ม.บูรพาขึ้นเว็บไฟเขียวชื่อนศ.แต่งข้ามเพศรับปริญญา หวั่นละเมิดสิทธิ์
นิสิตม.บู เผยสถาบันแจ้งชื่อรับสิทธิแต่งกายข้ามเพศรับปริญญาในเว็บไซต์ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ระบุเป็นช่องทางติดต่อทราบผลพิจารณา นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งฯ ชวนวิเคราะห์ 2 มุม ไม่ฟันธงละเมิดหรือไม่
สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยบูรพาแจ้งรายชื่อนิสิตรับอนุมัติแต่งกายข้ามเพศในงานพระราชทานปริญญาบัตร ปีการศึกษา 2556 ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย จำนวน 8 คน ซึ่งถูกสังคมตั้งคำถามว่า การเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะอาจไม่เหมาะสมและกระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชนได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์หนึ่งในนิสิตข้ามเพศที่ได้รับการอนุมัติครั้งนี้ โดยนิสิต ระบุว่า การประกาศรายชื่อดังกล่าวมิได้กระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชนเลย แต่ช่วยให้เกิดการสื่อสารที่ดีระหว่างกันมากกว่า เพราะนิสิตจะได้ทราบผลการพิจารณาผ่านหรือไม่ จะได้ไม่รู้สึกกังวล ทั้งนี้ มีนิสิตบางคนไม่ผ่านการพิจารณาด้วย ที่สำคัญ เป็นเว็บไซต์ภายใน จึงไม่จำเป็นต้องคิดว่าจะละเมิด
ส่วนเหตุใดมหาวิทยาลัยไม่แจ้งเป็นจดหมายหรือโทรศัพท์ นิสิตรายนี้ กล่าวว่า ข้อมูลที่ให้กับมหาวิทยาลัยไว้ ยกตัวอย่าง เบอร์โทรศัพท์ อาจเปลี่ยนแปลงภายหลังได้ ทำให้ส่งผลให้ติดต่อกันลำบาก เพราะไม่ใช่ทุกคนจะใช้เบอร์โทรศัพท์เดิม เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาหลังจบจนถึงรับปริญญาร่วม 1 ปี
“การอนุมัติของมหาวิทยาลัยบูรพาให้นิสิตแต่งกายข้ามเพศเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงการพัฒนาการยอมรับในสถาบันการศึกษาที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะเพศชายและหญิง” นิสิต กล่าว และว่า ผู้ขอรับการพิจารณาต้องได้รับการตรวจทางจิตเวชอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งส่วนตัวได้ยื่นไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556
ด้านนายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการอนุมัติให้นิสิตนักศึกษาแต่งกายข้ามเพศเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน 100% เพราะมนุษย์มีสิทธิในการเลือกเพศได้ และชี้ให้เห็นว่า สังคมเจริญเติบโตในแง่การยอมรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ซึ่งความจริงไม่มีการออกกฎหมาย เพียงเป็นนโยบายของสถาบันการศึกษา ทั้งนี้ แม้ไม่อนุญาตก็ไม่มีความผิด เพียงแต่ระยะหลังอนุโลมกันมากขึ้น
ส่วนการประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติแต่งกายข้ามเพศในเว็บไซต์ของสถาบันการศึกษา นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งฯ ระบุมองได้ 2 มุม คือ 1.คนกลุ่มหนึ่งมองว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการจับเเยกกล่องกัน ทำไมไม่ส่งหนังสือแจ้งทราบเป็นการส่วนตัว มิฉะนั้นจะถือเป็นการแยกออกจากความเป็นชายหญิง และทำให้พวกเขารู้สึกถึงความไม่เสมอภาคทางเพศและถูกตีตรา
2.คนอีกกลุ่มหนึ่งจะมองเป็นเรื่องที่ดี เพราะการแจ้งผ่านเว็บไซต์ของสถาบันการศึกษานั้น แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชนที่เข้มข้นขึ้น ชี้ชัดให้สังคมชายหญิงเห็นว่า เวลานี้มหาวิทยาลัยอนุญาตให้แต่งกายข้ามเพศรับปริญญาแล้ว สังคมจะรับรู้ถึงการพัฒนาทางด้านความคิดไปสู่อีกจุดหนึ่ง เพื่อให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศมีที่ยืนในสังคมเหมือนชายหญิงทั่วไป ดังนั้นสองมุมมองที่กล่าวขึ้นจะขัดแย้งกันแบบนี้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อ ผศ.ดร.สหัทยา รัตนะมงคลกุล รักษาการผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งได้รับคำตอบว่า จะขอชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรในประเด็นการแจ้งรายชื่อนิสิตได้รับอนุมัติแต่งกายข้ามเพศในงานพระราชทานปริญญาบัตร ปีการศึกษา 2556 บนเว็บไซต์สถาบัน ส่อขัดหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ อีกครั้งหนึ่ง .