ผู้ตรวจการฯชี้3ปมร้องสกสค.ส่อทุจริต -มิชอบกม.ชงรมว.ศึกษาฯลงดาบ
ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย 3 ปมร้องเรียน สกสค. ชี้สั่งจ่ายเช็คให้เอกชน 55 ล้านส่อทุจริต ทำให้ราชการเสียหายร้ายแรง สรรหา ผอ.องค์การค้าฯ ติดคุณสมบัติต้องห้าม จ้างออกแบบศูนย์อาคารพัฒนาครูฯ เชียงใหม่ 200 ล้านไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชงเรื่อง รมว.ศึกษาฯ ตั้ง กก.สืบข้อเท็จจริงฯ หากผิดให้ลงโทษทางวินัย-อาญาขั้นเด็ดขาด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 ผู้ตรวจการแผ่นดินสรุปผลวินิจฉัย 3 กรณีที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) พร้อมแจ้งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา) เพื่อดำเนินการเมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา แบ่งเป็น
1. กรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าเมื่อปี 2555 ได้มีการสั่งจ่ายเช็คเงินสดขององค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จำนวน 55 ล้านบาท ให้กับบริษัท 2020 เวิลด์มีเดีย จำกัด โดยรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.(ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นผู้สั่งจ่าย ซึ่งไม่มีอำนาจการสั่งจ่ายอาจส่อเจตนาทุจริต ซึ่งการกระทำดังกล่าวผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างว่า ส่งผลให้เกิดความเสียหาย แก่กระทรวงศึกษาธิการและทางราชการ
ผลการวินิจฉัย พบว่ากรณีดังกล่าวผู้ที่รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. (ในขณะนั้น) ได้จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้กับบริษัทเอกชนคู่กรณี โดยยอมรับว่าสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. อยู่ในฐานะ “ลูกหนี้” ทั้งที่ยังมิได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวถึงที่สุด ตลอดจนได้ดำเนินการยกเลิก หรือถอนการยื่นอุทธรณ์ในคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าว ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. และทางราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
ประกอบกับในคดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้พิจารณาแล้วเห็นควรอุทธรณ์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ จึงยื่นอุทธรณ์เพื่อให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2555 อีกทั้งรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ไม่มีอำนาจในการถอนฟ้อง , ไกล่เกลี่ยคดี หรือประนีประนอมยอมความในชั้นศาลโดยลำพัง เพราะเป็นอำนาจของเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.เท่านั้น ที่จะสามารถกระทำการแทนคณะกรรมการ สกสค. ได้
นอกจากนี้ หนังสือมอบอำนาจทั่วไปที่เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ได้มอบอำนาจไว้นั้น ไม่ได้มอบอำนาจให้มีอำนาจถอนฟ้อง หรือไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความในคดีแพ่ง อันส่งผลผูกพันต่อสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. แต่อย่างใด ซึ่งการก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกอันส่งผลผูกพันต่อสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จะต้องได้รับมอบอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546
ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ส่งผลให้องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. อยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเอกชนตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้างต้น การกระทำนี้จึงเข้าข่ายว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในหน่วยงานของรัฐ และมีมูลความผิดทางวินัย
ผู้ตรวจการแผ่นดินจึง ทำความเห็นพร้อมข้อเสนอแนะไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไป
2. กรณีที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างว่าการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เมื่อปี 2555 ของประธานคณะกรรมการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. และประธานคณะกรรมการ สกสค. เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายโดยเปิดโอกาสให้นายสมมาตร์ มีศิลป์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติต้องห้ามเข้ารับการสรรหา ได้รับสิทธิและได้แสดงวิสัยทัศน์ อันมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อตนเองและพวกพ้อง ซึ่งผู้ร้องเรียนและคณะได้ยื่นเรื่องคัดค้านแล้วแต่ไม่ได้รับการพิจารณา
ผลการวินิจฉัย จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทุจริต เบียดบัง ยักยอกทรัพย์สินของคุรุสภา รวมทั้งได้ถูกคำสั่งเลิกจ้างจากประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา ซึ่งจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องสรุปได้ว่าอาจเป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการสกสค. ข้อ 1.10 ถูกเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐ และข้อ 1.11 เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เนื่องจากถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทุจริต เบียดบังยักยอกทรัพย์สินขององค์การค้าของคุรุสภา (ชื่อเดิมขององค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.) ซึ่งปัจจุบันคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ หากผลการสืบสวนพบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ขอให้พิจารณามอบหมายให้ผู้ที่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
3. กรณีที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างว่าการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ มูลค่าโครงการ 360 ล้านบาท อาจมีการทุจริตหรือการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสในประเด็นการแก้ไขสัญญาว่าจ้างเพิ่มเติม การแก้ไขแบบแปลน ที่ไม่ผ่านมติของคณะกรรมการบริหาร สกสค. ตลอดจนมีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนที่เป็นคู่สัญญาหลายประการ เช่น การผัดผ่อนระยะเวลาให้กับคู่สัญญา จนทำให้เกิดการทิ้งงานในที่สุด ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย
ผลการวินิจฉัย จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามเรื่องร้องเรียน รวมทั้งตรวจสอบพยานเอกสาร ตลอดจนสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่าเอกชนที่เป็นคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ได้รับการตัดสินให้ชนะการคัดเลือก และได้รับการว่าจ้างเป็นผู้ทำการออกแบบอาคารศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ นั้น ปัจจุบันศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไว้เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ตามคดีหมายเลขแดง ที่ ล.8019/2555 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555
ต่อมาได้มีคำพิพากษาให้ล้มละลาย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 และจากการตรวจสอบระบบคลังข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าเอกชนที่เป็นคู่สัญญามีทุนจดทะเบียน 3,300,000 บาท ประกอบธุรกิจในหมวด 43210 การติดตั้งไฟฟ้า วัตถุประสงค์ เพื่อรับเหมาติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นซึ่งมีทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท ประกอบธุรกิจในหมวด 71101 กิจกรรมงานสถาปัตยกรรมและการให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์เพื่องานบริการออกแบบก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้าง
รวมทั้งพบว่าเอกสารหลักฐานของเอกชนที่เป็นคู่สัญญาที่นำมาแสดงตามข้อกำหนด (TOR) ว่าเป็นผู้ออกแบบรับจ้างก่อสร้างอาคารโดยมีวงเงินไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท นั้น คือหนังสือรับรองจากบริษัทอื่น ซึ่งหนังสือรับรองดังกล่าวมิได้ระบุวันที่รับรองไว้แต่อย่างใด อีกทั้งมิได้ระบุเลขที่สัญญาหรือวันที่ทำสัญญาดำเนินการออกแบบก่อสร้างไว้อีกด้วย
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลของบริษัทที่นำมากล่าวอ้าง พบว่า ปัจจุบันศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไว้เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.2106/2557 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ประกอบกับตามประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่อง คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลงวันที่ 2 กันยายน 2557 ไม่ปรากฏอาชีพที่แน่นอนของบริษัทที่นำมากล่าวอ้างแต่อย่างใด อีกทั้งจากการตรวจสอบระบบคลังข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่านิติบุคคลดังกล่าวไม่มีสำนักงานแห่งใหญ่ ณ ที่ตั้งตามที่จดทะเบียนไว้
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นกรณีการจ้างออกแบบก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ อาจมีการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงได้มีข้อสังเกตไว้
ดังนั้น เพื่อให้ความเป็นธรรมและความโปร่งใสในประเด็นดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ หากพบว่ามีผู้ใดกระทำความผิดขอให้ดำเนินการทางวินัยและอาญาโดยเด็ดขาด และแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทราบต่อไป