กฤษฎีกาตอกหน้าปค."นำเข้าปืนต้องมีใบอนุญาต"ม้วนเสื่อทวงคืน4 พันกระบอก
"กฤษฎีกา"ตอกหน้า ปค. ยืนความเห็น ไม่ว่าใครสั่งนำเข้าอาวุธปืน ต้อง มีใบอนุญาต ปฏิบัติตามกม. ย้ำ"กรมศุลกากร" มีอำนาจยึดเป็นสมบัติของแผ่นดิน เผย "หจก.เอกภัทร" จ่อโดนโทษหนัก เปรียบเทียบ พ่วงคดีอาญา
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่ากรมการปกครอง ได้ทำหนังสือโต้แย้งความเห็นทางกฎหมายต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่พิจารณาให้กรมศุลกากร ใช้อำนาจตามกฎหมายยึดอาวุธปืนของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ปืนเอกภัทร จำนวน 4,000 กระบอก ที่นำเข้ามาโดยไม่มีใบอนุญาต โดยให้เหตุผลว่าหจก.ฯ เป็นตัวแทนนำเข้าอาวุธปืนของกรมการปกครองนั้น
(อ่านประกอบ : ปค.ดิ้นทวงปืนคืน! หลัง “หจก." ตัวแทนนำเข้าไร้ใบอนุญาต ถูกสั่งยึด 4 พันกระบอก)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 1 และ 11 ได้พิจารณาความเห็นของกรมการปกครองกรณีดังกล่าว และยืนความเห็นให้กรมศุลกากรใช้อำนาจตามกฎหมายยึดอาวุธปืนของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ปืนเอกภัทร ที่นำเข้ามาโดยไม่มีใบอนุญาตได้ เป็นสมบัติของแผ่นดิน
เนื่องจากเห็นว่า พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7 และมาตรา 24 ได้ห้ามการนำเข้าซึ่งอาวุธปืนไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าส่วนบุคคลหรือการค้า แว้นแต่เป็นอาวุธปืนของราชการ หน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ เฉพาะที่มีหรือใช้เพื่อป้องกันประเทศหรือรักษาความสงบเรียบร้อย ของประชาชน หรือในการป้องกันและรักษาทรัพย์สินอันสำคัญของรัฐ หรือที่มอบให้ประชาชนมีและใช้เพื่อช่วยเหลือราชการของทหาร ตำรวจ หรือหน่วยราชการ แล้วแต่กรณี
สำหรับอาวุธปืนที่กรมการปกครองสั่งหรือนำเข้าหรือมอบหมายให้เอกชนสั่งหรือนำเข้าเพื่อจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นเป็นสวัสดิการนั้น ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นอาวุธปืนของกรมการปกครอง หากแต่เป็นการสั่งและนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายให้บุคคลอื่นอีกต่อหนึ่ง แม้ว่ากรมการปกครองจะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินการเพื่อจัดเป็นสวัสดิการ การอนุญาตดังกล่าวเป็นเพียงการอนุญาตในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาในระดับกระทรวงให้ส่วนราชการในสังกัดดำเนินการในเรื่องที่มิใช่เป็นหน้าที่โดยตรงของส่วนราชการนั้นได้เท่านั้น มิได้มีผลให้บุคคลใดได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายการดำเนินการสั่งและนำเข้าอาวุธปืนจึงยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรา 7 หรือ มาตรา 24 แล้วแต่กรณี
ส่วนกรณีที่ว่าอาวุธปืนที่ หจก. ปืนเอกภัทร สั่งนำเข้าแทนกรมการปกครองเพื่อเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่อาวุธปืนสำหรับการค้า ตามมาตรา 24 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน แต่เป็นอาวุธปืนที่กรมการปกครองสั่งนำเข้าโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน โดยได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนและหจก. ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 16 และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เป็นการชอบแล้วหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกาฯ เห็นว่า แม้อธิบดีกรมการปกครองจะเป็นนายทะเบียนท้องที่ตามมาตรา 7 แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้อำนาจกรมการปกครองที่จะสั่งหรือนำเข้าอาวุธปืนโดยไม่ต้องขออนุญาต
นอกจากนั้น ในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ได้กำหนดเรื่องการสั่งหรือนำเข้าอาวุธปืนไว้ 2 กรณี ได้แก่ การสั่งหรือนำเข้าอาวุธปืนส่วนบุคคลตามมาตรา 7 และกรณีที่สอง การสั่งหรือนำเข้าอาวุธปืนสำหรับการค้าตามมาตรา 24 ซึ่งทั้งสองกรณีนอกจากต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่แล้ว ผู้รับอนุญาตยังต้องนำใบอนุญาตดังกล่าวไปแสดงต่ออธิบดีกรมศุลกากรหรือเจ้าพนักงานที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมศุลกากรก่อนสั่งหรือนำเข้าตามมาตรา 30
และเมื่ออาวุธปืนตามใบอนุญาตดังกล่าวเข้ามาถึงแล้ว ต้องไปรับจากพนักงานศุลการภายในกำหนดสี่เดือน นับแต่วันที่อาวุธปืนเข้ามาถึงตามมาตรา 31 ด้วย ซึ่งทั้งสองกรณีไม่ว่าผู้ใดจะเป็นผู้สั่งหรือนำเข้า ก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว
สำหรับกรณีตามมาตรา 16 นั้น เป็นบทบัญญัติสำหรับบุคคลธรรมดาที่นำอาวุธปืนติดต่อเข้ามาโดยยังไม่มีใบอนุญาตให้นำเข้า กฎหมายจึงบัญญัติให้ผู้นำเข้าแจ้งเป็นหนังสือและส่งมอบอาวุธปืนฯ ไว้แก่พนักงานศุลกากรแล้วจึงไปดำเนินการขออนุญาตนำเข้าเสียภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ส่งมอบอาวุธปืนให้แก่พนักงานศุลกากรดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17
เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า หจก.ปืนเอกภัทร ได้สั่งและนำอาวุธเข้ามาในราชอาณาจักร แทนกรมการปกครองเพื่อเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่เป็นการนำอาวุธติดตัวมา กรณีจีงไม่อาจดำเนินการตามมาตรา 16 และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ได้
สำหรับข้อโต้แย้งที่ว่ากรมการปกครองเป็นผู้สั่งหรือนำเข้าอาวุธปืนดังกล่าว เพียงแต่มอบหมายให้ หจก.ฯ เป็นผู้ดำเนินการแทน นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อยู่ในฐานะที่จะวินิจฉัยได้ว่าใครเป็นผู้สั่งหรือนำเข้า เพราะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง แต่ไม่ว่ากรมการปกครองจะเป็นผู้สั่งหรือนำเข้า หรือ หจก.ฯ เป็นผู้สั่งหรือนำเข้า ก็ไม่ทำให้ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแต่อย่างใด
สำหรับประเด็นที่ว่าเมื่อกรมการปกครอง ได้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 108/2535 เรื่องจำกัดการออกใบอนุญาตให้บุคคลสั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนบางชนิด ลงวันที่ 10 ก.พ.2535 โดยชอบแล้ว กรมการปกครองเป็นเจ้าของอาวุธปืนที่สั่งนำเข้าเพื่อเป็นสวัสดิการ นั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่ว่าจะอาวุธปืนจะเป็นของใคร ก็ต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เช่นเดียวกัน เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับการยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อโต้แย้งในประเด็นนี้อีก
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการกฤษฎี ร่วมคณะที่ 1 และ 11 จึงมีความเห็นตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ที่ได้ให้ไว้คือ ในการสั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืน ต้องได้รับใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนจากนายทะเบียนท้องที่ก่อนสั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืน และผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องนำใบอนุญาตดังกล่าวไปแสดงต่ออธิบดีกรมศุลกากรหรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีศุลกากรมอบหมายก่อนสั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หจก.ปืนเอกภัทร ได้สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนโดยไม่มีใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนจากนายทะเบียนท้องที่กรุงเทพมหานคร จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 24 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว
เมื่ออาวุธปืนมาถึงแล้ว และไม่มีผู้รับไปจากกรมศุลกากรภายในเวลาที่กำหนด จึงส่งผลทำให้อาวุธปืนดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาเรื่องนี้ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีการเชิญตัวแทนกรมศุลกากรเข้าชี้แจงข้อมูล ได้รับทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า การนำเข้าอาวุธปืนของ หจก.เอกภัทร ดังกล่าว ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ และปล่อยอาวุธปืนที่นำเข้าผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งการเปรียบเทียบปรับดังกล่าวไม่ได้มีผลทำให้คดีระงับ และยังต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับพิจารณาอีกครั้ง
สำหรับอาวุธปืนที่สั่งหรือนำเข้าที่เหลืออยุู่อีกจำนวนสี่พันกระบอกนั้น กรมศุลกากรได้ยึดไว้โดยไม่มีการเปรียบเทียบปรับ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการนำเข้าโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งนอกจากจะมีความผิดฐานสั่งหรือนำเข้าแล้ว ยังเป็นความผิดฐานนำเข้าของต้องจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ อีกด้วย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ต้องลงโทษบทหนัก กรมฯจึงได้ยึดอาวุธปืนที่เหลือดังกล่าวไว้เพื่อดำเนินการคดีตามกฎหมาย