ทนายมุสลิม-องค์กรพัฒนาเอกชนชง "5 เหตุผล" จี้รัฐทบทวนต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม สององค์กรที่ทำงานด้านให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหนังสือถึงรัฐบาลเรียกร้องให้พิจารณาทบทวนการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก
เหตุผลและข้อเสนอแนะของทั้ง 2 องค์กรที่มีต่อรัฐบาลมี 5 ข้อดังนี้
1.ประเทศไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เมื่อได้ประกาศให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จึงจำเป็นต้องแจ้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้แก่ภาคีสมาชิกของกติการะหว่างประเทศฯ ผ่านเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภายใต้กติกาฯฉบับนี้ได้สรุปข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลไทยต่อกรณีนี้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 แต่ปรากฏว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่ดำเนินการแจ้งเหตุแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเลขาธิการสหประชาชาติแต่อย่างใด จึงสมควรแจ้งโดยพลัน
2.นับแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการใช้อำนาจพิเศษตามกฎหมายดังกล่าวลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยเพียงเหตุว่าเป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และคุมตัวได้นานถึง 30 วันโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และไม่ต้องนำตัวมาแสดงต่อศาล จึงพบปัญหาการไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุที่ใช้ในการควบคุมตัว, การไม่มีทนายความอยู่ร่วมในระหว่างการซักถาม เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ชอบ การซ้อมทรมาน หรือการบังคับบุคคลให้สูญหายได้โดยง่าย
ฉะนั้นหน่วยงานของรัฐควรแก้ไขปรับปรุงระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลโดยเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการนำตัวบุคคลมาศาล, ให้ญาติและทนายความสามารถเข้าเยี่ยมได้, ให้มีการตรวจร่างกายก่อนและหลังการควบคุมตัว และระเบียบปฏิบัติอื่นๆ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างการควบคุมตัวดังกล่าว
3.ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามกฎหมายโดยศาลได้ เนื่องจากมีบางกรณีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม เช่น การฟ้องเพิกถอนกฎระเบียบ เป็นต้น อันขัดต่อหลักการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการและหลักการแบ่งแยกอำนาจ ทำให้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและการขยายระยะเวลาประกาศฯ ไม่อาจถูกตรวจสอบโดยศาลได้ จึงควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายตุลาการสามารถมีบทบาทในการทบทวนตรวจสอบ, การกระทำของฝ่ายบริหารในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และการขยายระยะเวลาประกาศฯได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารส่งผลเป็นการลิดรอนสิทธิและ เสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และให้ยกเลิกมาตรา 16 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยกเว้นอำนาจศาลปกครอง
4.เนื่องจากกระบวนการจัดทำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เกิดจากการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติตามปกติ แม้หลังจากประกาศใช้จะได้ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาในภายหลัง แต่ก็มิได้มีกระบวนการศึกษาและอภิปรายเนื้อหาข้อกฎหมายอย่างถี่ถ้วน และไม่มีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนดังเช่นกระบวนการออกกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติตามปกติ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด รวมทั้งอำนาจในการขยายระยะเวลาประกาศฯ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารเท่านั้น
ฉะนั้นรัฐบาลจึงควรเปิดโอกาสให้องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น รัฐสภาหรือฝ่ายตุลาการ เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเหตุและความจำเป็นในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของรัฐบาล รวมทั้งเหตุในการขอขยายระยะเวลาประกาศฯด้วย รวมทั้งพิจารณาให้มีการแก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาภายในเวลา 7 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยได้ตรวจสอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของฝ่ายบริหารโดยผ่านการอภิปรายกันอย่างเปิดเผยภายใต้ระบบรัฐสภา รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและภาควิชาการต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย อันเป็นการตรวจสอบภายหลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงไปแล้ว
5.การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จับกุมและควบคุมตัวบุคคล พบว่าเป็นไปเพื่อซักถามให้ได้รับคำสารภาพและคำซัดทอด และมีการดำเนินคดีอาญากับบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเพียงคำรับสารภาพที่ได้ในชั้นซักถามเท่านั้น จากสถิติมีคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบหรือคดีความมั่นคงมากกว่า 8,000 คดี เป็นคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจำนวน 262 คดี พิพากษายกฟ้อง 119 คดี คิดเป็นร้อยละ 45.42 ของคดีที่พิพากษาทั้งหมด แสดงให้เห็นว่ามีบุคคลถูกจับกุมและควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและดำเนินคดีอาญาเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าศาลพิพากษายกฟ้องในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับอัตราส่วนการลงโทษผู้กระทำผิด เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ อันสะท้อนให้เห็นขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายที่อาจไร้ประสิทธิภาพ และขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้ควบคุมตัวบุคคลเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติอย่างชัดเจน อันเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยต้องมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่านั้น จึงขอให้รัฐบาลซึ่งมีอำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทบทวนการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาในครั้งต่อไปตามประเด็นต่างๆ ข้างต้น และบังคับใช้กฎหมายไปในทางการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามหลักการใช้กฎหมายโดยยึดหลักนิติธรรมและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อนึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 ก.ย.2554 ให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.– 19 ธ.ค.2554 ซึ่งเป็นการขยายเวลาครั้งที่ 25 รวมระยะเวลาที่มีการประกาศนานกว่า 6 ปี โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาทำหน้าที่เพียง 1 เดือน จึงขอเวลาในการวิเคราะห์สถานการณ์ และมีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนระบุว่าประชาชนที่รู้สึกไม่ดีต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีลดลง
วงเสวนาเห็นพ้องเลิก พ.ร.ก.-ทนายซัดเจตนารมณ์เพี้ยน
ก่อนหน้าการทำหนังสือถึงรัฐบาล และก่อนหน้าที่รัฐบาลจะเห็นชอบขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เที่ยวล่าสุด ทั้งมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้จัดมีเวทีเสวนาเรื่อง “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐบาลใหม่” โดยมีวิทยากรเป็นนักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย และผู้ติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้ร่วมให้ทัศนะอย่างคึกคัก
นายสิทธิพงษ์ จันทร์วิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า สิ่งที่น่าแปลกใจของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้คือคำว่า “ผู้ต้องสงสัย” เพราะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มีแต่คำว่า “ผู้ต้องหา” ซึ่งหมายถึงผู้ที่ต้องหมายจับหรือถูกจับกุมตามหมายจับ ซึ่งจะมีการบัญญัติเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาเอาไว้ เช่น ผู้ถูกจับสามารถมีทนายความ เป็นต้น แต่ผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีสิทธิอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยได้ประชาสัมพันธ์ต่อประชาชน
นอกจากนั้น การจับผู้ต้องสงสัยตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงแล้วเพียงแค่ต้องการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ถูกจับ ซึ่งรัฐมีอำนาจคุมตัวได้ 30 วัน หากไม่มีการตั้งข้อหาผู้ถูกจับ ฝ่ายรัฐจะต้องปล่อยตัวไป แต่ที่ผ่านมาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผิดเพี้ยน ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มีแต่ผลการซักถามผู้ถูกจับ และการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งเป็นแนวทางของ ป.วิอาญา เป็นคนละเรื่องกัน จากนั้นก็จะส่งรายงานไปยังพนักงานสืบสวนสอบสวน และถูกส่งต่อๆ ไปจนถึงศาล เหมือนกับว่าเป็นการส่งคนที่ถูกจับให้เป็นจำเลยในกระบวนการชั้นศาล
“แนวทางนี้ทำให้กฎหมายหลักของประเทศในการดำเนินคดีอาญา คือ ป.วิอาญา หมดความศักดิ์สิทธิ์ลงไป เพราะถูกปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ในคดีความมั่นคง” ทนายสิทธิพงษ์ ระบุ
เขาชี้ด้วยว่า คำรับสารภาพของผู้ต้องสงสัยตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จริงๆ แล้วมีน้ำหนักน้อย ศาลไม่ค่อยรับฟัง ฉะนั้นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในแนวทางที่เป็นอยู่จึงขัดเจตนารมณ์ และสร้างความขัดแย้งมากขึ้นในพื้นที่
ตำรวจค้านรัฐบาลเลิก พ.ร.ก.
น.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากอินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุ๊ป กล่าวว่า การใช้หมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯตอนนี้ เจตนารมณ์ถูกทำให้ไหลเลื่อนกลายเป็นเรื่องของการควบคุมตัวเพื่อหาข่าว ซึ่งงานข่าวที่ได้มากับหลักฐานที่ได้นั้น นักกฎหมายบอกว่ายังเป็นปัญหาอยู่ จึงต้องนำมาชั่งน้ำหนักกันอีกทีว่าในที่สุดแล้วคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนสำหรับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับผลที่สะท้อนกลับมา
น.ส.รุ่งรวี กล่าวต่อว่า ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยแสดงท่าทีเอาไว้ว่าจะพยายามยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เมื่อเอาเข้าจริงแล้วก็ยกเลิกได้เพียงแค่หย่อมเดียว (อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เพียงอำเภอเดียว) เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เห็นด้วย ขณะที่รัฐบาลใหม่ดูเหมือนว่ายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน แต่ในมุมของทหารเองไม่น่าจะมีปัญหากับการยกเลิก เพราะอยากนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาใช้มากกว่า
แต่ประเด็นที่ควรพิจารณาคือการคงกฎหมายพิเศษไว้ มีแนวโน้มที่จะเป็นการเปิดโอกาสการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ขณะที่โอกาสในการเข้าถึงทนายความหรือญาติก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เช่นกรณี อิหม่ามยะผา กาเซ็ง อดีตอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส (ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานจนเสียชีวิตคาฐานทหารหลังถูกจับโดยอ้างอำนาจตามกฎหมายพิเศษ) ดังนั้นจึงต้องมีการประเมินการใช้และการขยายเวลาต่อไปอย่างรอบคอบ
แฉอยู่ในเรือนจำยังโดนออกหมายจับ
ขณะที่ นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ชาวบ้านที่โดนจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บางรายถูกดำเนินคดีซ้ำๆ กันหลายคดี และมีการออกหมายซ้อนกันหลายครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น บางคนอยู่ในเรือนจำยังถูกออกหมายจับ ลักษณะต่างๆ เหล่านี้เมื่อนำมาไล่เรียงดูแล้วทำให้คิดว่าเจ้าหน้าที่อาจมีธงอยู่แล้วในใจ อาจมีการใช้ความรู้สึกมากเกินไปในการทำคดีหรือไม่
นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) กล่าวว่า รัฐบาลต้องยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทันที เพราะเท่าที่ทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านทราบดีว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สร้างปัญหาอย่างมาก
“มีข้อเท็จจริงมากมายจากการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบแล้วขยายกลายเป็นปัญหาสังคม ผมมองว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้หมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากเกินไป และการใช้กฎหมายพิเศษเท่ากับลดความเชื่อมั่นของรัฐบาล เพราะประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น จับผิดตัว ถูกซ้อมทรมาน”
ย้อนเส้นทางบังคับใช้กฎหมายพิเศษชายแดนใต้
- เดือน ม.ค.2547 ประกาศกฎอัยการศึก (ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457) ทุกพื้นที่ของ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
- เดือน ก.ค.2548 ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก
- เดือน ก.ย.2549 มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศหลังการรัฐประหาร ต่อมาได้ทะยอยยกเลิก เว้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหลังการรัฐประหารมีการใช้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับควบคู่กันมาตลอด คือกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
- เดือน ธ.ค.2552 เริ่มบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในท้องที่ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ของ จ.สงขลา
- เดือน ธ.ค.2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
- เดือน ม.ค.2554 ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงใน อ.แม่ลาน
อำนาจตามกฎหมายพิเศษ...
สำหรับอำนาจที่กฎหมายพิเศษให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ สรุปได้ดังนี้
กฎอัยการศึก - ทหารมีอำนาจตรวจค้นและจับกุมโดยไม่ต้องมีหมายศาล ควบคุมตัวได้เป็นเวลาเจ็ดวันโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 กำหนดให้ในพื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึก การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารในศาลทหาร คำพิพากษาของศาลถือเป็นที่สิ้นสุด อุทธรณ์มิได้
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ - ทหารและตำรวจมีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 30 วันโดยไม่ต้องมีการตั้งข้อหา และต้องไปขอหมายจากศาล และการควบคุมตัวต้องมีการขยายเวลาทุก 7 วัน กฎหมายมีมาตรการคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คือ มีมาตราที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย หากพิสูจน์ได้ว่ากระทำการโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินกว่าเหตุ การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่อยู่นอกเหนืออำนาจของศาลปกครอง
พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ – ให้อำนาจการควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาเช่นกัน แต่มีมาตรการระงับการดำเนินคดีในลักษณะคล้ายการนิรโทษกรรม ในมาตรา 21 โดยให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้ดำเนินการโดยความเห็นชอบของศาล โดยผู้ที่ต้องการเข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 จะต้องเข้ารับ “การอบรม” โดยกองทัพเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศในงานเสวนาเรื่อง “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐบาลใหม่” (ภาพโดย ปรัชญา โต๊ะอิแต)