สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองพ้นเก้าอี้ยกแผง! กฤษฎีกาชี้ไร้ตำแหน่ง ส.ส.
กฤษฎีกาตีความข้อซักถามสภาพัฒนาการเมือง ให้สมาชิกพ้นเก้าอี้ เหตุไร้ตำแหน่ง ส.ส. หรือเป็น สนช. หลังยุบสภาปี’56
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกรณีสภาพัฒนาการเมือง ซักถามว่า ภายหลังพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 เป็นผลให้สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองตามมาตรา 7 (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551 พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นอันสิ้นสุดลงนั้น
ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มีผลบังคับใช้ ซึ่งตามมาตรา 6 วรรคสอง กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปฏิบัติหน้าที่แทนสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา และรัฐสภา ประกอบกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป กำหนดให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้ต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดมีสมาชิกในสังกัดเป็น สนช.
สำนักงานพัฒนาการเมืองจึงขอหารือว่า สภาพัฒนาการเมืองสมควรต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกตามมาตรา 7 (4) แห่ง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมืองฯ ซึ่งมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้แทนหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ไม่ได้มีสมาชิกในสังกัด สนช. เลือกกันเองให้เหลือ 2 คนหรือไม่ หรือสมควรให้สภาพัฒนาการเมืองประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่จนกว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎร จึงจะดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาการเมืองประเภทนี้
คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง โดยมีผู้แทนสถาบันพระปกเกล้า (สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า เนื่องจากเจตนารมณ์ของมาตรา 7 (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551 ต้องการให้พรรคการเมืองทุกพรรคมีส่วนร่วมในสภาพัฒนาการเมือง
บทบัญญัติดังกล่าวจึงได้แบ่งประเภทสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองซึ่งมีที่มาจากพรรคการเมืองออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีสมาชิกในสังกัดเป็น ส.ส. ซึ่งต้องมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้แทนหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีสมาชิกในสังกัดเป็น ส.ส. ทุกพรรคการเมือง และกลุ่มที่ไม่มีสมาชิกในสังกัดเป็น ส.ส. ซึ่งต้องมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้แทนหัวหน้าพรรคการเมืองที่มิได้มีสมาชิกในสังกัดเป็น ส.ส. และเลือกกันเองให้เหลือ 2 คน
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมืองฯ มีเจตนารมณ์ในการกำหนดเงื่อนไขการเป็นสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองตามมาตรา 7 (3) และ (4) โดยโยงกับความมีหรือไม่มีสมาชิกของพรรคการเมืองในการเป็น ส.ส. สมาชิกภาพของสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับสถานะของสภาผู้แทนราษฎร เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกภาพของสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองจึงต้องสิ้นสุดลงด้วย เพราะไม่อาจพิจารณาได้ว่าพรรคการเมืองใดมีสมาชิกของตนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่