มุมมอง ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กับการอนุญาตเหมืองทอง
"ถ้าการขุดแร่ทองคำนั้น ทำความเสียหายให้ทรัพย์สินอื่นๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แหล่งน้ำ และผู้คน โดยที่แลกกับผลประโยชน์ปัจจุบันเพียงน้อยนิด ผมว่า เราเก็บไว้ก่อนเถอะครับ"
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟชบุคส่วนตัว แสดงความเห็นเรื่อง การอนุญาตเหมืองทอง 300 แห่งทั่วประเทศ
ดร.เดชรัต แสดงความไม่เห็นด้วย โดยมีมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ที่แตกต่างจากรัฐบาลปัจจุบันเรื่อง “สินแร่ทองคำ” ใน 3 ประการสำคัญ ดังนี้
ประการแรก สำหรับรัฐบาล การขุดทองคือการเพิ่มรายได้ของรัฐ เพราะรัฐบาลมองว่า ถ้าไม่ให้บริษัทต่างชาติขุดขึ้นมา รัฐบาลก็ไม่รู้จะจัดเก็บรายได้เข้าคลังของรัฐบาลได้อย่างไร ดังนั้น ในมุมมองนี้ รายได้จากค่าภาคหลวงที่แม้จะไม่มากนัก (ประมาณร้อยละ 3-10 ของมูลค่าสินแร่ทองคำที่ขุดได้) ก็ยังถือว่า ดีกว่าการปล่อยสินแร่ไว้ในดินและไม่มีมีรายได้อะไรเลย
"แต่สำหรับผม การให้บริษัทต่างชาติขุดทองคือ การสูญเสียของสินแร่ทองคำที่ขุดขึ้นมาไปอย่างถาวร และเราก็ไม่อาจสร้างกลับคืนมาได้อีก เพราะฉะนั้น การที่เราจะสูญเสียสินแร่ส่วนนั้นไป เราจะต้องได้ผลตอบแทนมากกว่าสินแร่ที่เสียไป จึงจะคุ้มค่าการสูญเสียสินแร่เหล่านี้
ความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้นจากการให้ประทานบัตรขุดทองจึงมิใช่เทียบกับ “ศูนย์” หรือมิได้เทียบค่าภาคหลวงที่ “เคยได้รับ” แต่จะต้องเทียบกับ “มูลค่าสินแร่” ที่กำลังจะสูญเสียไปเป็นตัวตั้ง แล้วจึงจะสามารถกำหนดส่วนแบ่งรายได้ที่คุ้มค่า และนำส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวมาลงทุน (ไม่ใช่ใช้จ่ายแบบที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) เพื่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่รวมกันแล้วมากกว่ามูลค่าของสินแร่ที่สูญเสียไป เมื่อนั้นจึงจะถือว่า คุ้มค่ากับทรัพยากรแร่ที่ต้องสูญเสียไปตลอดกาล
นี่ยังไม่รวมถึง ความเสื่อมเสียของทรัพยากรที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ และสุขภาพของผู้คน ที่ต้องสูญไปหรือต้องเสื่อมค่าลงจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่ต้องนำมาคิดร่วมด้วย และเราก็จะต้องป้องกันและฟื้นฟูไม่ให้ทรัพยากรเหล่านี้เสื่อมค่าลงไปด้วย
แน่นอนว่า เมื่อกล่าวถึงจุดนี้ ฝ่ายที่อยากขุดทองก็คงต้องแย้งว่า “ถ้าเราเรียกร้องมากไปก็คงไม่มีคนมาขุดทอง และเราก็คงไม่ได้รายได้แม้แต่บาทเดียว”
ผมยอมรับว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสถานการณ์เช่นนั้น แต่ว่าสำหรับผมแล้ว ถ้าเกิดสถานการณ์เช่นนั้นขึ้นจริงๆ สินแร่ทองคำของเราก็มิได้สูญหายไปไหน แถมมูลค่าที่มีอยู่ก็มิได้ลดลงด้วย เพราะฉะนั้น การที่เราเก็บทองคำเอาไว้ขุดในวันหน้าจึงมิใช่ทางเลือกที่เสียหายแต่อย่างใดทั้งสิ้น"
และนี่คือความแตกต่างกันประการที่สอง
แต่ความแตกต่างประการที่สองนั้นสัมพันธ์กับความแตกต่างประการที่สามด้วย เพราะในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการลงทุน มูลค่าของเงินในปัจจุบันย่อมมากกว่ามูลค่าของเงินในอนาคต เพราะจากปัจจุบันไปสู่อนาคต เราต้องผ่านความเสี่ยงและความไม่แน่นอนหลายอย่าง เพราะฉะนั้น ในทฤษฎีการลงทุน การได้เงินวันนี้ย่อมดีกว่าการได้เงินในวันพรุ่งนี้หรือปีหน้า (ในจำนวนเงินที่เท่ากัน) จนเป็นที่มาของการคิดลดมูลค่าของเงินในอนาคตให้เป็นมูลค่าของเงินในปัจจุบัน
ดังนั้น หากคิดตามทฤษฎีนี้ การลงทุนขุดแร่เพื่อให้ได้เงินในปัจจุบัน ย่อมดีกว่าการเก็บแร่ไว้ขุดในอนาคต (หากได้เงินเท่ากัน) และนี้ก็คงเป็นความคิดพื้นฐานหนึ่งของการเร่งขุดแร่และปิโตรเลียมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
"ในเรื่องนี้ ผมเคยยกกรณีสมมติมาถามนิสิตว่า “หากเราเกิดไปติดเกาะ โดยมีอาหารกระป๋องติดไปอยู่บนเกาะด้วย 365 กระป๋อง และเราทราบว่าจะมีเรือมารับเราในอีกหนึ่งปีข้างหน้า เราจะนำเอาอาหารกระป๋องเหล่านั้น มาบริโภคอย่างไร?”
นิสิตทุกรายตอบว่า “เอามาทานวันละกระป๋องครับ/ค่ะ” ผมเลยถามว่า “อ้าว ทำไมหล่ะ? ในเมื่อทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์บอกว่ามูลค่าของปัจจุบันสำคัญกว่ามูลค่าของอนาคต ทำไมเราไม่ทานอาหารกระป๋องวันนี้ให้มากหน่อย? เพราะตามทฤษฎีแล้ว อาหารกระป๋องหนึ่งกระป๋องในวันนี้ย่อมมีค่ามากกว่าหนึ่งกระป๋องในวันหน้า เผื่อวันหน้าดันเกิดพายุพัดเข้าเกาะ แล้วอาหารกระป๋องถูกพัดลงทะเล เราจะได้ไม่ต้องเสียดายมากนัก”
นิสิตนิ่งคิด และบางรายก็ตอบว่า “เพราะเราต้องการจะอยู่จนถึงปีหน้าครับ/ค่ะ”
นั่นแหละครับคือคำตอบ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราต้องการจะอยู่จนถึงวันหน้า (หรือวันนั้น) ตราบนั้น ความสำคัญของปัจจุบันและอนาคตจะเท่ากันครับ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่รีบที่จะทานอาหารกระป๋องในวันนี้ เราต้องการเหลือไว้ทานในวันหน้า และในบางกรณี ความสำคัญของอนาคตอาจมากกว่าปัจจุบันด้วย ในกรณีเช่นนั้น เราจะยอมอด เพื่อเหลือไว้ทานหรือไว้ใช้ในยามที่เราต้องการหรือหาสิ่งนั้นได้ยากขึ้น
ประเด็นจึงอยู่ที่คำว่า “เรา” นั้นหมายถึงใคร? ถ้าคำว่า เราหมายถึง “เฉพาะคนรุ่นเรา” ที่จะต้องเร่งสร้าง GDP และความมั่งคั่ง เราก็อาจจะไม่แคร์ที่จะต้องเหลือสินแร่ทองคำให้กับลูกหลานในวันหน้า
ในกรณีการรีบขุดก็เหมือนการรีบทานอาหารกระป๋องให้หมดๆ เสียตั้งแต่วันนี้ เพราะวันหน้าไม่มีความแน่นอน หรือวันหน้ามีความสำคัญน้อยกว่าวันนี้สำหรับคนรุ่นเรา
แต่หากคำว่า “เรา” นั้นรวมถึง “ลูกหลานของเราในรุ่นหน้า” ด้วย เราก็คงไม่รีบขุดเอาสินแร่ทองคำมาใช้ให้หมดสิ้น เพื่อแปลงเป็นมูลค่าปัจจุบันให้เร็วที่สุด แต่เราก็จะใจเย็นที่จะค่อยๆ ทานอาหารกระป๋องทีละกระป๋องเพื่อความอยู่รอดของเรา หรือจะทานก็ต่อเมื่อ เรามั่นใจว่าการบริโภคอาหารกระป๋องจะทำให้เรามีกำลังแรงกายที่จะปลูกหาอาหารเพื่อบริโภคมาเพิ่มเติมมากกว่าที่เราทานไป หรือเราก็อาจจะยอมอด เพื่อให้ลูกของเราในอนาคตได้ทานอาหารกระป๋องด้วย แทนที่จะฟาดกันเรียบตั้งแต่วันนี้
ความแตกต่างทั้งสามข้อจึงทำให้จุดยืนของผมและของรัฐบาลต่างกัน
สำหรับผมแล้ว คำว่า “เรา” มิได้หมายถึง เฉพาะคนรุ่นเรา แต่ยังหมายถึง ลูกหลานของเราด้วย ผลประโยชน์ของอนาคตจึงมิได้น้อยกว่าผลประโยชน์ในปัจจุบัน แต่การขุดสินแร่ทองคำมาใช้แปลว่า สินทรัพย์ส่วนหนึ่งของเราจะหายไปเป็นการถาวร เราจึงต้องมั่นใจว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะต้องถูกแปรเปลี่ยน ไปเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากกว่ามูลค่าของสินแร่ทองที่เสียไป มันจึงจะคุ้มค่ากับการยกสินแร่ทองคำให้บริษัทต่างชาติไปขายในตลาดโลก
แต่ถ้าการขุดแร่ทองคำนั้น ทำความเสียหายให้ทรัพย์สินอื่นๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แหล่งน้ำ และผู้คน โดยที่แลกกับผลประโยชน์ปัจจุบันเพียงน้อยนิด ผมว่า เราเก็บไว้ก่อนเถอะครับ มูลค่าสินแร่ทองคำมันไม่ลดลง เหลือไว้ให้ลูกหลานของเราบ้าง
"ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่า เขาจะจัดการได้ดีกว่าคนรุ่นเรา แต่สิ่งที่ผมเชื่อมั่นอย่างที่สุดคือ เขาเป็นส่วนหนึ่งของเรา และเราควรจะเหลือส่วนนั้นให้กับเขา"