คำต่อคำ! “พรเพชร”ชำแหละคดีถอดถอน ไฉน“2 ปธ.”รอด“ปู”ร่วง
“…สื่อมวลชนลองคิดดู สนช. มีหน้าที่แต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ ปปง. เป็นต้น ซึ่งไม่ได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แต่ก็สามารถทำได้ และก็ทำมาหลายเรื่อง แต่พอมาถึงเรื่องนี้ (ถอดถอน) แล้วให้ สนช. ปฏิเสธ เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ทำเลย กลไกต่าง ๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ รวมไปถึงเรื่องถอดถอน หรืออะไรต่อมิอะไร ใครจะเป็นคนทำ…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประเมินผลการพิจารณาลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และกรณีไม่ถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบ
(อ่านประกอบ : อวสาน"ยิ่งลักษณ์" มติสนช. 190:18 ตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี "นิคม-สมศักดิ์" รอด)
----
ในฐานะประธาน สนช. จึงประเมินการทำหน้าที่ ภารกิจ และผลงานของ สนช. จากการพิจารณาในเรื่องนี้ ทั้งในทางลับ และเปิดเผย ไม่ว่าจะในการประชุมกรรมาธิการกิจการสามัญ สนช. (วิป สนช.) หรือประชุมในรัฐสภา ต่างเปิดโอกาสให้สมาชิกทราบถึงหลักการ การพิจารณาถอดถอนหรือไม่ถอดถอน
สื่อคงทราบดีว่า ผมเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน ย่อมเข้าใจว่าการพิพากษาเป็นอย่างไร ต้องประกอบด้วยปัญหาทางข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง ที่ทั้งสองฝ่ายนำมาสนับสนุนในข้อกล่าวหาของตัวเอง
@นายนิคม-นายสมศักดิ์
ตามคำร้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่า นายนิคม มีความผิดฐานปิดอภิปรายโดยที่สมาชิกยังใช้สิทธิ์อภิปรายไม่เสร็จสิ้น ซึ่งถือเป็นการกระทำโดยมิชอบ ส่วนนายสมศักดิ์ มีความผิดฐานแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงญัตติแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ และตัดสิทธิ์การอภิปรายของสมาชิก ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ลักษณะของนายนิคม-นายสมศักดิ์ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นหลัก ปัญหาจึงถกเถียงได้ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว ความผิดของคดียังคงมีอยู่หรือไม่
ข้อถกเถียงนี้นำไปสู่การอภิปรายลับว่า สามารถรับคดีถอดถอนนายนิคม-นายสมศักดิ์ เข้ามาพิจารณาได้หรือไม่ เพราะเป็นความผิดที่ทาง ป.ป.ช. ยื่นให้ต่อประธานวุฒิสภาในขณะนั้น ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร
ต่อมาเมื่อผมรับหน้าที่ประธาน สนช. เห็นคำร้องของ ป.ป.ช. เดือนไหนไม่ทราบ เมื่อดูแล้วจึงส่งกลับให้ ป.ป.ช. ว่าจะยืนยันตามคำร้องเดิมที่ยื่นต่อวุฒิสภาหรือไม่ ป.ป.ช. ก็ยืนยันตามข้อกล่าวหาเดิม ต่อมาในการประชุม สนช. มีการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายที่ควรวินิจฉัย ซึ่งสรุปแล้ว สนช. ก็มีมติให้รับข้อกล่าวหาดังกล่าวเข้ามาพิจารณาถอดถอน
เมื่อเข้าสู่กระบวนการถอดถอนนายนิคม-นายสมศักดิ์นั้น แน่นอนปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ การประเมินว่า สนช. บางส่วน มองความผิดของนายนิคม-นายสมศักดิ์เป็นการกระทำในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกแล้ว ความผิดยังคงอยู่หรือไม่ ซึ่งมี สนช. จำนวนไม่น้อยเห็นว่า ความผิดยังคงอยู่ แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งเห็นว่า ความผิดไม่ครบองค์ประกอบแล้ว
จนมาถึงวันนี้ที่ สนช. ส่วนหนึ่งลงมติไม่ถอดถอน เพราะเห็นว่าในข้อกฎหมายมันไปไม่ได้ จึงถอดถอนไม่ได้ โดยไม่ต้องถามว่านายนิคม-นายสมศักดิ์ได้กระทำการดังกล่าวจริงหรือไม่
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คงเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ทั้ง 2 ฝ่ายแถลงเปิด-ปิดคดี เป็นปัญหาข้อเท็จจริงว่า เกิดกระทำเช่นนั้นจริงหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ สนช. จึงมีความเห็นแตกต่างกัน คนที่เห็นด้วยจึงลงคะแนนให้ถอดถอน ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยจึงลงคะแนนไม่ถอดถอน
ในกรณีนี้ประเมินว่า สนช. มีเหตุผลตามกฎหมาย และข้อเท็จจริง
@น.ส.ยิ่งลักษณ์
ปัญหาทางข้อกฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ค่อยมีการพูดถึง แต่มีข้อโต้แย้งบางเรื่อง คือ
1.ทีม น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่า สนช. ไม่มีอำนาจพิจารณา เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ยกเลิกแล้ว
ขอชี้แจงว่า สนช. พิจารณาปัญหานี้ และสรุปแล้วว่า สนช. ทำหน้าที่ตามรัฐสภา วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งยืนยันว่าอำนาจใดของวุฒิสภาตามธรรมเนียมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ย่อมเป็นอำนาจที่ สนช. ไม่อาจปฏิเสธได้ จึงต้องทำหน้าที่วุฒิสภาด้วย เพราะ สนช. พิจารณาเห็นชอบในข้อบังคับ ที่กำหนดให้มีการถอดถอน-แต่งตั้ง
สื่อมวลชนลองคิดดู สนช. มีหน้าที่แต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นต้น ซึ่งไม่ได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แต่ก็สามารถทำได้ และก็ทำมาหลายเรื่อง
แต่พอมาถึงเรื่องนี้ (ถอดถอน) แล้วให้ สนช. ปฏิเสธ เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ทำเลย กลไกต่าง ๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ รวมไปถึงเรื่องถอดถอน หรืออะไรต่อมิอะไร ใครจะเป็นคนทำ
ดังนั้นข้อกล่าวหากรณีนี้ สนช. ได้พิจารณาจนตกผลึกครบถ้วนแล้ว
2.พ้นตำแหน่งไปแล้วถอดถอนไม่ได้ จะเป็นการถอดถอนซ้ำซ้อน
มันน่าจะเป็นเช่นนั้น ถ้าไม่มีอีกวรรคหนึ่งที่ระบุว่า ต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ซึ่งกี่ปีมาแล้วที่เกิดข้อครหานี้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกถอดถอน หรือใครอีกหลายคนก็อ้างอย่างนี้ ดังนั้นต่อให้พ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ก็ยังจำเป็นต้องถอดถอน เพราะมีบทลงโทษคือตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ดังนั้นหากยึดตามหลักการหนักแน่น ก็ไม่มีข้อโต้แย้ง
3.คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจถอดถอน
ในเรื่องนี้ สนช. เข้าไปตรวจสอบไม่ได้ มีกระบวนการดำเนินการของมันอยู่ ต้องว่ากันอีกกรณีหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขณะนี้ดำรงตำแหน่งอยู่ หาก สนช. บอกไปว่า คนนี้ไม่ใช่ มันก็ไม่ได้ ถ้าหากเห็นว่าคนไหนไม่ใช่ ก็ให้ไปจัดการ
ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายหลัก ๆ อย่างไรก็ดี ป.ป.ช. ยื่นเรื่องนี้หลังมี สนช. แล้ว ไม่ได้ยื่นในช่วงยังมีวุฒิสภา ดังนั้นจึงเป็นไปตามข้อบังคับ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
สิ่งที่ ป.ป.ช. อ้างในรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นกระบวนการที่จะดำเนินการกับผู้ที่ส่อว่าประพฤติมิชอบในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งมีปัญหาทางกฎหมายน้อยมาก หลายเรื่องมีการยืนยันตามหลักกฎหมายที่ตรงข้ามกับการสนับสนุนฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์
การพิจารณาจึงตกอยู่ที่ข้อเท็จจริงเกือบทั้งหมด
การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกถอดถอน 190 ต่อ 18 เสียงนั้น เข้าใจว่า สมาชิกมีความเข้าใจในพยานหลักฐานที่ ป.ป.ช. นำมากล่าวอ้าง และนำสืบในสำนวน ป.ป.ช. ซึ่งแสดงว่าข้อเท็จจริงกระทำตาม ป.ป.ช. ที่เป็นผู้กล่าวหา
ส่วนที่มีการเห็นต่างกัน อาจเป็นในเรื่องของการฟัง เมื่อฟังจากที่มีการดำเนินกระบวนการในสภา หรือชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. ส่งผลให้คะแนนเสียงออกมา 190 ต่อ 18 เสียงในที่สุด
อ่านประกอบ : “พรเพชร”ยันสนช.สอย"ปู"อิสระไร้คนชักนำ ยึดหลักข้อกฎหมาย-นิติธรรม
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายพรเพชร จาก ombudsman