อืด! บ.อัคราฯ ยังไม่ปิดเหมืองทองพิจิตร 30 วัน ตามคำสั่ง กพร.
‘หมอพรทิพย์’ เผย บ.อัคราฯ ยังไม่หยุดกิจการเหมืองทอง หลังสุ่มพบโลหะหนักปนเปื้อนร่างกายชาวบ้าน ตามคำสั่ง กพร. ระบุยินดีลงพื้นที่ตรวจเหมืองและคนงาน หากรัฐขอความร่วมมือ ‘ผู้ว่าฯ พิจิตร’ เตรียมชงของบฯ กองทุนประกันความเสี่ยงฟื้นฟูเยียวยา คาดภายในสัปดาห์หน้า
ภายหลังนายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ อก 0508/133 ลงวันที่ 13 มกราคม 2558 ถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ให้หยุดประกอบกิจการโลหกรรมไว้ชั่วคราว 30 วัน ทันทีที่สุ่มตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกายของชาวบ้าน ทั้งนี้ ให้หาสาเหตุผลกระทบด้านสุขภาพดังกล่าวเกิดจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ หรือไม่ และรายงานผลการดำเนินการให้ กพร. ทราบ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม อาจนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต
ทั้งนี้ บริษัท อัคราฯ สามารถยื่นอุทธรณ์หรือโต้เเย้งคำสั่งดังกล่าวต่ออธิบดี กพร. ภายใน 15 วัน นับเเต่วันที่ได้รับเเจ้งหนังสือฉบับนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ถึงความคืบหน้าล่าสุด โดยเปิดเผยว่า เพิ่งได้รับหนังสือจาก กพร.ให้แจ้งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท อัคราฯ และปฏิบัติเป็นไปตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะเร่งประสานต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่ทราบว่า เหมืองทองหยุดประกอบกิจการแล้วหรือไม่
สำหรับกรณีเตรียมของบประมาณจากกองทุนประกันความเสี่ยงมาฟื้นฟูเยียวยาเบื้องต้น ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า จะยื่นเรื่องให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า และเข้าไปชี้แจงด้วยตัวเอง เพื่อนำงบฯ มาแก้ไขผลกระทบจากโลหะหนักปนเปื้อน ทั้งในแหล่งน้ำ ผลผลิตทางการเกษตร และร่างกาย ส่วนจะได้รับการอนุมัติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ
ด้านพญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่า จากการสุ่มตรวจเจาะเลือดเพื่อหาสารโลหะหนักปนเปื้อนในร่างกายของชาวบ้าน 732 คน อาศัยโดยรอบเหมืองทองคำ ทั้งใกล้และไกล ติดและไม่ติดแหล่งน้ำ ล้วนพบเกินค่ามาตรฐาน แต่บางคนได้รับเฉพาะสารหนู บางคนได้รับสารหนูและแมงกานีส อย่างไรก็ตาม ตอบไม่ได้ว่าสารเหล่านี้มีอันตรายมากเพียงใด เพราะเพิ่งตรวจได้ครั้งเดียว
“ผลที่พบมากกว่านั้น คือ ครอบครัวเดียวกัน บางครั้งมีสารโลหะหนักปนเปื้อนเกินมาตรฐานในร่างกายเฉพาะลูก แต่แม่กลับไม่พบ ดังนั้น ในทางวิทยาศาสตร์ก็ต้องศึกษาจากปัจจัยเสี่ยงที่ลูกมีไม่เหมือน นั่นคือ โรงเรียน ทั้งนี้ ข้อมูลยังไม่ชัดเจน” ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าว
เหตุใดจึงเชื่อว่าอาจเกิดจากการประกอบกิจการเหมืองทอง พญ.คุณหญิง พรทิพย์ กล่าวว่า สารแมงกานีสจัดอยู่ในกลุ่มโลหะหนักมักอยู่ใต้พื้นโลก ไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีการนำทรัพยากรใต้ดินขึ้นมา จึงสันนิษฐานเป็นไปได้หรือไม่
ส่วนสารหนู ไม่มีใต้พื้นโลกแน่นอน แต่เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองทอง ฉะนั้นจากข้อเท็จจริงทั้งหมดจึงนำมาสู่การตั้งประเด็น ทั้งนี้ แม้จะไม่มีสาเหตุมาจากการประกอบกิจการเหมืองทอง แต่เมื่อพบสารปนเปื้อนในร่างกายเกินมาตรฐานก็ต้องเร่งแก้ไข หากไม่ทำอะไรเลย น่าจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยังกล่าวถึงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลอีกครั้งหนึ่งว่า เรายินดีเข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เหมืองและคนงานเหมืองทั้งหมด แต่เมื่อมีคำสั่งจาก กพร.ให้บริษัท อัคราฯ หยุดประกอบกิจการชั่วคราว และให้พิสูจน์ตัวเองตามสิทธิ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ยกเว้นหน่วยงานภาครัฐขอความร่วมมือมา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการหยุดประกอบกิจการใด ๆ
“การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องไม่จำกัดเฉพาะกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องเกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ยุติธรรม และมหาดไทย” พญ.คุณหญิง พรทิพย์ กล่าว และว่านายกรัฐมนตรีต้องทบทวนนโยบายอนุมัติเปิดพื้นที่เหมืองแร่ใหม่ หากกระบวนการนี้กระทบต่อประชาชนและทรัพยากรของแผ่นดิน
สุดท้าย แม้ปัญหาครั้งนี้จะไม่ได้มีสาเหตุมาจากการประกอบกิจการเหมืองทอง แต่เมื่อตรวจพบสารเกินค่ามาตรฐานก็ควรกำหนดมาตรการเร่งด่วน เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตคนไทย .
ภาพประกอบ:www.thaingo.org