แถลงการณ์พูโล บอกอะไรเรื่องไฟใต้และการพูดคุย
ดูจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้ที่ได้อ่านและรับทราบถึงแถลงการณ์ขององค์การพูโลพอสมควร
กรณีองค์การพูโล (Patani United Liberation Organisation : PULO) ออกแถลงการณ์ตอบโต้ หลังมีรายงานข่าวทางศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา และสื่อกระแสหลักบางแขนงว่า พูโลเตรียมจัดกิจกรรมที่ประเทศเยอรมนีในวาระครบรอบ 47 ปีของการก่อตั้งองค์กร ด้วยการเชิญชวนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมการประชุมที่เรียกว่า "ยูนิตี้ ทอล์ค" ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ นัยว่าเป็นการแสดงเอกภาพและความพร้อมของ "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" (โดยมีพูโลเป็นเจ้าภาพ) ในห้วงเวลาใกล้เปิดโต๊ะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบใหม่เต็มที
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวนี้ในฐานะที่ "พูโล" เป็นหนึ่งในขบวนการที่อ้างอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานี หรือแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกจากรัฐไทย แต่ต่อมาพูโลออกแถลงการณ์ปฏิเสธ โดยคำแถลงพุ่งตรงถึงศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา
เนื้อหาของแถลงการณ์มีดังนี้
"เราขอขอบคุณที่ช่วยในการตีพิมพ์เกี่ยวกับการประชุมครบรอบ 47 ปีของพูโลที่จะมีขึ้นในยุโรปอีกไม่นาน เพียงแต่เราต้องการทราบว่า อะไรคือเป้าหมายเบื้องหลังของการเผยแพร่ข่าวสารในครั้งนี้ แต่ถ้าเพียงแค่ต้องการให้เกิดความหวาดกลัวในกลุ่มพวกเรา แน่นอนที่สุดมันไม่มีทางสำเร็จ แต่มันจะทำให้เพิ่มความคึกครื้น
หากเพียงต้องการใส่ร้ายว่าการพบปะกันในครั้งนี้มีการช่วยเหลือจากรัฐไทย เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง และหากต้องการที่จะให้เราเกิดการขัดแย้งหรือกัดทะเลาะกันเองในระหว่างกลุ่มอื่นๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะว่ากลุ่มขบวนการปาตานีต่างๆ มีอายุยาวนานและประสบการณ์ เรารู้ดีว่าและเชื่อว่าใครอยู่เบื้องหลังการตีแผ่ข่าวสารในครั้งนี้"
หลังมีแถลงการณ์ออกมา มีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดียจากผู้ที่สนใจข่าวสารชายแดนใต้ทำนองว่า "พูโลโต้ข่าวอิศรา" ต่อมา พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ออกมาชี้แจงประมาณว่า ไม่ทราบที่มาที่ไปของข่าวการจัดประชุมของพูโล (และมีสื่อบางแขนงอ้างว่าโฆษก กอ.รมน.ระบุว่าข่าวนี้เป็นแค่ "ข่าวลือ" แต่ในเนื้อหาที่เป็นข่าวจริงๆ ไม่มีคำว่า "ข่าวลือ")
ในฐานะที่ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวนี้ตั้งแต่ต้น (และได้เสนอข่าวแถลงการณ์ของพูโลด้วย) อยากชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้
1.แถลงการณ์ของพูโลไม่ได้ปฏิเสธข่าวการจัดกิจกรรมในวาระ 47 ปีขององค์กร และไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการจัดประชุม "ยูนิตี้ ทอล์ค"
2.สิ่งที่พูโลปฏิเสธจริงๆ คือ ข่าวที่อ้างว่ามีการติดต่อประสานงานและพบปะกันอย่างลับๆ ระหว่าง นายกัสตูรี่ มาห์โกตา ประธานกลุ่มพูโล กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐหน่วยหนึ่งของไทยที่อินโดนีเซีย จนเข้าใจได้ว่านำมาสู่การจัดประชุม "ยูนิตี้ ทอล์ค" โดยมีพูโลเป็นเจ้าภาพประสานกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่มเข้าร่วม
เพราะที่ผ่านมาแม้มีการ "คิกออฟ" เตรียมเปิดโต๊ะพูดคุยสันติสุขรอบใหม่แล้ว หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.57 แต่ผ่านมาราวเดือนครึ่ง ทุกอย่างยังนิ่ง
รัฐบาลไทยโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ พูดชัดเจนว่าปัญหาอยู่ที่ "เอกภาพ" ของกลุ่มผู้เห็นต่าง การจัดประชุมครั้งนี้จึงน่าจะเพื่อแก้ปัญหาเรื่องเอกภาพ และน่าจะมีหน่วยงานรัฐบางหน่วยของไทยช่วยประสานงานหรือให้การสนับสนุน
ข้อใหญ่ใจความของแถลงการณ์พูโล อยู่ที่ประเด็นในข้อ 2 ตามที่อธิบายมา โดยตั้งข้อสงสัยถึงแรงจูงใจในการนำเสนอข่าว ทำนองว่าต้องการสร้างความแตกแยกหวาดระแวงในกลุ่มขบวนการหรือไม่ โดยเฉพาะการที่ข่าวระบุถึงการพบปะกันระหว่างแกนนำพูโลกับเจ้าหน้าที่รัฐไทย ซึ่งแถลงการณ์บอกว่าเป็นการ "ใส่ร้าย"
จริงๆ แล้วก่อนนำเสนอข่าวนี้ ได้มีการตรวจสอบที่มาที่ไปของข่าวพอสมควร และมีภาพถ่ายการพบปะกันดังกล่าวระหว่างแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างคนสำคัญ กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐหน่วยหนึ่งของไทยด้วย ตามที่นำมาแสดงไว้ แต่ต้องพรางภาพ เนื่องจากเจ้าหน้าที่หน่วยนี้เดินทางไปหารือแบบ "ปิดลับ" แต่สาเหตุที่ภาพนี้มีน้ำหนัก ก็เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยในระดับพื้นที่
และมีข่าวว่าคณะเจ้าหน้าที่ที่ไปพบกับแกนนำผู้เห็นต่าง ถูกเรียกไปตำหนิเรียบร้อยแล้ว เพราะการไปแบบ "ไม่ลับจริง" จนกลายเป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้มาเลเซียไม่พอใจ ในฐานะที่มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการ
ฉะนั้นจะว่าไปแล้ว แถลงการณ์ของพูโลจึงเป็นการ "แก้เกี้ยว" มากกว่า "ตอบโต้" เพราะมีข่าวว่าทางการมาเลเซียเองก็ไม่พอใจแกนนำรายนี้ด้วย ขณะที่แกนนำของขบวนการที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐไทยก็ล้วนใช้มาเลเซียเป็นสถานที่พำนัก ตลอดจนเดินทางผ่านเข้า-ออกตลอดมา จึงถูกบีบถูกกดดันได้ทุกเวลา
การรีบตอบโต้ว่าการพบปะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเป็นการ "ใส่ร้าย" จึงกระทำไปเพื่อการนี้
บทสรุปของเรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ไม่ใช่แค่เพียงฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนเท่านั้นที่ไม่เป็นเอกภาพ แต่การเคลื่อนไหวของฝ่ายไทยเองก็มีปัญหาเดินคนละทิศละทางด้วยหรือเปล่า?
ที่สำคัญหากจะดำเนินการทางลับ ก็ขอให้ "ลับจริง" ซึ่งในโลกยุคโซเชียลมีเดียยังมีความลับอยู่ในโลกหรือไม่ เป็นเรื่องที่บอกยาก
แต่เมื่อมันไม่ลับเสียแล้ว จะโทษสื่อที่นำมาเสนอข่าวฝ่ายเดียวมันจะถูกหรือ?
เหมือนก่อนหน้านี้ มีการไปพบปะกับรองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย สำนักข่าวใหญ่ในอินโดฯเป็นผู้รายงานข่าว สื่อไทยเอามาแปลและนำเสนอ ปรากฏว่าผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงก็ต่อว่าสื่อไทย ซึ่งมันก็เป็นเรื่องแปลก เพราะเมื่อเป็นข่าวแล้วก็น่าจะชี้แจงว่าไปทำไมจะดีกว่าไหม
ครั้งนี้ก็เหมือนกัน มีภาพหลุดออกมา ภาคประชาสังคมในพื้นที่เขารู้ตั้งนานแล้ว แต่พอมีข่าว หน่วยงานรัฐกลับออกมาปฏิเสธตามเคย ทั้งๆ ที่ความเคลื่อนไหวของการพบปะพูดคุยเพื่อดับไฟใต้ เป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจใคร่รู้ เนื่องจากมีผลโดยตรงต่อความเป็นความตายของคนในพื้นที่ รวมทั้งกำลังพลของรัฐที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ด้วย
ส่วนพูโลจะพูดอย่างไร ก็เป็นเรื่องของพูโล เพราะเขาก็มีความจำเป็นของเขา...
ประเด็นจึงอยู่ที่ฝ่ายความมั่นคงของเราเองที่จะกำหนดวาระข่าว และทำให้เรื่องนี้โปร่งใสมากกว่า แต่ถ้ายังปิดลับและปฏิเสธอย่างเดียว ในขณะที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นจริงตามที่ปฏิเสธ ข่าวหลุดๆ รั่วๆ ของการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ คงไม่ใช่มีครั้งนี้ครั้งสุดท้าย!