มารู้จักตัวตนคนชื่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ใครก็ตามที่ไม่เคยสัมผัสไม่เคยร่วมงานด้วยย่อมจะไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บุคคลผู้ซึ่งเคยรับใช้ใกล้ชิดอย่างสุดจิตสุดใจให้กับครอบครัวชินวัตร โดยเฉพาะทักษิณ ชินวัตร และพจมาน ดามาพงศ์ และในขณะนี้กำลังกลายเป็นแก้วสารพัดนึกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)โดยเฉพาะของพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ
เราจึงน่าจะมาทำความรู้จักตัวตนที่แท้จริงบุคคลผู้นี้ดูบ้าง
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นลูกจีนฮกเกี้ยน เกิดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ปี 2496 เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์การคลังและเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบปริญญาโทสาขาบริหารการเงิน จากสถาบันบัณทิตพัฒนบริหารศาสตร์ และจบปริญญาเอกสาขาบริหารธุรกิจ ด้านการจัดการและการตลาด จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา สมรสกับนางอนุรัชนี จาตุศรีพิทักษ์ สกุลเดิม ภิงคารวัฒน์
หลังจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาในปี 2527 ดร.สมคิดก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านบริหารการตลาดเข้าไปทำงานให้กับบริษัทเอกชนหลายแห่ง รวมทั้งการเป็นอาจารย์สอนที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บริษัทเอกชนที่ดร.สมคิดเคยไปร่วมทำงานและยังมีสัมพันธภาพเป็นอันดีมาจนกระทั่งทุกวันนี้ คือบริษัทเครือสหพัฒนพิบูล ของตระกูลโชควัฒนา และบริษัทเครือผู้จัดการและเอเอสทีวี ของสนธิ ลิ้มทองกุล
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เริ่มเข้าสู่การเมืองครั้งแรกด้วยการเข้าดำรงตำแหน่งเลขาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยที่ดร.ทะนง พิทยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งได้นำความแปลกใจมาสู่ผู้คนเป็นอันมาก เพราะดร.สมคิด เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการเพียงคนเดียวเท่านั้นที่พูดภาษาไทยไม่ชัด แถมยังพูดอะไรเข้าใจยาก และมีบุคคลิกที่พูดแล้วไม่ยอมสบตาผู้คนเสียอีก
ดร.สมคิดคงจะรู้ถึงจุดอ่อนและปมด้อยนี้ จึงได้พยายามพัฒนาตนเองจนสามารถสร้างภาพลักษณ์ให้ดีขึ้นกลายเป็นคนพูดเก่งชนิดที่สามารถทำให้ผู้ฟังคล้อยตามได้ จึงถูกชักชวนจากทักษิณ ชินวัตร ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขณะที่ทักษิณ ชินวัตร ยังสังกัดพรรคพลังธรรมของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
เมื่อทักษิณ ชินวัตรได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิดก็ยังคงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีควบคู่กับเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้กับ ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ ผู้พี่ชายในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อีกด้วย
ต่อมาเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร ออกมาตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคไทยรักไทย ดร.สมคิดก็ได้ร่วมกับ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ลูกน้องเก่าของ พอล สิทธิอำนวย และสุธี นพคุณ ช่วยกันปัดฝุ่นนำเอานโยบายประชานิยมของ บุญชู โรจนเสถียร ที่เคยนำเสนอต่อ พล.ต.ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ใช้เป็นนโยบายของพรรคกิจสังคมในอดีตซึ่งพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช เคยท้วงติงว่านโยบายหลายอย่างอาจจะถูกใจประชาชนแต่จะเป็นปัญหาเรื่องวินัยทางการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว มาดัดแปลงให้เป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทย เช่น นโยบายช่วยเหลือชาวนาในรูปแบบต่างๆ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายค่าโดยสารฟรี นโยบายการรักษาพยาบาลฟรีแต่ปรับแนวนโยบายให้เป็นไปตามแนวคิด 30 บาทรักษาทุกโรคของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วใช้กลยุทธ์ทางการตลาดทำการหาเสียงจนพรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล
เมื่อทักษิณ ชินวัตร ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็แต่งตั้ง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่เป็นได้เพียง 8 เดือน ก็มีการปรับคณะรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี และกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งเมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีอีก
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้รับการปรับตำแหน่งอยู่เรื่อยๆ จนหมดยุครัฐบาลทักษิณ โดยตำแหน่งสุดท้ายในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่ปรากฏว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะมีผลงานอะไรโดดเด่นหรือประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาใดๆ ให้กับประเทศชาติและประชาชน นอกจากนโยบายประชานิยมและนโยบายครัวไทยไปครัวโลก ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าประสบความสำเร็จยิ่งในด้านการประชาสัมพันธ์ แต่หาได้เกิดมรรคผลอันใดต่อการค้าขายอาหารไทยในต่างประเทศแม้แต่น้อย
สายสัมพันธ์ระหว่างทักษิณ ชินวัตร และดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต้องขาดสะปั้นลงภายหลังเกิดการรัฐประหารในปี 2549 ทำให้ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย เพราะเมื่อรัฐบาลทักษิณถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของนายสนธิ ลิ้มทองกุล และทักษิณมีท่าทีว่าอาจจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองก็มีการกล่าวกันว่าแกนนำพรรคไทยรักไทยส่วนใหญ่เสนอชื่อดร.สมคิด ให้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนทักษิณ
แม้ทักษิณจะยังไม่ตัดสินใจแต่ก็มีข่าวว่า กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ในพรรคไทยรักไทยต่างก็มีท่าทีสนับสนุนดร.สมคิดอย่างเต็มที่จึงก่อให้เกิดความกินแหนงแคลงใจในเรื่องความจงรักภักดีของดร.สมคิดกับทักษิณขึ้นมาทันที จนกระทั่งทักษิณประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำการสับเปลี่ยนตำแหน่งลำดับความสำคัญของรองนายกรัฐมนตรี โดยให้พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีอันดับ 3 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขึ้นมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 โดยอ้างว่าให้มาช่วยดูแลม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่แท้ที่จริงแล้วในขณะนั้นทักษิณได้หมดความไว้วางใจ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 ไปเสียแล้ว
จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2549 นายวิษณุ เครืองาม ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณก็ลาออกจากตำแหน่ง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ได้เคลื่อนไหวพบปะพูดคุยกับแกนนำคนสำคัญของพรรคไทยรักไทยบางคนดูเหมือนจะมีการเจรจาตกลงอะไรบางอย่าง การแสดงออกและท่าทีทางการเมืองของ ดร.สมคิดในครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ทักษิณไม่สบอารมณ์ ประกอบกับมีข่าวจากผู้ที่ทักษิณให้ความไว้วางใจ เข้าไปถึงหูของทักษิณว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แน่ใจว่าสถานการณ์ในขณะนั้นทักษิณจะต้องตัดสินใจเว้นวรรคทางการเมืองแน่นอน และผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนทักษิณคือตัวดร.สมคิด จึงได้เริ่มทาบทามผู้คนที่ตนไว้วางใจให้ไปร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่
นี่คือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทักษิณ ชินวัตร ถอดใจกับดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และประกาศตัดขาดนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ภายหลังรัฐประหารในปี 2549 ด้วยสายสัมพันธ์อันดีของดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ ผู้พี่ชายที่มีต่อพวกแม่ทัพนายกองเหล่าทหารผู้มีอำนาจน้อยใหญ่ ประกอบกับดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เปลี่ยนท่าทีจากการที่ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาสนับสนุนทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเต็มที่ จึงได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งๆ ที่ไม่เคยมีผลงานในด้านเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์ ประกอบกับภาพลักษณ์ของการเป็นมือไม้ให้กับทักษิณ ชินวัตร มาก่อน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จึงถูกสังคมกดดันจนต้องลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวในที่สุด
พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย ทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีชื่อเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ทำให้ ดร.สมคิดหยุดการเคลื่อนไหวทางการเมือง หากแต่ได้ไปก่อตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ร่วมกับกลุ่มรวมใจไทย ของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายพิจิตต รัตตกุล และกลุ่มชาติพัฒนาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ โดยดร.สมคิดรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพรรค
แต่ในการเลือกตั้งปี 2550 พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาแพ้การเลือกตั้งอย่างหมดรูปได้ ส.ส.มาเพียง 9 ที่นั่งเท่านั้น นับเป็นการบั่นทอนภาพลักษณ์แห่งการเป็นเซียนการตลาดของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
หลังจากประสบความล้มเหลวกับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาแล้วดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ได้รับการชักชวนจาก สมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และชัชวาลย์ คงอุดม (ชัช เตาปูน) ให้ไปร่วมบริหารหนังสือพิมพ์ในเครือสยามรัฐที่ชัชวาลย์ซื้อกิจการจาก มล.รองฤทธิ์ ปราโมช (บุตรชาย พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) โดยหวังจะใช้ความรู้ความสามารถที่ว่ากันว่าเก่งกาจนักของดร.สมคิด ไปปลุกหนังสือพิมพ์สยามรัฐให้ตื่นขึ้นมายิ่งใหญ่อีกครั้งดังเช่นในอดีต
ในขณะเดียวกันทั้งสมใจนึก ดร.สมคิด และชัชวาลย์ ต่างก็มีความหวังว่านอกจากจะร่วมมือร่วมใจกันฟื้นฟูหนังสือพิมพ์สยามรัฐให้ประสบความสำเร็จแล้ว โอกาสที่ทั้งสามคนจะร่วมกันตั้งพรรคการเมืองที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นได้ก็มีไม่น้อย การตัดสินใจเข้าไปบริหารและร่วมฟื้นฟูหนังสือพิมพ์สยามรัฐของดร.สมคิด กลายเป็นความคาดหวังที่บรรดาคนหนังสือพิมพ์ที่สังกัดหนังสือพิมพ์สยามรัฐไม่เคยคิดว่าจะพบกับความผิดหวังและได้สัมผัสกับความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่งของคนภาพลักษณ์ดีอย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ดร.สมคิดก็ปลีกตัวออกมาทำงานที่ถนัดคือการเข้าไปรับตำแหน่งกุนซือเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจภาคเอกชนหลายแห่ง จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วตั้ง คสช.ขึ้นมาบริหารประกาศ ด้วยสายสัมพันธ์อันดีกับทหารหาญทั้งหลายของ ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ อีกเช่นเคย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา คสช. ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ไม่เว้นแม้แต่พี่ใหญ่ของ คสช. พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ที่ช่วยกันสร้างภาพคล้ายเป็นแก้วสารพัดนึกให้กับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ในขณะที่ดูเหมือนว่าคณะรัฐบาลพยายามจะทำงานแก้ปัญหา และขับเคลื่อนการทำการทำงานทุกอย่างให้รุดหน้าต่อไป เพื่อประโยชน์สุขของชาติบ้านเมืองและประชาชน แต่ดูทุกอย่างยังคงติดขัดและไม่ราบรื่น เพราะความไม่กล้าตัดสินใจของผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่บางคนที่คอยแต่จะฟังคนนั้นทีคนนี้ทีแล้วก็โทษปี่โทษกลองเรื่อยไป เลยต้องตั้งคณะกรรมการไม่รู้กี่คณะขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาตามคำแนะนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกรรมการที่ คสช.ตั้งมาทุกชุดก็ล้วนแต่มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร่วมอยู่ด้วยทุกคณะ แต่ก็ยังไม่ปรากฏผลงานอันเด่นชัดของกรรมการชุดต่างๆ เหล่านั้นเลย
ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็เป็นฝีมือของดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อีกเช่นเคยที่ขอให้คสช.ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการทำงานของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นคณะกรรมการที่แปลกประหลาดมากเพราะนอกจากจะมี ดร.สมคิดเป็นกรรมการแล้วยังมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นกรรมการอีกด้วย
นี้คือปรากฏการณ์ของการทำงานที่ซ้ำซ้อนไร้หลักเกณฑ์ ส่อให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพและไร้ซึ่งภาวะผู้นำของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ ยิ่งถ้าสำรวจตรวจดูรายชื่อคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานด้วยแล้วก็จะเห็นว่าส่วนหนึ่งของกรรมการชุดนั้นล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการซุกหุ้นของทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวมาแล้วโดยไม่เคยแยแสกับคุณธรรมและจริยธรรมทางสังคมเลยแม้แต่น้อย ซึ่งบุคคลเหล่านั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกลับไปเรียนวิชาศีลธรรมเสียใหม่
แล้วประชาชนจะหวังได้อย่างไรว่าการคืนความสุขให้กับประชาชนจะไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันของคนบางคนเท่านั้น
ขอบคุณภาพประกอบจาก :: www.peopleunitynews.com