สุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล: บทบาทอัยการ ต่อการฟ้องอาญา "ยิ่งลักษณ์"
“..ท่านอัยการสูงสุด เป็นผู้มอบหมายคณะทำงาน เพราะท่านเป็นผู้ฟ้องคดี จึงอยู่ที่ดุลยพินิจของท่านอัยการสูงสุด ท่านคงจะพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างน้อยท่านคงจะมองหมายให้อัยการที่มี ประสบการณ์ ในการทำหน้าที่ดำเนินคดีในชั้นศาล ต้องมีประสบการณ์ ในการทำคดี เพราะเป็นคดีที่มีความสำคัญ..”
เมื่อวันที่ 23 ม.ค.58 ภายหลังจากที่ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ ถึงผลการพิจารณาของอัยการสูงสุด ในการยื่นเรื่องฟ้องอาญา ต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันแปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ( และที่แก้ไขเพิ่มเติม ) มาตรา 123/1
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ประมวล "คำตอบ" ของอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ต่อข้อสงสัยสื่อมวลชนในประเด็นต่างๆ โดยสาระสำคัญ คือ ขั้นตอนกระบวนการทางคดีนับจากนี้ รวมทั้งอัตราโทษสูงสุดในกรณีที่ศาลตัดสินว่ามีความผิด โดยชี้ว่าความผิดตาม ม.157 นั้น มีโทษสูงสุดถึง 10 ปี!
เมื่อถูกถามถึงความเป็นไปของคดีนับจากนี้ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า “จากนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำคำฟ้อง เพราะการฟ้องอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้อง จัดทำคำฟ้อง และยื่นต่อศาลทั้งหมด รวมทั้งพยาน เอกสาร หลักฐาน ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ส่งมาให้อัยการสูงสุดทั้งหมด เราก็ต้องนำเสนอต่อศาล ในวันที่เรายื่นฟ้องด้วย”
เมื่อถามว่า จะยื่นคำฟ้องต่อศาลเมื่อไหร่ นายสุรชัยกล่าวว่า “ท่านอัยการสูงสุด ท่านมีคำสั่งมาแล้ว แต่คงจะมีการแถลงต่อไปเป็นการประมาณการ ก็อยู่ที่ประมาณเดือนมีนาคม ส่วนท่านจะพิจารณารายละเอียดอย่างไร ก็อยู่ที่ท่านพิจารณา”
นายสุรชัยกล่าวด้วยว่า คดีนี้อัยการสูงสุดเป็น "โจทย์" ในคดี การมอบหหมายให้คณะทำงาน อัยการรายใด รับผิดชอบคดี ใน ชั้นศาล จึงเป็นอำนาจของอัยการสูงสุด
“ท่านอัยการสูงสุด เป็นผู้มอบหมายคณะทำงาน เพราะท่านเป็นผู้ฟ้องคดี จึงอยู่ที่ดุลยพินิจของท่านอัยการสูงสุด ท่านคงจะพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างน้อยท่านคงจะมองหมายให้อัยการที่มี ประสบการณ์ ในการทำหน้าที่ดำเนินคดีในชั้นศาล ต้องมีประสบการณ์ ในการทำคดี เพราะเป็นคดีที่มีความสำคัญ”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงอัตราโทษ ตามมาตราที่จะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี
นายสุรชัยกล่าวว่า “ในส่วนนี้ ก็ตามที่ปรากฏในข้อกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 123/1 ( ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันแปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ) มาตรา 157 ก็ โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี แต่กฎหมายทั้งสองฉบับ เวลาพิจารณาก็ต้องพิจารณาควบคู่กันไป ก็ต้องใช้เวลา เป็นดุลยพินิจของศาล ระหว่างนี้ เราเองก็ต้องจัดทำเอกสารให้ครบถ้วน”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าหากศาลตัดสินจำคุก แล้วไม่ได้ตัวจำเลย จะมีทางแก้หรือรับมือกับกรณีดังกล่าวอย่างไร
นายสุรชัยกล่าวว่า “นี่เป็นในทางอนาคต เราไม่ทราบ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็จะมีการขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยอัยการสูงสุด หน้าที่ตามกฎหมายนั้น ท่านคือเป็นผู้ดำเนินการ ติดต่อ ผสาน ท่านเป็นผู้ที่ได้รับหน้าที่โดยตรง”
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมถึงข้อกฎหมายของ มาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสอง หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนมาตรา 123/1 ของร่างกฎหมาย ป.ป.ช. บัญญัติว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก้ผู้ หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ คำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามกฎหมาย ป.ป.ช. นั้นหมายความถึง “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของ รัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ”
...
ทั้งหมดนี่ คือบทสรุปท่าทีของฝ่ายอัยการ ในการทำหน้าที่ฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในโครงการรับจำนำข้าว ที่กำลังเข้าสู่กระบวนชั้นศาลอย่างเป็นทางการ
ภาพประกอบจาก : http://www.tnamcot.com www.google.co.th