ผู้ครอบครองต้องขออนุญาต กม.งาช้างบังคับใช้แล้ว!โทษหนักปรับ-ติดคุก
พ.ร.บ.งาช้าง 2558 มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้ ผู้ใดจะประกอบกิจการหรือครอบครองงาช้างโดยไม่มีวัตุประสงค์เพื่อการค้า ต้องแจ้งขออนุญาตต่ออธิบดีกรมอุทยานฯ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท ระบุใบอนุญาตให้ค้างาช้าง ฉบับละ 5 หมื่นบาท
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พ.ร.บ.งาช้าง พ.ศ.2558 โดยให้มีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้คือ ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการค้า การครอบครอง การนําเข้า การส่งออก และการนําผ่านซึ่งงาช้างหรือผลิตภัณฑ์ที่ทําจากงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
แต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการค้า การครอบครอง การนําเข้า การส่งออก และการนําผ่านซึ่งงาช้างหรือผลิตภัณฑ์ที่ทําจากงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ จึงมีการนําช้างป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาสวมสิทธิและจดทะเบียนเป็นสัตว์พาหนะเพื่อตัดงาช้าง
รวมถึงการลักลอบนําเข้างาช้างแอฟริกาเพื่อนํามาค้าหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทําจากงาช้าง ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES))
จึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่กําหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการควบคุมการค้าการครอบครอง การนําเข้า การส่งออก และการนําผ่านซึ่งงาช้างหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการแปรรูปงาช้างภายในประเทศมิให้ปะปนกับงาช้างที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับกฏหมายงาช้าง กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีสาระสำคัญในมาตรา 6 ที่ว่า
ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งงาช้างโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า ให้มาแจ้งการครอบครองพร้อมเอกสารการได้มาซึ่งงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด เพื่อออกเอกสารการครอบครองงาช้างให้แก่ผู้แจ้งการครอบครองไว้เป็นหลักฐาน
ในกรณีที่ตรวจพบหรือมีเหตุอันควรสงสัยในภายหลังจากที่ได้รับแจ้งการครอบครองว่า งาช้างใดมิใช่งาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ อธิบดีอาจมีคําสั่งให้ผู้ครอบครองนําเอกสารหรือหลักฐานมาพิสูจน์ได้
แต่หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่างาช้างในความครอบครองเป็นงาช้างที่ได้มาจากช้างที่เป็นสัตว์พาหนะ ให้งาช้างนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบงาช้างให้แก่กรมอุทยานฯ ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งคําสั่งจากอธิบดีฯ
หากไม่เห็นด้วยกับคําสั่งของอธิบดีให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งคําสั่ง โดยให้คําวินิจฉัยของรัฐมนตรีเป็นที่สุด
นอกจากนี้มาตรา 7 ระบุว่า ในกรณีผู้ครอบครองประสงค์จะโอนการครอบครอง เปลี่ยนแปลงสถานที่ครอบครอง แปรสภาพ หรือเปลี่ยนรูปร่างงาช้างที่อยู่ในความครอบครอง ต้องแจ้งเป็นหนังสือต่ออธิบดีฯก่อนวันที่จะมีการดำเนินการ
ขณะที่มาตรา 9 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจเข้าไปในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้ค้างาช้างในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทําการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบ
หากมีเหตุสงสัยว่ามีการกระทําความผิด ให้เจ้าหน้าที่มีอํานาจยึดหรืออายัดงาช้าง เอกสาร หรือหลักฐานหรือวัตถุใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดําเนินคดี
สำหรับบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนระบุว่า หากไม่ยื่นคําขออนุญาตต่ออธิบดีฯ หรือนำเข้า ส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หรือมีงาช้างไว้ครอบครองโดยไม่มีวัตุประสงค์เพื่อการค้า แต่ไม่มาแจ้ง หรือโอนการครอบครอง เป็นหนังสือต่ออธิบดีฯก่อนวันที่จะมีการโอนการครอบครอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท และหากไม่อํานวยความสะดวกตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท
ทั้งนี้ อัตราค่าธรรมเนียม ระบุว่า 1. ใบอนุญาตให้ค้างาช้าง ฉบับละ 50,000 บาท 2. ใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งงาช้าง ฉบับละ 50,000 บาท 3. ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 1,000 บาท
ขอบคุณภาพจาก http://www.wwf.or.th