ขอสังคมตาสว่าง! “วิชา”ยันนับหนึ่งปรองดองต้องถอดคนปฏิปักษ์ต่อชาติ
“…กระบวนการต้องดำเนินการตามกฎหมาย จะยุติหรือสิ้นสุดลงตามใจชอบไม่ได้ เมื่อเดินต้นทางโดยอาศัยกฎหมาย และวิถีทางแห่งกฎหมายแล้ว จะบอกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. โปรดยุติในเรื่องเหล่านี้ เพราะขัดปรองดอง ผมเรียนว่า นั่นมิใช่หลักปรองดองแต่เป็นหลักอำเภอใจ…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอบข้อซักถามของกรรมาธิการ (กมธ.) ซักถามฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบ
----
กมธ.ซักถามฯ : แนวคำถามจาก พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. และนายสมชาย แสวงการ ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า นายนิคม มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นเหตุให้ต้องถูกถอดถอนตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ประกอบ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 นั้น
ในสภาวะที่ประเทศกำลังอยู่ในห้วงการปฏิรูป และต้องการความสามัคคีของชาวไทยอุปสรรคต่อการปฏิรูป และการปรองดองหรือไม่ อย่างไร ?
นายวิชา : ในประเด็นเรื่องการปรองดองที่ถูกมองว่าเป็นหลักสำคัญในการยึดอำนาจหรือไม่ เรียนว่า ในการดำเนินคดีนี้ รวมทั้งการส่งเรื่องมายัง สนช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรองดองในชาติเป็นหลัก เพราะเราเผชิญหน้ากับการไม่ปรองดองอย่างรุนแรง
ตั้งแต่เราดำเนินคดีทางการเมืองหนัก ๆ เราก็โดนความไม่ปรองดองถล่มเข้าให้ทุกรูปแบบ ถึงแม้ขณะนี้ยังมีการไม่ยอมรับว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการโดยชอบหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ แต่เรียนว่า หลักการปรองดองต้องลืมหลักสำคัญอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญที่สุด และจะต้องให้ประชาชนทั้งหลายได้มองเห็นถึงหลักนี้ชัดเจน มิใช่เป็นเพียงภาพลวงตาหรือภาพมายา นั่นคือ หลักนิติรัฐ-นิติธรรม นั่นเอง
กล่าวคือกระบวนการต้องดำเนินการตามกฎหมาย จะยุติหรือสิ้นสุดลงตามใจชอบไม่ได้ เมื่อเดินต้นทางโดยอาศัยกฎหมาย และวิถีทางแห่งกฎหมายแล้ว จะบอกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. โปรดยุติในเรื่องเหล่านี้ เพราะขัดปรองดอง ผมเรียนว่า นั่นมิใช่หลักปรองดองแต่เป็นหลักอำเภอใจ
ท่านเซอร์รัดยาร์ด คิปลิง ซึ่งเป็นผู้แต่งนิทานเรื่องเมาคลี ได้กล่าววาทะที่สำคัญอันหนึ่ง ซึ่งจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า “หากจะอยู่ภายใต้บารมีของผู้ใด ข้าพเจ้าขออยู่ภายใต้บารมีแห่งกฎหมาย อย่าอยู่ภายใต้บารมีของผู้คนเลย” เพราะอะไร เพราะผู้คนมีอารมณ์มีความรู้สึกแตกต่างกัน ไม่อาจลงรอยด้วยกัน
แต่ถ้าพูดถึงกฎหมายมันมีเจตนารมณ์อยู่ อย่างที่เห็นได้จากกระบวนการที่เห็นวันนี้ ดำเนินการตามร่องรอยกฎหมาย ไม่ได้ทำตามอำเภอใจ แม้ว่าในขณะไต่สวน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เราจะบอกว่า เราไม่อาจได้ไฉน เพราะว่าคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ไม่อาจบิดเบือนหลักอันนี้ได้เลย
เพราะฉะนั้นองค์กรในตามรัฐธรรมนูญ ยิ่งต้องถือหลักนี้โดยเคร่งครัด ธงนำของการไต่สวนจึงต้องดำเนินต่อไป และไปสู่จุดหมายปลายทาง ส่วนจะยุติโดยถอดถอนหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจอันถือได้ว่าขึ้นอยู่กับ สนช. ในฐานะเป็นผู้แทนประชาชนชาวไทย ที่ต้องทราบไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่แม้ชั่วคราวแต่ก็ศักดิ์สิทธิ์
กระบวนการชี้มูลความผิดถอดถอนบุคคลที่ปฏิปักษ์ต่อชาติ และประชาชน ตัดสิทธิ์ทางการเมืองนี้ ได้พิจารณาตระหนักแล้วเห็นว่า ในที่สุดจะก่อให้เกิดแนวทางให้เกิดความปรองดอง ยิ่งเสียกว่าการวางเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ หากไม่เริ่มต้นนับหนึ่งกรณีการถอดถอน
เท่าที่ผ่านมา เรียนว่า เราก็ได้ดำเนินการมาแต่ว่า ในสภาซึ่งขณะที่ยังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ยังไม่ยึดอำนาจ ค่อนข้างจะยากเข็ญอย่างยิ่ง ผมได้ทำคดีถอดถอนมาหลายเรื่อง ไม่เคยสามารถได้คะแนนเสียงถอดผู้คนเลย แสดงให้เห็นว่า กระบวนการเท่าที่ผ่านมา ไร้ซึ่งกระบวนการบังคับใช้อย่างจริงจัง
ผมจึงคิดว่า มีความหวังอย่างยิ่งกับสภาแห่งนี้ จะพิจารณาโดยตระหนักที่แยกระหว่างความปรองดอง หรือที่ต้องถือหลักนิติรัฐ-นิติธรรม เพื่อแก้ปัญหาของชาติที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน
การถอดถอนนักการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล จะส่งผลให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างยิ่ง มีมาตรฐานการประพฤติของบุคคล มีสูงกว่าบุคคลธรรมดา อย่างที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์
อ่านประกอบ : “นิคม-สมศักดิ์”ปัดไม่รู้ปมเสียบบัตรแทนกัน อ้างถ้าจริงก็ผิดเฉพาะบุคคล
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายวิชา จาก thairath