ตุลาการผู้แถลงคดี ศาล ปค.สูงสุด ชี้ ‘ตร.ต้องชดใช้สลายชุมนุมท่อก๊าซ"
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาอุทธรณ์คดี “ท่อก้าซไทย–มาเลย์” ตุลาการผู้แถลงคดียืนตามคำพิพากษาศาลปกครองสงขลา ยันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องชดใช้ค่าเสียหาย
วันที่ 13 ก.ย.54 ที่ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลปกครองสูงสุด นายชาญชัย แสวงศักดิ์ หัวหน้าคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด และองค์คณะรวม 5 คน ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคำอุทธรณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในคดีหมายเลขดำที่ 454/2546 คดีหมายเลขแดง 51/2549 ซึ่งเป็นคดีนายเจะเด็น อนันทบริพงศ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และพวก 24 คน ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำละเมิด โดยเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานของรัฐ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย–มาเลเซีย วันที่ 20 ธ.ค.45 ที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีผู้ฟ้องคดีและประชาชนจาก อ.จะนะ จ.สงขลาประมาณ 50 คน เดินทางมาฟังการพิจารณา \
นางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี ผู้ฟ้องคดีที่ 4 เป็นผู้แทนของผู้ฟ้องคดีแถลงต่อศาลด้วยวาจาว่า ผู้ชุมนุมใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับสลายการชุมนุม ถือเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพ และได้รับความเดือดร้อนจากการถูกดำเนินคดี
"หลังจากนั้นโครงการได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ปรากฏว่าสิ่งที่พวกดิฉันวิตกกังวลกลับเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสียง เรื่องกลิ่นจากโรงแยกก๊าซไทย–มาเลเซีย ส่งผลกระทบต่ออาชีพการประมงชายฝั่ง และการเลี้ยงปลาในกระชังของชาวบ้านในคลองนาทับด้วย” นางสุไรด๊ะ แถลง
นายสมศักดิ์ ตัณฑเลขา ตุลาการผู้แถลงคดี ได้อ่านคำแถลงต่อองค์คณะว่า ที่ศาลปกครองสงขลากำหนดให้มีการชดใช้ค่าเสียหายจากการสลายการชุมนุม และเห็นว่าที่ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ว่าการชุมนุมของผู้ชุมนุมในวันที่ 20 ธ.ค.45 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะชุมนุมโดยไม่สงบและมีอาวุธนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าลูกตะกั่วถ่วงอวน หนังสติ๊กสามง่าม มีดสะปาต้า แม้เป็นอาวุธโดยสภาพ แต่มีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชุมนุม จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องของเจตนาของแต่ละบุคคลไม่ใช่เจตนาร่วม ส่วนกรรไกร และไม้คันธง ไม่ถือเป็นอาวุธโดยสภาพ การนำมาใช้ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมแล้ว จึงเป็นเจตนาของแต่ละบุคคล ไม่ใช่มีเจตนานำมาใช้เป็นอาวุธ
เมื่อผู้ชุมนุมหยุดรอการเจรจาโดยสงบ บางส่วนนั่งรับประทานอาหาร บางส่วนละหมาด แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้าผลักดันสลายการชุมนุม จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม
“ที่ศาลปกครองสงขลาพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายคนละ 10,000 บาท ถือว่าสมควรแก่เหตุแห่งพฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิด ที่มาต่อความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและความเสียหายทางจิตใจแล้ว” นายสมศักดิ์ แถลง
น.ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ เปิดเผยว่า ตุลาการเจ้าของสำนวนแจ้งว่า หลังจากนี้ตุลาการจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะส่งคำพิพากษาให้ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษา โดยยังไม่ได้ระบุวันเวลาแต่อย่างใด ทั้งนี้นับเป็นกรณีแรกของประเทศไทย ที่มีการฟ้องร้องให้รับรองสิทธิเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน และเชื่อว่าคำพิพากษาคดีนี้จะสร้างบรรทัดฐานทั้งในส่วนของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึงแนวปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม หากต้องมีการสลายการชุมนุม
สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องมาจากชาวบ้านและเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) ร่วมกันชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย–มาเลเซีย ที่ปากทางเข้าโรมแรมเจ.บี.หาดใหญ่ สงขลา วันที่ 21 ธ.ค.45 เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมีกำหนดเดินทางมาประชุมรัฐมนตรีสัญจรร่วมกับคณะรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่โรงแรมเจ.บี.
ผู้ชุมนุมได้ประสานงานกับตัวแทนรัฐบาลล่วงหน้า แต่เมื่อเดินทางมาถึงพบว่าเส้นทางถูกปิดกั้นไว้ด้วยแผงเหล็กและกองกำลังตำรวจ จึงหยุดที่สวนหย่อมบริเวณสะพานถนนจุติ-บุญสูงอุทิศ ข้างอาคารจอดรถโรงแรม เพื่อรอยื่นหนังสือต่อนายกฯ ตามที่นัดหมายไว้ต่อมาตัวแทนของรัฐบาลแจ้งให้รอประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้ชุมนุมจึงได้แยกย้ายกันนั่งรับประทานอาหารและละหมาดโดยสงบ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งแถวเข้าผลักดันด้วยกำลังและกระบอง จนต้องสลายการชุมนุม เอ็นจีโอถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ 12 คน ประชาชนถูกออกหมายจับและถูกดำเนินคดี 22 คน รวมถูกดำเนินคดีอาญา 34 คน แต่ศาลจังหวัดสงขลาและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ระบุว่าการสลายการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในระหว่างการต่อสู้คดีอาญา ปลายปี 2546 ผู้ชุมนุมรวม 30 คน ร่วมกันฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้รับผิดต่อความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เป็นเงินคนละ 20,000 บาท และการที่ถูกทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์สินต่อศาลปกครองสงขลา โดยศาลปกครองสงขลารับคำฟ้องเฉพาะผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 24 กรณีความเสียหายต่อเสรีภาพในการชุมนุม ส่วนความเสียหายจากการทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 25 ถึงที่ 30 ศาลเห็นว่าเป็นเรื่องในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงให้ฟ้องต่อศาลแขวงสงขลาเป็นคดีแพ่ง
วันที่ 1 มิ.ย.49 ศาลปกครองสงขลาพิพากษาว่า คำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ชุมนุมได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีรวม 24 ราย เป็นเงินคนละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ที่กรุงเทพมหานคร .
ที่มาภาพ-เรื่อง : http://www.deepsouthwatch.org/node/2274