ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ : สื่อ-ประชาชน พลังสำคัญในการตรวจสอบ
"..จากประสบการณ์การทำงานด้านความเป็นธรรมแก่ประชาชน มาเป็นเวลานาน มองว่าปัจจุบัน ประชาชนยังมีความทุกข์ ยังได้รับความความไม่เป็นธรรม จากภาครัฐ จากที่ตนเคยเป็นผู้ตรวจราชการของ สำนักนายกฯ ก็อยากลองมาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินบ้าง เนื่องจาก ในความเห็นตน ผู้ตรวจราชการของ สำนักนายกฯ ยังอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหาร แต่แต่ผู้ตรวจการแผ่นดิน สามารถที่จะสร้างผลกระทบ ต่อคนในวงกว้างได้.."
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 58 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน : บทบาทก้าวสู่ความท้าทายในอนาคต ที่โรงแรม The Emerald Cove เกาะช้าง จังหวัดตราด มีผู้ร่วมเสวนา คือ นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน นายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน และพลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินรายการโดย นายสุวิช รชตะนันทน์
นางผาณิต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานด้านความเป็นธรรมแก่ประชาชน มาเป็นเวลานาน มองว่าปัจจุบัน ประชาชนยังมีความทุกข์ ยังได้รับความความไม่เป็นธรรมจากภาครัฐ จากที่ตนเคยเป็นผู้ตรวจราชการของสำนักนายกฯ ก็อยากลองมาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินบ้าง เนื่องจาก ในความเห็นตน ผู้ตรวจราชการของ สำนักนายกฯ ยังอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหาร แต่แต่ผู้ตรวจการแผ่นดิน สามารถที่จะสร้างผลกระทบ ต่อคนในวงกว้างได้
ส่วนในกรณีที่ได้รับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐในทางวินัย ถ้ามีหลักฐานที่ชัดเจนพอ ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถสั่งให้ มีการตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัยและทางแพ่งด้วย แต่ยอมรับว่า ช่องทางที่มีพลังและสำคัญที่สุด คือการฟ้องต่อประชาชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนช่วยเราได้มาก เพราะเมื่อสื่อเผยแพร่ความไม่เป็นธรรมออกไป ประชาชนก็จะสนใจ
นางผาณิต กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ความสำคัญ กับเหตุของการร้องรียน ขณะเดียวกัน ก็ให้ความเป็นธรรมกับทั้งผู้ร้องเรียน และผู้ถูกร้องเรียน ที่ต้องขอให้เขาชี้แจง ผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะมีหนังสือเตือนผู้ถูกร้องไปเป็นระยะๆ ถ้ากรณีสำคัญ เราก็จะลงพื้นที่ และเชิญมาประชุมกัน หรือยกตัวอย่างกรณีที่มีการร้องเรียนหลายเรื่อง เช่น เรื่องการเวนคืนที่ดิน ที่ จ.ราชบุรี ที่ชาวบ้านสูญเสียที่ดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ข้อมูลมาจากสื่อ เมื่อลงพื้นที่ และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ร้องก็ได้ที่คืน
“แต่ยอมรับว่า เรื่องร้องเรียนของประชาชน เรื่องที่ยากที่สุดคือ เรื่องที่ดิน เพราะมันเกี่ยวข้องกับทั้งกรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน เราก็ต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบูรณาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของราชการ ดังนั้น เดี๋ยวนี้ เราเป็นตัวช่วยให้กับผู้ถูกร้องด้วย” นางผาณิตระบุและกล่าวถึงกรอบการทำงานโดยคร่าว รวมทั้ง จุดอ่อนในการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ส่วนที่ถือเป็นจุดอ่อน กล่าวคือ อยู่นอกเหนืออำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ไม่สามารถก้าวล่วงได้ อาทิ
“กองทุนหมู่บ้าน, สำนักงาน กสทช., สภามหาวิทยาลัย, บอร์ดรัฐวิสาหกิจ เราก้าวล่วงไปไม่ถึง นี่คือ จุดอ่อน”
นอกจากนี้ ในกรณีที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ แม้กฎหมายให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ต้องส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการประมวลจริยธรรมแต่ละแห่ง และผู้ตรวจการแผ่นดินต้องรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการประมวลจริยธรรมในหน่วยงานรัฐหน่วยงานนั้นๆ เมื่อต้องรอ ส่งให้การเปิดเผยผลการพิจารณา ต่อสาธารณะยังไม่สามารถทำได้ทำ
“ส่วนใหญ่ เป็นพฤติกรรมทางจริยธรรม บางกรณีเราก็ไม่ต้องไต่สวนเอง บางกรณีก็ต้องรอผลจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมที่ยังไม่ส่งกลับมา เราก็ยังพิจารณาไม่ได้”
นางผาณิตระบุด้วยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจตามกฎหมาย เหมือน ป.ป.ช. ( สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ) เหมือนองค์กรอิสระทั้งปวง การลงโทษของเรามีตั้งแต่จำคุกไม่เกิน 6 เดือน และ 1 ปี แต่เรื่องที่สำคัญที่สุด คือการสร้างจิตสำนึกของบุคคล โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงให้ความสำคัญ กับประมวลจริยธรรม ของหน่วยงานรัฐแต่ละแห่ง
“ประมวลจริยธรรม ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย คือข้าราชการตำรวจ ที่มีการระบุตั้งแต่อุดมการณ์ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อสังคม เขียนไว้ดีมากๆ แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังเป็นผู้ถูกร้องเรียน ลำดับที่หนึ่ง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องปลุกจิตสำนึก”
นางผาณิตกล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบัน ผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีเขี้ยวและเล็บไม่ครบ ระบบกฎหมายและกระบวนการบางส่วนก็ยังไม่ครบถ้วน แต่ก็ไม่กังวล แม้ตอนนี้ ในระดับนโยบายจะมีข้อเสนอให้พิจารณาองค์กiอิสระที่มีอยู่ รวมทั้ง ป.ป.ช. ว่าพิจารณาจะเสริมเขี้ยวเล็บ หรือจะสร้างองค์กรตรวจสอบแห่งใหม่ ซึ่งเห็นว่าอยู่ที่ไหนไม่สำคัญ
“สำคัญที่ว่าอยู่ที่ไหนแล้วมีเขี้ยวเล็บเพียงพอหรือไม่” นางผาณิตระบุ