วิษณุ เครืองาม : "มาตรา 7" เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญเกินสมควรหรือไม่
“..คำถามเรื่องการเติมวรรค 2 ในมาตรา 7 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยนั้น เป็นการเพิ่มอำนาจหรือไม่ ตอบว่าเพิ่มอำนาจ แต่เพิ่มเกินสมควรหรือไม่ ผมคิดว่าไม่นะ เพราะเวลามีคดีเกิดขึ้น เขาก็มีอำนาจวินิจฉัยอยู่แล้ว แล้วทำไมเราจึงต้องรอให้กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ คือ ทำไมต้องรอให้เกิดเรื่องถึงไปวินิจฉัย..”
ภายหลังจาก "นายคำนูณ สิทธิสมาน" โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงรายงานความคืบหน้าการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจไม่น้อย คือการเพิ่มเติมวรรคสองของมาตรา 7 ที่จากเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีเพียงแค่วรรคหนึ่งที่ระบุว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้การกระทำการหรือวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข”
ขณะที่ กมธ. ยกร่างฯ ได้เพิ่มวรรคสอง ระบุว่า “ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยกรณีใดตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด ให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี และเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครอง สูงสุด”
นำมาสู่กระแสวิพากษ์ ทั้งผู้ที่สนับสนุนและเห็นต่าง โดยประเด็นหนึ่งที่ผู้เห็นต่างกังวลคือวรรคสอง ของมาตรา 7 เป็นการเพิ่มอำนาจให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีอำนาจเบ็คเสร็จเด็ดขาดเหนืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อันเป็นเสาหลักของการถ่วงดุลอำนาจ ตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สอบถามประเด็นร้อนที่ว่านี้ กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย, ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช. ) , และหัวหน้าคณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ของ คสช.
ถ้อยความนับจากนี้ คือคำตอบของ "วิษณุ" มือกฎหมาย คสช. และอดีตมือกฎหมายของรัฐบาลอีกหลายชุด
@ : รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 มอบอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไปหรือไม่ และเป็นการทำลายการตรวจสอบถ่วงดุล ของอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการหรือไม่
วิษณุ : คำถามเรื่องการเติมวรรค 2 ในมาตรา 7 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยนั้น เป็นการเพิ่มอำนาจหรือไม่ ตอบว่าเพิ่มอำนาจ แต่เพิ่มเกินสมควรหรือไม่ ผมคิดว่าไม่นะ เพราะเวลามีคดีเกิดขึ้น เขาก็มีอำนาจวินิจฉัยอยู่แล้ว แล้วทำไมเราจึงต้องรอให้กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ คือ ทำไมต้องรอให้เกิดเรื่องถึงไปวินิจฉัย บางเรื่องเราควรจะให้เขามีอำนาจในการที่จะให้ตอบได้ก่อน แต่ไม่ใช่การให้คำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไร เพียงแต่ มีปัญหาก็ทำเหมือนกับที่ส่งไปให้กฤษฎีกาตีความว่าทำอย่างนี้ได้หรือไม่ได้ ถ้าเขาตอบว่าทำได้ ก็จะได้ทำ ถ้าเขาตอบว่าทำไม่ได้ ก็จะไม่ทำก็เท่านั้นเอง
แต่ไม่ใช่การเขียนถามไปว่า ‘ตอนนี้ มาถึงทางตันแล้ว หานายกฯ ไม่ได้ คุณยิ่งลักษณ์ก็ไม่ดี คนนั้นก็ไม่ดี ทำยังไงดี ช่วยบอกหน่อย’ นั่นก็เป็นการเพิ่มอำนาจโดยไม่สมควร เราไม่ได้หมายความว่าให้ศาลเข้ามาวินิจฉัยเรื่องอย่างนั้นหรือแนะนำเรื่องอย่างนั้น แต่เป็นการให้ตีความกฎหมายซึ่งเป็นอำนาจของศาล แต่ตีความล่วงหน้า โดยเป็นเรื่องที่จวนจะเกิดแล้วแต่ยังไม่รอให้เกิดเท่านั้นเอง ซึ่งผมก็ว่าศาลโลกเขาก็มีอำนาจแบบนี้ เพียงแต่องค์กรที่จะขอให้วินิจฉัยนั้น ต้องไม่ใช่ว่าใครก็ได้ มันต้องเหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ และถ้าให้ดีให้งามอาจจะต้องเขียนเพิ่มอีกนิดหนึ่งด้วยซ้ำว่าในบางกรณีศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่รับก็ได้
ถ้ารู้สึกว่าเป็นเรื่อง 'โพลิติคอล เควสชั่น' คือเป็นปัญหาการเมือง คือถามมาเพื่อชั้นเชิงทางการเมือง ให้เขามีอำนาจใช้ดุลยพินิจว่าจะรับหรือไม่รับ
ถ้าเขียนแบบนั้นก็จะไปได้ ประเทศจะได้มีทางออกเพราะว่าผมมองเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 200 กว่ามาตราที่จะร่างใหม่นั้น เป็นมาตราใหม่เอี่ยมแปลกประหลาดเกือบทั้งนั้น และเราไม่เคยมuประสบการณ์ แล้วถ้าปล่อยให้มีเรื่อง ก็จะทะเลาะกันได้หมดทุกมาตราทำอย่างไรถึงจะคลื่คลายในส่วนตรงนี้ได้ก่อน ระงับไว้ก่อน กันไว้ดีกว่าแก้ ไม่คิดว่าเป็นการเพิ่มอำนาจเผด็จการอะไร เพราะเป็นอำนาจของศาล อำนาจของศาลทำอะไรล่ะครับ วินิจฉัย ตีความ ให้คำแนะนำ ธรรมมชาติศาลรัฐธรรมนูญไม่เหมือนศาลธรรมดาอยู่แล้ว
ไอ้บทบัญญัติที่คุณถามมาในมาตรา 7 วรรค 2 คือบทบัญญัติที่อยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราววันนี้นะ ซึ่งเขาลอกมาใส่ ซึ่งเราลองใส่ไว้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง ว่าหากวันนี้ ถ้ามีปัญหาที่เถียงกันว่าอะไรได้หรือไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยนะ เพราะฉะนั้น เมื่อตอนที่เถียงกันแรกๆ ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองอย่างที่กำลังจะถอดถอนกันหรือไม่
ฝ่ายหนึ่งบอกว่า มี อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่มี ที่คิดว่ามีน่ะอยู่มาตราไหน
ฝ่ายที่บอกว่ามี ก็บอกว่าอยู่ในมาตราที่ว่าเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย อีกฝ่ายบอกว่า ไม่ใช่ประเพณี เราจะปล่อยให้มันมาเถียงกันทำไม ก็ไม่รู้ว่าจะเถียงกันทำไม
รัฐธรรมนูญชั่วคราววันนี้ เขียนไว้แล้วว่า ถ้าสงสัยว่าอะไรเป็นประเพณี อะไรไม่เป็นประเพณี ให้ศาลรัฐะรรมนูญ วินิจฉัยล่วงหน้าให้ได้ ทำไมไม่ถามไป ทางหนึ่งก็บอกว่า ไม่ต้อง ถาม เขามั่นใจว่ามีถ้าคุณมั่นใจว่ามี ก็เดินหน้าไปและปัญหาทำนองนี้ นับวันจะมากขึ้นไปในอนาคต
....
นี่คือคำตอบจาก มือกฎหมายเจ้าของหลายสมญา บ้างเรียกขาน 'เนติบริกร' บ้างเรียก 'กระบี่มือหนึ่ง' แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า "วรรคสองของมาตรา 7" จะเป็นการ "คลี่คลาย ระงับไว้ก่อน และกันไว้ดีกว่่าแก้" จริงหรือไม่?
อนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น...คงไม่มีใครตอบได้
ภาพประกอบจาก : www.hepingshijie.com