราะเรามีหลักในการทำงานอยู่ว่า “ใครสั่งใครรับผิดชอบ”
แต่จากโครงสร้างทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยเท่านั้น ดังนั้น เราจึงควรปรับปรุงโครงสร้าง ก.อ. ให้สามารถเป็นหลักประกันในการเป็นอิสระแก่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ให้มากยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม แม้โครงสร้างของ ก.ต.จะเป็นอิสระก็ตาม แต่จากโครงสร้างของ ก.ต. ที่มิให้ ผู้พิพากษาอาวุโสมีสิทธิได้รับเลือกเป็น ก.ต.จึงเป็นข้อบกพร่องที่ไม่สามารถจะได้ประสบการณ์จากผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงมาก่อน
ดังนั้น ทางศาลยุติธรรมจึงเตรียมปรับปรุงโครงสร้าง ก.ต. ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะให้มีการเลือกผู้พิพากษาอาวุโสเป็น ก.ต. ด้วย ดังนั้น สำนักงานอัยการสูงสด ก็ควรจะต้องปรับปรุงโครงสร้าง ก.อ. ให้สามารถเป็นหลักประกันในความเป็นอิสระของพนักงานอัยการในการปฏิบัติหน้าที่โดยแท้จริง ซึ่งผมใคร่เสนอโครงสร้าง ก.อ. ดังนี้
คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ประกอบด้วย (จำนวน 17 คน)
1. ประธานกรรมการ ซึ่งข้าราชการอัยการที่ได้รับเงินเดือนชั้น 2 ขึ้นไปเป็นผู้เลือกจากผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการอัยการมาแล้วในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดีกรมอัยการหรือรองอัยการสูงสุด ทั้งนี้ ต้องไม่เคยเป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองในระยะเวลาสิบปีผ่านมา และไม่เป็นข้าราชการการเมือง หรือทนายความ
2. อัยการสูงสุดเป็นรองประธาน
3. กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 11 คน ซึ่งข้าราชการอัยการที่ได้รับเงินเดือนชั้น 2 ขึ้นไปเป็นผู้เลือกจากข้าราชการอัยการ ดังนี้
(ก) ให้เลือกข้าราชการอัยการที่ดำรงตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาคขึ้นไป จำนวนสี่คน
(ข) ให้เลือกข้าราชการอัยการที่ดำรงตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าอัยการผู้เชี่ยวชาญคนสุดท้ายที่ปฏิบัติหน้าที่อัยการจังหวัดขึ้นไปถึงตำแหน่งรองอธิบดีอัยการ จำนวนสองคน
(ค) ให้เลือกข้าราชการอัยการอาวุโสที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอัยการผู้เชี่ยวชาญคนสุดท้ายซึ่งปฏิบัติหน้าที่อัยการจังหวัดขึ้นไป จำนวนสองคน
(ง) ให้เลือกผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการอัยการมาแล้ว และต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกรัฐสภา กรรมการพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่พรรคการเมือง หรือทนายความ จำนวนสามคน
(4) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจาก สภาผู้แทนราษฎร จำนวนหนึ่งคน วุฒิสภาจำนวนหนึ่งคน และคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนหนึ่งคน
(5) กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้านการบริหารจัดการ ซึ่งประธานและอัยการสูงสุดร่วมกันพิจารณาเสนอชื่อจำนวนด้านละหนึ่งคนจากบุคคลซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชกาฝ่ายอัยการ ให้ข้าราชการอัยการที่ได้รับเงินเดือนชั้น 2 ขึ้นไปเป็นผู้เลือก จำนวนหนึ่งคน
ให้อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการเป็นเลขานุการ และให้ ก.อ. แต่งตั้งข้าราชการอัยการจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ประธานกรรมการอัยการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระไม่ได้ ทั้งนี้ให้รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและผู้ทรงคุณวุติทุกประเภทเข้าด้วยกัน
เหตุผลให้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างก็ ก.อ. มีดังนี้
1. ให้โครงสร้าง ก.อ. เป็นโดยตำแหน่งเพียงคนเดียว ก็เพราะต้องการให้ประชาชนไว้วางใจองค์กรอัยการว่าจะปฏิบัติหน้าอย่างอิสระปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร
2. ให้ประธาน ก.อ. เป็นอดีตรองอัยการสูงสุดขึ้นไป เพราะบุคคลเหล่านี้เคยบริหารองค์กรอัยการมาก่อน และรู้ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการเป็นอย่างดี ทั้งเมื่อมีเหตุการณ์ที่มากระทบต่อองค์กร
ประธาน ก.อ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมรักษาองค์กรอัยการได้ดีกว่า เพราะไม่มีส่วนได้เสีย
3. ให้อัยการผู้เชี่ยวชาญคนสุดท้ายที่ปฏิบัติหน้าที่อัยการจังหวัดเป็นกรรมการ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้เคยผ่านการบริหารงานองค์กรมาแล้วในระดับจังหวัด ทั้งเคยเป็นที่ปรึกษาแนะนำข้อกฎหมายให้แก่องค์กรต่างๆ มาแล้ว และอายุก็เลย 40 ปี ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่จึงควรประสานความคิดทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เข้าด้วยกันอันจะทำให้องค์กรก้าวหน้ายิ่งขึ้น
4. อัยการอาวุโสซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งสิ้นจึงควรจะได้ประสบการณ์ของท่านในการบริหารองค์กร
5. ข้าราชการบำนาญส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารและมีประสบการณ์สูง ทั้งมีอิสระในทางความคิดมากกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านอื่นๆ
6. ให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐบาล ส่งตัวแทนเพื่อมาดูแล สอดส่อง การปฏิบัติหน้าที่องค์กรอัยการให้โปร่งใส และบุคคลเหล่านี้จะเป็นตัวแทนองค์กรอัยการ ในการชี้แจงการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอัยการ ความต้องการขององค์กรอัยการ รวมทั้งสภาพปัญหาและอุปสรรคขององค์กรอัยการ เพื่อทำให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐบาลได้เข้าใจองค์กรอัยการและช่วยแก้ปัญหาให้องค์กรอัยการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
7. ให้ประธาน ก.อ. และอัยการสูงสุด ร่วมหารือเสนอชื่อบุคคลที่มีความชำนาญในด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้านการบริหารจัดการ แล้วให้อัยการเป็นผู้เลือกโดยตรงแทนการให้อัยการสูงสุดหรือประธาน ก.อ. เป็นผู้เลือก ทั้งนี้เพื่อมิให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นหนีบุญคุณอัยการสูงสุดหรือประธาน ก.อ.
ที่ผมได้เสนอแนวทางเช่นนี้ ผมมิได้หมายความว่าโครงสร้าง ก.อ. ที่เสนอมานั้นจะดีเลิศ แต่อยากให้องค์กรอัยการได้ระดมความคิดเห็นจากอัยการทั่วประเทศว่าต้องการให้โครงสร้าง ก.อ. เป็นอย่างไรจึงจะเป็นที่ศรัทธาของประชาชน สำหรับโครงสร้างองค์กรอัยการผมจะนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ