“คำนูณ”เผยกมธ.ยกร่างฯเตรียมบัญญัติหลักนิติธรรมในรธน.ฉบับใหม่
“คำนูณ” โฆษกกมธ.ยกร่างฯเผย บัญญัติหลักนิติธรรมใน รธน.ฉบับใหม่ เผยทางวิชาการยังไม่ทำมาก่อน ขีดเส้นถกปมยุติธรรมให้เสร็จในวันที่ 21 ม.ค.นี้ เปลี่ยนคำเรียกองค์กรอิสระ เป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้พิจารณาในส่วนของภาคที่ 3 เรื่องหลักนิติธรรมศาลและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 21 มกราคมนี้ ส่วนตั้งแต่วันที่ 22 มกราคมเป็นต้นไปจะพิจารณาในส่วนของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯได้เสนอให้ใช้ว่า องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแทนคำว่าองค์กรอิสระ เบื้องต้นพิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้ว 5 มาตรา
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า นี่เป็นครั้งแรกของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีบัญญัติการว่าด้วยหลักนิติธรรมไว้อย่างชัดเจน โดยก่อนหน้านี้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 3 มีการบัญญัติคำว่าหลักนิติธรรมไว้ โดยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงหลักเดิมไว้ จะเห็นได้ว่ามาตรา 3 จะเขียนไว้ชัดเจนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และ ศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ส่วนในวรรค 2 ที่เป็นการเพิ่มขึ้นมาจากในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2550 คือ การปฏิบัติหน้าที่ของสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ เป็นไปตามหลักนิติธรรม
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่ว่า หลักนิติธรรมคืออะไร ในทางหลักวิชาการยังไม่เคยมีบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรก ในมาตรา 3 ภาค 3/1/1 ว่าหลักนิติธรรมอันเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยมีหลักการพื้นฐานสำคัญดังต่อไปนี้ 1. ความสูงสุดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหนืออำเภอใจของบุคคล และการเคารพรัฐธรรมนูญทั้งกฎหมายทั้งโดยรัฐและประชาชน 2. การคุ้มครองศักดิ์ความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และ ความเสมอภาค 3. การแบ่งแยกการใช้อำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์สาธารณะ 4. นิติกระบวนซึ่งอย่างน้อยต้องไม่บังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฏหมายเป็นโทษทางอาญา ให้บุคคลมีสิทธิ์ในการปกป้องตนเอง ไม่บังคับให้บุคคลต้องให้ถ้อยคำที่ทำให้มีความผิดทางอาญา 5. ความเป็นอิสระของศาล
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายคำนูณ จาก pantip