สธ.เผยวิจัยต่างชาติ ยก 'ศูนย์เด็กเล็ก' คุณภาพ เเหล่งสร้างพัฒนาการเด็กดี
สธ.พบเด็กไทยมีพัฒนาการไม่สมวัยสูง 30% เร่งพัฒนาคุณภาพศูนย์เด็กเล็ก ผลวิจัยต่างประเทศพบเป็นแหล่งสร้างพัฒนาการเด็กดี
วันที่ 12 มกราคม 2558 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 12 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีระหว่างนักวิชาการด้านการแพทย์ สาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย ของบุคลากรเครือข่ายทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ
นพ.สมศักดิ์ เปิดเผยถึงปัญหาทางด้านสาธารณสุขทั่วโลกว่า มักพบเด็กเสียชีวิตในเวลาอันไม่สมควร ที่เรียกว่าอัตราทารกตาย คือ คลอดแล้วเสียชีวิตภายหลัง ขณะนี้ทั่วโลกพบเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เสียชีวิตลดจาก 13 ล้านคนในปี 2533 เหลือจำนวน 6.3 ล้านคนในปี 2556 ซึ่งประเทศไทยได้ผ่านเรื่องนี้มากว่า 40 ปี สามารถแก้ปัญหาเรื่องเด็กเสียชีวิตในวัยทารกได้มาก เทียบได้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว
"ปัญหาที่ไทยประสบปัจจุบันและเป็นปัญหาใหญ่ คือ พัฒนาการเด็ก ผลการสำรวจพบว่า เด็กไทยโดยเฉลี่ยมีพัฒนาการยังไม่สมวัยประมาณ ร้อยละ 30 ในภาพรวมถือว่าดีขึ้น แต่เป็นการดีขึ้นที่ช้ามาก" รมช.สธ. กล่าว
สำหรับพัฒนาการเด็กที่เกี่ยวข้อง นพ.สมศักดิ์ ยกตัวอย่าง ไอคิว อีคิว อารมณ์ จิตสำนึก จริยธรรม คุณธรรม เป็นพื้นฐานที่ผสมผสานหลายอย่าง พัฒนาการเด็กจึงเป็นจุดหมายที่สำคัญ อีกเรื่องหนึ่งคือ วัยรุ่น ต้องช่วยกันเลี้ยงดู การเรียนรู้ ซึ่งเชื่อมโยงกับเด็กปฐมวัย ให้มุ่งพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีอยู่
ทั้งนี้ ในหลายประเทศมีผลวิจัยพบว่า ถ้าดูแลเด็กอายุ 3-5 ปีได้ดี ก็จะสามารถทำให้เด็กเจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ การวิจัยนี้ยังพบว่าเด็กที่ไปอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีคุณภาพ ก็จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีได้
รมช.สธ. ยังกล่าวถึงการดูแลเด็กจะมี 3 ช่วงวัย ช่วงวัยแรกอายุ 1-3 ปี เน้นเรื่องการกระตุ้นเสริมสร้างพัฒนาการ โดยอาศัยโครงสร้างด้านระบบบริการสาธารณสุข และชุมชนท้องถิ่นมาช่วยกัน รวมทั้งครอบครัวด้วย
ช่วงวัยที่ 2 อายุ3-5 ปี เน้นการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งท้องถิ่นจะเป็นหลัก พ่อแม่ครอบครัวก็จะมาร่วมด้วย
ช่วงวัยที่ 3 คือช่วงวัยรุ่น เป็นความร่วมมือช่วยกันหลายฝ่ายทั้งด้านสังคม มหาดไทย เนื่องจากวัยนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ปัญหาต่าง ๆ จะเข้ามามาก ทั้งความรุนแรง ยาเสพย์ติด เพศสัมพันธ์ อุบัติเหตุจราจรด้วย
นอกจากนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขจะเชื่อมโยงการทำงานของทีมหมอครอบครัว เป็นนโยบายสำคัญ โดยทำงานระหว่างทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เฉลี่ย แห่งละ 3-4 คน โดยเฉลี่ยเจ้าหน้าที่ 1 คน ดูแลประชากร 1,500 คน ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน และมีทีมโรงพยาบาลชุมชนเข้าไปช่วยเสริม โดยจะสามารถทำให้เกิดการทำงานเชิงรุก
ถ้าพบปัญหาก็จะสามารถส่งตัวไปดูแลต่อ ได้อย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลเครือข่ายของหมอครอบครัว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์และในโรงพยาบาลทั่วไป เช่น แพทย์ นักจิตวิทยา เป็นต้น มารับรู้ปัญหาที่พบในชุมชน สามารถพูดคุยดูแลวางแผนร่วมกัน
"การดูแลเชิงรุกมีมากขึ้น หากครอบครัวใดมีปัญหา เขาจะไม่ลังเลที่จะบอกเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ที่เป็นหมอครอบครัวเข้าไปดูแล ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นอย่างมีระบบ ประสิทธิภาพและครบวงจรมากขึ้น โดยทีมหมอครอบครัวจัดขึ้นเพื่อดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัย ขณะนี้เริ่มจากการดูแลผู้สูงอายุก่อน โดยในปี 58 นี้ก็จะเริ่มลงไปที่เด็กด้วย" รมช.สธ. ทิ้งท้าย .
ภาพประกอบ:www.hfocus.org