ประชาคมมุสลิมเสนอร่างก.ม.5ฉบับ ชงสนช.พิจารณา
ประชาคมมุสลิมเตรียมเสนอร่างกฎหมาย 5 ฉบับให้ สนช.พิจารณา ช่วงรองประธาน "พีระศักดิ์" จัดกิจกรรม สนช.พบประชาชน เผยเตรียมดัน พ.ร.บ.ฮาลาล หวังจัดระบบเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ด้าน "ประวิตร" แย้มคืบหน้าพูดคุยสันติสุขดับไฟใต้ ลั่นไม่ต้องรอให้มาเลย์ไปคุยกลุ่มเห็นต่างก่อน ขณะที่ "ปณิธาน" แย้มมีคุยแบบ "พรีทอล์ค" แก้ปัญหาชิงพื้นที่สื่อ เพิ่มประเด็นถกอีก 6 เรื่องนอกเหนือลดความรุนแรง
ประชาคมมุสลิมเตรียมยื่นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับอิสลามจำนวน 5 ฉบับให้กับรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างจัดกิจกรรม "สนช.พบประชาชน" ที่ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ย่านคลองตัน วันอังคารที่ 20 ม.ค.ที่จะถึงนี้
สำหรับรองประธาน สนช.ที่จะเดินทางไปร่วมกิจกรรม คือ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 โดยจะมีการพบปะกับผู้นำศาสนาอิสลาม นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากประชาคมมุสลิม เพื่อหารือถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศผ่านการตราและแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ซึ่งเป็นภารกิจในความรับผิดชอบของ สนช.
ทั้งนี้ร่างกฎหมาย 5 ฉบับที่ประชาคมมุสลิมเตรียมเสนอให้รองประธาน สนช. เพื่อนำไปพิจารณาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ คือ 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.... ซึ่งเป็นร่างแก้ไขกฎหมายเดิม 2.ร่าง พ.ร.บ.ฮาลาล เป็นร่างกฎหมายใหม่ ประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อน สาระสำคัญเพื่อจัดระบบและองค์กรที่รับผิดชอบเกี่ยวกับฮาลาลในประเทศไทย
3.ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินอิสลาม ซึ่งไม่ใช่แค่ธนาคารอิสลาม 4.ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการใช้หลักอิสลามในคดีครอบครัวและมรดก ซึ่งจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 และ 5.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจญ์ พ.ศ.... ซึ่งเป็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.2524
ด้านความคืบหน้าการดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบในพื้นที่นั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) วางแผนงานแล้ว และ พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ในฐานะหัวหน้าทีมพูดคุยสันติสุข ก็กำลังดำเนินการอยู่ โดยวันเวลาในการพูดคุยนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ทางการมาเลเซียไปพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างก่อน
ขณะที่ นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวฝ่ายเลขาของสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซียเตรียวมเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติสุขว่า ต้องตรวจสอบกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของไทย แต่ตามที่เข้าใจคือ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด (คณะกรรมการ 3 ระดับที่ดำเนินกระบวนการพูดคุย) เรียบร้อยแล้ว ก็จะประสานกับมาเลเซียตามขั้นตอน ซึ่งฝ่ายไทยกำหนดให้สมช.เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงาน
ส่วนจะเริ่มพูดคุยสันติสุขได้เมื่อไรนั้น คิดว่าคงต้องให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าการพูดคุยครั้งนี้จะแตกต่างจากการทำงานครั้งก่อนๆ ที่ไม่เป็นระบบ ที่ผ่านมาเมื่อเดินเร็วไปก็เกิดผลกระทบหลายอย่าง ทำให้หลายกลุ่มไม่พอใจ มีการแย่งชิงพื้นที่สื่อ ทำให้คราวนี้ต้องจัดระบบที่เรียกว่าการเตรียมการพูดคุยแบบ "พรีทอล์ค"
ทั้งนี้ การพูดคุยแบบ "พรีทอล์ค" ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ความรุนแรงอย่างเดียว แต่จะคุยเพิ่มอีก 6 เรื่อง อาทิ การพัฒนา, ความปลอดภัย, การศึกษา, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการระดับพื้นที่จะดำเนินการ ดังนั้นเรื่องของการพูดคุยสันติสุขจึงซับซ้อนกว่าครั้งที่แล้วที่คุยแต่เรื่องสันติภาพอย่างเดียว อีกทั้งถ้ากติกาและกลไกนิ่ง ก็จะดำเนินการได้เร็ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางการไทยขอให้มาเลเซียติดต่อพูดคุยกับบุคคลที่มีอิทธิพลต่อสถานการณ์ในพื้นที่เท่านั้นใช่หรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า มาเลเซียมีบทบาทอำนวยความสะดวกและประสานงาน ฝ่ายไทยต้องการคุยกับใครบ้างก็จะบอกให้มาเลยเซียประสานงาน หากทางมาเลเซียมีความคิดเห็นอย่างไร ไทยก็รับฟัง แต่ฝ่ายไทยจะเป็นฝ่ายผลักดันขับเคลื่อน มีเป้าชัดเจนว่าต้องการจะเชื่อมกับกลุ่มไหนบ้าง ระบุตัวบุคคล และฝ่ายที่เราจะพูดคุย ต้องถามด้วยว่าฝ่ายนั้นอยากคุยกับเราขนาดไหน ซึ่งเรื่องนี้กำลังจัดระบบกันอยู่
ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ครั้งนี้ประเด็นข้อกฎหมายต้องชัดว่าจะเดินตามกฎหมายใด เช่น มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างที่ต้องการกลับใจ สามารถเข้ามอบตัวและเลือกรับการฝึกอบรมแทนการถูกฟ้องคดีได้) และดูในเรื่องของสถานภาพทางกฎหมายของแต่ละกลุ่มที่จะคุยกัน รวมทั้งเงื่อนไขทางกฎหมายที่แต่ละกลุ่มมี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
1 ภาพประกอบจากกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้
2 ข่าวเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติสุข เอื้อเฟื้อโดยสำนักข่าวเนชั่น