ฟื้นกองทุนการออมฯ ความหวังใหม่แรงงานนอกระบบ
"ถ้าประชาชนได้สิ่งนี้เป็นของขวัญ ไม่ต้องไปออกกฎหมายใหม่ เพียงแต่บังคับใช้กฎหมายเท่านั้นก็จะสร้างหลักประกันของสังคมผู้สูงอายุ"
สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีคนวัยชรามากกว่าวัยหนุ่มสาว อาจเป็นไปตามวิถีสังคมส่วนใหญ่ของโลกที่บัดนี้หลายประเทศเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุ
โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ส่วนในเอเชียที่เห็นชัดคือประเทศญี่ปุ่น แต่ในประเทศเหล่านั้นมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ เช่นในสังคมตะวันตก ที่เป็นสังคมครอบครัวเล็ก พอลูกโตขึ้นก็จะแยกไปมีครอบครัว พอถึงคราวพ่อแม่แก่ชรา ก็มีโรงเลี้ยงคนแก่
แม้ในเอเชียอย่าง “ญี่ปุ่น” ดินแดนอาทิตย์อุทัย ก็ยังมีสวัสดิการที่รองรับคนวัยชรา
สอดรับกับการเป็นรัฐสวัสดิการของประเทศเหล่านั้นทำให้ทั้งคนวัยทำงาน – วัยกลางคนมีการเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยชราที่ถูกต้อง หรือ บรรดาคนที่มีอายุอานามในบั้นปลายแล้วสามารถฝากชีวิตไว้กับระบบสวัสดิการของรัฐได้ พร้อมกับการปลูกฝังให้คนรู้จักเก็บ รู้จักออมตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมีรัฐสนับสนุน
หากแต่ของไทยที่สังคมเข้าสู่ภาวะสังคมวัยชราเร็วเกินคาด ทั้งที่ยังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา และมิได้เป็นรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ
ในวาระที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้ทุกกระทรวงต้องมีของขวัญมอบให้แก่ประชาชน ตามโรดแมป “คืนความสุข”
“นพ.พลเดช ปิ่นประทีป” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จึงใช้โอกาสนี้ขอของขวัญจากรัฐบาลบ้าง “อยากให้รัฐบาลประกาศสร้างหลักประกันสังคมผู้สูงวัย โดยฟื้นกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 พร้อมกับสร้างวินัยการออมของคนไทยไปพร้อมๆ กัน เป็นการออมเพื่อเกษียณอายุ ครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบ แรงงานเกษตร อาชีพอิสระต่างๆ ที่ไม่มีนายจ้างก็สามารถร่วมโครงการประกันสังคมได้ ซึ่งประชากรกลุ่มนี้มีมากถึง 24.6 ล้านคน”
นพ.พลเดช อธิบายว่า วิธีการก็ง่าย เพราะมี พ.ร.บ.การออมฯ อยู่แล้ว แต่ถูกรัฐบาลชุดที่ผ่านมาบล็อกไว้ หาทางพยายามยกเลิกกฎหมายด้วยซ้ำ แต่ถูกภาคประชาชนฟ้องร้องว่าเป็นรัฐบาลไม่ทำตามกฎหมาย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
"เขาก็สู้อยู่ เพราะในตอนแรกกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการสรรหาบุคคลที่จะทำหน้าที่ผู้บริหารเรียบร้อยแล้ว
พอรัฐบาลเปลี่ยนขั้วปั๊บก็เลิกเลย กลัวเป็นผลงานของรัฐบาลเก่า กลัวเสียแต้ม แบบนี้เป็นการเอาเหตุผลของการต่อสู้ทางการเมืองมาแทนที่ผลประโยชน์ของประชาชนที่เป็นตัวตั้งแม้ขณะนั้นมีการก่อตั้งกลไก มีบุคลากรหมดแล้ว มีค่าใช้จ่ายไปแล้ว 300 - 400 ล้านบาทก็สูญเปล่า
แต่พอผ่านไปแล้ว รัฐบาล คสช.น่าจะจับตรงนี้ ดังนั้น ถ้าประชาชนได้สิ่งนี้เป็นของขวัญก็จะเป็นประโยชน์มาก ไม่ต้องไปออกกฎหมายใหม่ เพียงแต่บังคับใช้กฎหมายเท่านั้นก็จะสร้างหลักประกันของสังคมผู้สูงอายุ เพราะขณะนี้สังคมผู้สูงอายุมาแน่นอน มาเร็วกว่าปกติ"
สิ่งที่น่าหนักใจ สังคมสูงอายุจะมากขึ้นแ คนจะอายุยืนขึ้น และผู้สูงอายุก็ไม่มีรายได้ คนที่เคยมีรายได้ก็เกษียณไปแล้ว เงินเกษียณก็รายได้น้อยกว่าปกติมาก แล้วเด็กๆ รุ่นลูก ที่เติบโตขึ้นมามีงานทำก็ต้องรับภาระแบกต่อไป
นพ.พลเดช เปรียบเทียบว่า ในสมัยก่อนลูก 7 คน รับภาระดูแลคนแก่ 1 คน แต่วันนี้มันลดน้อยลงเหลือประมาณ 2 ต่อ 1 ซึ่งเป็นภาระมาก เพราะปัจจุบันคนมีการวางแผนครอบครัว ทำให้กลายเป็นสังคมครอบครัวเล็ก
เมื่ออนาคตส่อแววว่าจะเป็นสังคมครอบครัวเล็ก ลูก 1 คน ดูแลทั้งพ่อและแม่ที่ชราลงทุกวัน ก็จะเป็นปัญหาหนักแก่ครอบครัวที่ดูแลไม่ได้ จากนั้นภาระก็ตกอยู่ที่รัฐบาลต้องจัดการเรื่องภาษี
“หากเราทำเรื่องการออมตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะมีเงินออมก็คือเงินของเขาเอง แต่รัฐเอามาสมทบ ก็จะลดภาระลงไปเยอะ”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีเตรียมจะพิจารณาสานต่อโครงการ กอช. ทว่า นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ได้ดึงวาระดังกล่าวออกจากวาระการพิจารณา ก่อนคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้ขยายวันรับสมัครเข้าผู้เข้ารับการประกันตนตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมออกไป
“เรื่องนี้จ่อที่วาระการประชุม ครม.แล้ว แต่ไม่รู้ว่าอะไรไปเข้าหู รมว.คลัง จึงถอนเรื่องออกมาก่อน เพราะมีการขยายการประกันตนตามมาตรา 40 ออกไป คนก็แห่ไป แล้วคนแห่ไปมีเงื่อนไขว่า คนที่เกษียณอายุราชการยังได้เลย พอสมัครไปแล้วเลิกออกก็ได้เงินมาฟรี ๆ ขี้โกง ไปขยายมาตรา 40 เป็นการขยายแบบเจ้าเล่ห์
การขยายตรงนั้นจะมีคนเข้ามาเข้าโครงการประกันตนตามมาตรา 40 พอคนแห่ไปตรงนั้นก็เกิดภาพลวงตา รมว.คลังอาจเห็นว่า คนไปเข้าเยอะแล้วไม่ต้องตั้งกองทุน กอช.แล้ว ก็อยากจะบอกว่า โครงการตามมาตรา 40 นั้นรับคนเต็มที่ที่สุดคือ 1.5 ล้านคน เพราะยังไปไม่ถึงเกษตรกรกับแรงงานนอกระบบ แต่ กอช.สามารถรองรับได้ถึง 24.6 ล้านคน”
นพ.พลเดช จึงผลักดันเรื่องดังกล่าวผ่านทาง 250 อรหันต์ปฏิรูปประเทศ “สปช.ได้เอาเรื่องนี้เป็น quick win (เรื่องเร็ว) นำเสนอใน สปช.ได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้น 212 ต่อ 0 เสียง”
เรื่อง “การออม” เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย คนไทยที่ไม่ค่อยมีวินัยทางการออม สะท้อนจากหนี้ภาคครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี ภาระค่าใช้จ่ายจึงหมดไปกับกิจกรรมในปัจจุบันมากกว่าการเก็บหอมรอมริบในอนาคต
การมี กอช. อาจเป็นทางออกหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ยามแก่เฒ่า .
ภาพประกอบ:www.hfocus.org