‘เทียนฉาย’ นำทัพ สปช.ระดมกึ๋นยกเครื่องประเทศ ห่วงปฏิรูป ‘การศึกษา’ ยังเป็นวุ้น
สปช.จัดถกระดมกึ๋นสร้างวิสัยทัศน์ 8 วาระ ยกเครื่องประเทศ ‘เทียนฉาย กีระนันทน์’ เผยปฏิรูปการศึกษา-สุขภาพ-สังคม-ชุมชน ยังเป็นวุ้น ‘ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ แนะทำปฏิทินงาน หวั่นล่าช้าไม่ทันกาล ด้านเครือข่าย ปชช.ยื่นหนังสือจี้ปฏิรูปตำรวจควิกวิน
วันที่ 20 มกราคม 2558 สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการวิสัยทัศน์ประเทศไทย (vision workshop) เป็นวันที่ 2 ณ ห้องราชเทวี แกรนด์ บอลรูม โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ
โดยในช่วงเช้า มีการนำเสนอผลสรุปสาระกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายการปฏิรูปวันแรก 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.พัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความเป็นสากล โดยไม่ละทิ้งความเป็นไทย เพื่อให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และแข่งขันได้ 2.คืนความน่าอยู่ให้สังคม ให้มีการจัดระเบียบสังคม เคารพกฎหมาย ที่สำคัญ ต้องขับเคลื่อนโดยชุมชน จะเป็นปัจจัยความสำเร็จ มิใช่นักการเมืองหรือข้าราชการฝ่ายเดียว
3.สร้างการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีความเป็นธรรม กระจายรายได้อย่างทั่วถึง สร้างเศรษฐกิจสีเขียว และต้องมีศูนย์รวมเพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์ เน้นเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพิ่มมูลค่า 4.สร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สร้างระบบการเมืองโปร่งใส มีกลไกตรวจสอบได้ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
จากนั้นที่ประชุมได้แบ่ง 8 กลุ่ม ‘วาระที่ต้องปฏิรูปเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในแต่ละด้าน’ ได้แก่ 1.ระบบการเมือง การป้องกันทุจริต การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล 2.ระบบบริหารราชการแผ่นดินและการปกครองท้องถิ่น 3.ระบบกฎหมายและนิติรัฐ 4.ระบบเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง เกษตร อุตสาหกรรม บริการ แรงงาน 5.ระบบการศึกษา การพัฒนาคุณภาพคน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และปัญญาของประเทศ 6.ระบบสาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 7.ระบบโครงสร้างสังคม ชุมชน การดูแลสวัสดิการสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และการคุ้มครองผู้บริโภค 8.ระบบโครงสร้างและสาระการสื่อสาร ศิลปวัฒนธรรม
ในช่วงบ่ายมีการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อย และเปิดเวทีรับฟังและให้ความคิดเห็น ‘จากวิสัยทัศน์สู่แผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย’ ทั้งนี้ นายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงข้อกังวลว่า ขณะนี้ยังมีความล่าช้าในการปฏิรูประบบการศึกษา สุขภาพ สังคม และชุมชน ซึ่งยังเป็นวุ้นอยู่ มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
ทั้งนี้ การปฏิรูประบบการศึกษามีความสำคัญ แต่ไม่ใช่การปฏิรูปการสอน เพราะแม้ไม่เกิดรัฐประหารก็ทำได้ แต่การปฏิรูปต้องคำนึงสิ่งสำคัญเป็นหลัก เช่น กรณีงบประมาณด้านการศึกษากว่าครึ่งตกอยู่กับครู ไม่ถึงนักเรียน ดังนั้นเพื่อให้ทราบบทบาทคืออะไร ควรเปลี่ยนบริหารการศึกษาเป็นจัดการศึกษาแทน
สำหรับสิ่งที่ สปช. ให้ความสำคัญน้อย ประธาน สปช. ระบุคือ ‘สหกรณ์’ ในฐานะเป็นสถาบันการเงินสำคัญที่สุดเคียงคู่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังมีระบบสวัสดิการสังคม สิ่งเหล่านี้ต้องคิดให้แตก ซึ่งระบบที่เป็นอยู่ปั่นป่วน ตลอดจนกฎหมายป้องกันการผูกขาด โดยเฉพาะสินค้าใหม่ที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะการผูกขาดสื่อ
“ถึงตรงนี้แล้วไม่มีอะไรที่ไม่บาดเจ็บ และเวลาเหลือเพียงเท่านี้ ถ้าเอาก็ลุยให้เสร็จ อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไว้” นายเทียนฉาย กล่าว .
ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญถูกเปรียบเทียบเป็นแม่น้ำสายที่ 5 ต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงมีความสัมพันธ์เหมือนกับฝาแฝดอิน-จัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้นำเสนอรายงานต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. และนายไพโรจน์ พลเพชร ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และต่อไปจะรายงานต่อที่ประชุมทุกครั้งวันละ 10 นาที
นายบวรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศควรบัญญัติข้อเสนอที่ได้ไว้ใน 4 หมวด ได้แก่ มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน สันติสุข จะมีรายละเอียดอย่างไร เจาะจงเฉพาะเรื่องสำคัญ เพื่อให้เสร็จภายใน 3-4 เดือน พร้อมแนะนำให้ สปช.จัดทำตารางการปฏิบัติงาน เพราะเหลือเวลาอีกไม่มากสำหรับการปฏิรูปประเทศ
ท้ายที่สุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประชุม 2 วัน ได้ค้นพบวาระการปฏิรูปประเทศไทย 49 ประเด็น 170 ประเด็นย่อย ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อนจะเจาะลึกเป็นประเด็นสำคัญอีกครั้ง แต่อย่างน้อย สปช.ได้มีกระบวนการในแต่ละไตรมาส ซึ่งจะนำเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง เช่น ไตรมาสที่ 1 การปฏิรูปตำรวจ การสร้างความมั่นคั่ง ด้านการเกษตร ท่องเที่ยว สุขภาพ แรงงานไตรมาสที่ 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การบริหารบุคลากรภาครัฐ ระบบสวัสดิการ รัฐวิสาหกิจ และไตรมาสที่ 3 การป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน การสร้างความมีส่วนร่วมภาคประชาชน สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน
ภาคประชาชนจี้ สปช. ปฎิรูปตำรวจ โอนสังกัดหน่วยงานรับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปตำรวจ (คปตร.) ยื่นหนังสือถึงพลเรือเอกพะจุณณ์ ตามประทีป ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างงานตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผ่านนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เรื่อง ขอให้เร่งดำเนินการปฏิรูประบบตำรวจของประเทศเป็นกรณีเร่งด่วน โดยหนังสือระบุว่า ระบบตำรวจของประเทศต้องปฏิรูปเร่งด่วน มิฉะนั้นจะทำให้ประเทศได้รับความเสียหายได้ จึงเรียกร้องให้ปฏิรูปสู่สากล ที่สำคัญ คือ
การเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาโอนหน่วยตำรวจไปยังกระทรวง ทบวง กรม ที่รับผิดชอบ เช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาลไปสังกัดกรุงเทพฯ, สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์และพิสูจน์หลักฐานไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม, สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
หนังสือระบุด้วยว่า คปตร.ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ กำหนดนโยบายปรับลดตำแหน่งนายพลตำรวจลงในระยะเวลา 3 ปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น เช่น กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และกำหนดแผนยกเลิกยศนายพลตำรวจทั้งหมดในระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก
นอกจากนี้ต้องยกเลิกวิธีการคัดเลือกบุคคลเป็นนายตำรวจในระบบนักเรียนนายร้อยตำรวจทั้งหมด เนื่องจากทำให้ผู้เป็นนายตำรวจไม่ผ่านการปฏิบัติงานพื้นฐานของหน่วย ก่อให้เกิดปัญหาต่อการปฏิบัติงานตำรวจผู้น้อย โดยรับสมัครบุคคลผู้มีปริญญานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้องฝึกอบรมในระยะเวลา 6 เดือน แต่งตั้งเป็นตำรวจ สิบตำรวจตรี ปฏิบัติการทุกสายงาน เพื่อให้มีความรู้ทางกฎหมายเท่าทัน
“เมื่อทำงานครบ 2 ปี จึงมีสิทธิสอบแข่งขันเป็นตำรวจสัญญาบัตร ลดการแบ่งรุ่นแบ่งเหล่า สร้างระบบอุปถัมภ์ในองค์กรตำรวจ โดยโรงเรียนนายร้อยตำรวจให้เปลี่ยนเป็นสถาบันฝึกอบรมและพัฒนาตำรวจแห่งชาติ (สพช.)” หนังสือ ระบุ .