อยากให้พื้นที่นี้สงบ...มีแต่เสียงหัวเราะ ความรู้สึกครูใต้ในวันครูแห่งชาติ
วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น "วันครู" และตลอดทศวรรษมานี้มีชะตากรรมของครูกลุ่มหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ ครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แม้หลายหน่วยงานออกมายืนยันว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทว่าปี 2557 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปก็มีครูถูกยิงเสียชีวิตถึง 7 ราย ซ้ำร้าย 5 ใน 7 ยังเป็นครูสตรี
ขณะที่ตลอด 11 ปีไฟใต้ นับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 จนถึงปัจจุบัน มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ไปแล้ว 179 ราย
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ม.ค.58 ก่อนวันครูเพียง 1 วัน สมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าหารือร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางรักษาความปลอดภัยครู โดยเฉพาะการขยายผลโครงการ "ทุ่งยางแดงโมเดล" ที่ใช้พลังของภาคประชาชนในพื้นที่ช่วยกันดูแลชีวิตครู
เพราะสิ่งที่ครูชายแดนใต้ต้องการมากที่สุดก็คือ "สวัสดิภาพ" ในชีวิตนั่นเอง
บุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า จำนวนครูที่ได้รับบาดเจ็บตลอด 11 ปีไฟใต้ คือ 164 คน เสียชีวิต 179 คน ที่ผ่านมาวันครูของทุกๆ ปีก็ขอรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอดในเรื่องความปลอดภัยและขวัญกำลังใจของครู โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยที่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าครูปลอดภัย และมีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย ก็จะส่งผลทำให้การเรียนการสอนมีคุณภาพ
"เราเรียกร้องเรื่องนี้มาตลอด แต่ก็ยอมรับว่าปีที่แล้วมีครูตกเป็นเป้าสังหารน้อยลง คิดว่ามีเหตุผลประมาณ 2-3 ข้อ คือ 1.ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้น 2.ครูมีมวลชนมากขึ้น สามารถสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองและชุมชนได้ดีกว่าที่ผ่านมา 3.มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเป้าหมาย"
อย่างไรก็ดี ครูบุญสม บอกว่า ทุกครั้งที่มีเหตุยิงปะทะ แล้ววิสามัญฆาตกรรม เมื่อเกิดความสูญเสียของฝ่ายที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ครูจะกังวลทันที เพราะเคยตกเป็นเป้ามาตลอด จึงขอให้เน้นหนักเรื่องความปลอดภัยในเรื่องนี้ด้วย
"นอกจากเรื่องความปลอดภัยก็ยังมีเรื่องขวัญกำลังใจ อย่างเรื่องเงินเยียวยา 4 ล้านบาทสำหรับครูที่เสียชีวิต เราขอไปแต่ก็ไม่เคยได้รับการดูแล ไม่เคยได้รับคำตอบที่ดีให้กับครู ทุกครั้งที่ขอ ผู้รับผิดชอบก็บอกจะนำเข้าพิจารณาในครม.(คณะรัฐมนตรี) แต่แล้วก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ขณะที่การดูแลของหน่วยอื่นจะมีความคืบหน้ามากกว่า" ครูบุญสม กล่าว
ด้านความรู้สึกของครูที่สอนหนังสืออยู่ในพื้นที่ ครูสตรีที่นับถือศาสนาพุทธรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ซึ่งสอนเด็กๆ อยู่ในโรงเรียนพื้นที่สีแดงของ จ.นราธิวาส เล่าให้ฟังว่า การใช้ชีวิตของครูที่มาจากต่างถิ่นเช่นเธอ เมื่อต้องมาอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ก็ต้องรู้จักหาทางหนีทีไล่ให้ดี แต่ละวันต้องพยายามไม่เดินทางไปไหน ต้องจำกัดเสรีภาพของตัวเองให้แคบลง ถ้าทำได้แบบนี้ก็ยังพออยู่ได้
"แต่ที่รู้สึกแย่สุดๆ คือช่วงที่เพื่อนครูถูกกระทำ เด็กนักเรียนของเราถูกทำร้ายจนถึงชีวิต อย่างล่าสุดก็ยังทำบุญกันไม่จบ ที่ลูกศิษย์ถูกยิงจนเสียชีวิต เศร้าไม่รู้จะเศร้าอย่างไร แต่คนที่อยู่ก็ต้องทำหน้าที่กันต่อไป"
ครูพุทธรายนี้ เล่าต่ออีกว่า ความลำบากเรื่องอื่นพอทนได้ แต่เรื่องความปลอดภัยต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ
"เราต้องพยายามไม่ไปไหน ออกจากบ้านก็ไปแต่ที่โรงเรียน หาของกินในโรงเรียน ไม่ไปอยู่ในที่ที่มีคนเยอะๆ ที่บ้านอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เคยมีไฟฟ้าใช้แค่วันละ 2 ชั่วโมง แต่ก็ทนได้ อยู่ได้ ผิดกับเวลามีเรื่องที่ส่งผลต่อความรู้สึก โดยเฉพาะครูหรือเด็กถูกทำร้าย ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้จะเศร้าจนหมดแรง บางครั้งก็น้ำตาไหล"
"ถามว่าทนอยู่ทำไมที่นี่ ขอตอบเลยว่าเราไม่มีทางเลือก เราไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่พนักงาน เป็นแค่ครูอัตราจ้าง (ทำสัญญาจ้างชั่วคราวปีต่อปี) ไม่มีทางเลือกมากกว่าอดทนอยู่ต่อไป หรือจนกว่าจะมีครูคนอื่นยอมย้ายมาทดแทนกัน"
ครูพุทธในพื้นที่สีแดง เผยความรู้สึกต่ออีกว่า ไม่มีใครหรอกที่อยากมาอยู่ในพื้นที่แบบนี้ แม่ก็ถามตลอด บอกตลอดว่าที่นี่น่ากลัว ให้กลับไปอยู่บ้าน
"เราบอกแม่ว่ากลับบ้านเมื่อไรก็ได้ จะอยู่เฉยๆ เมื่อไรก็ได้ แต่ตอนนี้เด็กต้องการครู ตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงมา หลายโรงเรียนขาดครู เพราะครูอัตราจ้างอย่างเราลาออก ผลกระทบเกิดขึ้นกับเด็กแน่นอน ด้วยเหตุผลนี้เราจึงไม่อยากทิ้งเด็กๆ ไปไหน"
"ถ้าถามว่าวันครูอยากได้อะไร ก็อยากให้สงบนะ อยากให้มีเสียงหัวเราะ มีการแบ่งปันช่วยเหลือกัน ไม่มีความหวาดระแวง ไม่มีความหวาดกลัว ไม่ต้องมีขีดจำกัดในการใช้ชีวิต คิดว่าทุกคนต้องการแบบนี้ และยังมีความหวังว่าที่นี่จะสงบ"
ด้านครูมุสลิมในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส บอกว่า สิ่งที่ต้องการในวันครู คือ ขอให้ครูที่อยากย้ายตัวเองออกจากพื้นที่ สามารถย้ายออกไปได้โดยไม่มีข้อจำกัดของครูอัตราจ้าง อยากให้กระทรวงศึกษาธิการปลดล็อคตรงนี้
"ต้องให้สิทธิกับครูพุทธที่เป็นครูอัตราจ้าง เพราะเท่าที่ทราบมีครูพุทธหลายคนต้องการย้าย แต่ไม่มีคู่เปลี่ยน ขอให้กระทรวงศึกษาฯดูแลครู กลุ่มนี้ด้วย"
ครูมุสลิมรายนี้ยังบอกอีกว่า รัฐควรดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตให้มากกว่าเดิม เช่น ราคายางพารา ราคาสินค้า ราคาพืชผลทางการเกษตร เพราะ ครูหลายคนในพื้นที่ต้องหารายได้เสริม ไปกรีดยาง ค้าขายก่อนมาสอน หรือไม่ก็ช่วงเย็นก่อนกลับบ้าน เพราะรายได้จากการเป็นครูไม่เพียงพอ สวัสดิการหรือเงินเสี่ยงภัยก็ใช่ว่าจะได้รับต่อเนื่องหรือได้กันทุกคน
"อยากขอสวัสดิการ ขอเงินเสี่ยงภัยเพิ่ม เราขอมาทุกปีแต่ไม่เคยได้ ช่วงที่ครูถูกทำร้ายก็ถามกันทุกครั้ง บางครั้งครูไม่ขอยังบอกด้วยว่าจะให้ แต่พอเวลาผ่านไป ทุกอย่างก็หายไปกับกาลเวลา ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับครูเลยนอกจากการรอคอย"
ครูพาตีเมาะ จินตรา ครูโรงเรียนบ้านกาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า ของขวัญวันครูที่อยากได้ คืออยากให้ครูปลอดภัย อยากให้พื้นที่มีความสงบสุข ไม่อยากให้มีการยิงกันตาย ไม่อยากให้มีความสูญเสีย 11 ปีที่ผ่านมาทุกคนได้บทเรียนมามากพอแล้ว ควรหยุดได้แล้ว
ครูรอฮานา กามา ครูโรงเรียนบ้านกาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา บอกว่า ครูทุกคนอยากสอนเด็กๆ ให้เป็นคนที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันครูเองก็อยากมีความปลอดภัย ครูอยากมีเงินเดือนที่เพียงพอกับรายจ่าย อยากมีความสงบสุขปลอดภัยในการเดินทางไปสอน เดินทางเข้าออกโรงเรียน ได้สอนลูกศิษย์อย่างเต็มที่ แต่ทุกวันนี้พื้นที่ไม่ปลอดภัย ครูต้องไปโรงเรียนสาย เด็กต้องขาดครูในบางห้อง บางวิชา บางวันครูมาช้า เด็กก็ต้องรอครู วันไหนที่เกิดเหตุร้าย ครูก็ต้องหยุดเรียน นี่คือความเป็นไปของครูและเด็กที่นี่ กลายเป็นพื้นที่ไม่ปกติ
ทั้งหมดนั้นเป็นเสียงของ "ครูน้อย" ขณะที่ครูใหญ่ระดับผู้อำนวยการโรงเรียนอย่าง ครูวันเพ็ญ จิวัฒนาชวลิตกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะลือซง ต.มูโน๊ะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า หลังมี "ทุ่งยางแดงโมเดล" มีกำลังภาคประชาชนร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทำให้มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น อุ่นใจขึ้น แต่สำหรับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลก็ยังน่ากลัวอยู่ ยังมีความเสี่ยงอยู่
สำหรับคนที่ต้องเดินทาง โดยเฉพาะครูที่เป็นคนพุทธ ก็ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น
"นอกจากหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ทำอยู่ ก็ได้มีโอกาสร่วมกับเพื่อน ผอ.ลงพื้นที่ให้กำลังใจชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ถือเป็นกำลังใจที่มอบให้กันในยามยาก" ครูวันเพ็ญ บอก
ในโอกาสที่วันครูเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ใครๆ ก็รู้ว่าครูเป็นข้าราชการที่ติดหนี้มากที่สุด ทั้งๆ ที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการพัฒนาคน พัฒนาประเทศมากที่สุด ฉะนั้นรัฐจึงควรเหลียวแลครูชายแดนใต้มากขึ้น ทั้งเรื่องสวัสดิการ กำลังใจ และความปลอดภัย
อย่าให้รออย่างไร้ความหวังเพียงอย่างเดียว!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ครูชายแดนใต้กำลังสอนนักเรียน (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)