งานวิจัยชี้ทรัพย์สินมากกว่าครึ่งโลกกระจุกอยู่ในมือเศรษฐี 1%
ภายในปี 2559 คนที่รวยที่สุดคิดเป็นจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกจะมีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก คนในกลุ่มนี้ มีพรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (85.1 ล้านบาท)
ภายในปีหน้า (2559) ทรัพย์สินของคนที่รวยที่สุดจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ของโลกรวมกันจะมากกว่าทรัพย์สินของคนอีก 99 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือรวมกัน หากไม่มีการแก้ไขแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำอย่างที่เป็นอยู่
องค์กรรณรงค์ต่อต้านความยากจน อ็อกซ์แฟม อินเตอร์เนชั่นแนล เตือนก่อนถึงงานประชุมเวิลด์ เอคอนอมิค ฟอรั่ม (World Economic Forum) ประจำปีนี้ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มกราคม 2558 ในกรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
วินนี่ บิยานยิมา (Winnie Byanyima) ผู้บริหารของอ็อกซ์แฟม อินเตอร์เนชั่นแนล (Oxfam International) ซึ่งรวมเป็นประธานในการประชุมนี้ด้วยกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำที่ปะทุขึ้นมาอย่างมโหฬารเป็นอุปสรรคในการต่อสู้กับความยากจน เมื่อคนในสัดส่วน 1 ใน 9 ของโลกไม่มีจะกิน และคนจำนวนมากกว่า 1 พันล้านคนมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าวันละ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐ (39.40 บาท)
ในการประชุมครั้งนี้ บิยานยิมาจะเรียกร้องให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นนี้อย่างเร่งด่วน เริ่มจากแก้ปัญหาการหนีภาษีของบริษัทยักษ์ใหญ่ และผลักดันกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับโลก
การวิจัยของอ็อกซ์แฟมซึ่งเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ แสดงว่า สัดส่วนทรัพย์สินความมั่งคั่งของคนที่รวยที่สุดจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ของโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 44 เปอร์เซ็นต์ใน พ.ศ. 2552 มาเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ในปี 2557 ส่วนทรัพย์สินของคนอีก 99 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกรวมกันคิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์ คือเกินครึ่งมาเพียงนิดหน่อย ด้วยการเปลี่ยนแปลงในอัตรานี้ ภายในปี 2559 คนที่รวยที่สุดคิดเป็นจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกจะมีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่งคนในกลุ่มนี้ มีพรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (85.1 ล้านบาท) สำหรับผู้บรรลุนิติภาวะแล้วในปี 2557
สำหรับทรัพย์สินอีก 52 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้น เกือบทั้งหมด คือ 46 เปอร์เซ็นต์เป็นของคนจำนวน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งโลก ส่วนคนจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือมีทรัพย์สินรวมกันเพียงร้อยละ 5.5 และมีทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 3,851 ดอลลาร์สหรัฐ (121,383 บาท) น้อยกว่ากลุ่มคนที่รวยที่สุดบนยอด 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรนั้นถึง 700 เท่า
บิยานยิมา กล่าวว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งขยายออกไปอย่างรวดเร็ว
"ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เราเห็นผู้นำของโลกอย่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา (ของสหรัฐอเมริกา) และคริสตีน ลาการ์ด (กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ: IMF) พูดถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สุดขั้ว แต่เรายังรอให้พวกเขาลงมือทำในสิ่งที่พูด ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำของเราจะจัดการกับผู้มีอิทธิพลที่ขัดขวางการพัฒนาสู่โลกที่ยุติธรรมและรุ่งเรืองกว่าเดิม"
"การทำธุรกิจอย่างที่เป็นอยู่ สำหรับกลุ่มคนรวยนั้นไม่ใช่ของฟรี ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจะทำให้การต่อสู้กับความยากจนถดถอยลงไปนับสิบๆ ปี คนจนถูกซ้ำเติม เพราะนอกจากจะมีทรัพยากรทางเศรษฐกิจน้อยลงแล้ว ความเหลื่อมล้ำยังจะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ที่จะยิ่งทำให้มีการกระจายรายได้น้อยลงไปอีก" บิยานยิมา กล่าว
เลดี้ลินน์ ฟอเรสเตอร์ เดอ รอธ์สไชล์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทด้านการลงทุน อี แอล รอธ์สไชล์ด และประธานกลุ่มเคลื่อนไหว Coalition for Inclusive Capitalism (ความร่วมมือเพื่อทุนนิยมในวงกว้าง) ซึ่งจะขึ้นพูดเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในการประชุมด้วย ได้เรียกร้องให้ผู้นำที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้เข้ามาร่วมมีบทบาทในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำสุดขั้ว โดยกล่าวว่า "รายงานของอ็อกซ์แฟมเป็นเพียงหลักฐานชิ้นล่าสุดเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำที่น่าตกใจแบบสุด ๆ และกำลังขยายตัวขึ้นไปอีก ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำในระบอบทุนนิยมยุคใหม่ รวมถึงนักการเมืองจะลงมือทำงานเพื่อเปลี่ยนระบบเพื่อนำไปสู่ระบบที่เป็นธรรมและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น"
รายงานของอ็อกซ์แฟม ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 จัดทำโดย เดโบราห์ ฮาร์ดูน (Deborah Hardoon) โดยใช้ข้อมูลประกอบจากเครดิต สวิส (Credit Suisse)
รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเงินและธุรกิจประกัน รวมถึงบริษัทยาและธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ทั้งนี้ ธุรกิจเหล่านี้ยังใช้อิทธิพลในการล็อบบี้รัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ด้วย
คลิกอ่านรายงานฉบับนี้ได้ที่ http://www.oxfam.org/en/research/wealth-having-it-all-and-wanting-more
อ็อกซ์แฟม เรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ดำเนินการตามแผน 7 ข้อ ดังนี้
1. ปราบปรามการเลี่ยงภาษีของบริษัทยักษ์ใหญ่และคนรวยทั้งหลาย
2. ลงทุนในบริการสาธารณะที่ให้บริการแก่ประชาชนทุกคน
3. ปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม โดยเปลี่ยนจากการเรียกเก็บภาษีจากแรงงานและการบริโภคเป็นการเก็บภาษีจากกลุ่มทุนและคนร่ำรวย
4. กำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เพียงพอต่ำการดำรงชีวิตของผู้ใช้แรงงาน
5. ออกกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรม รวมถึงส่งเสริมนโยบายที่เป็นธรรมกับผู้หญิง
6. สร้างระบบรองรับคนจน รวมถึงการรับประกันรายได้ขั้นต่ำ
7. ตั้งเป้าหมายระดับโลกร่วมกันว่าจะต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า การประชุมเวิลด์ เอคอนอมิค ฟอรั่ม ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 45 จะมีผู้นำระดับสูงของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์ถึง 300 คน รวมถึงประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีน ทั้งนี้ คาดว่า นายจอห์น แครี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ก็จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย
ที่มาภาพ:https://agenda.weforum.org/2015/01/why-china-needs-a-clear-cut-monetary-policy/