ทำอย่างไรจึงจะได้ผู้แทนของปวงชนและป้องกันการปฏิวัติ
เนื่องจากขณะนี้กำลังร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศไทยเดินก้าวหน้าต่อไป แม้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะไม่ใช่การปกครองที่ดีที่สุด เพราะเป็นการใช้เสียงข้างมากปกครองประเทศ ซึ่งในบางขณะเสียงข้างมากก็มิได้กระทำถูกต้องเสมอไป
ระบบการปกครองที่ดีที่สุด คือ การปกครองในระบอบธรรมาธิปไตย แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ดังนั้น จึงเป็นที่ยอมรับว่าแม้การปกครองที่ดีที่สุดไม่อาจทำได้ ก็ควรใช้การปกครองที่ดีรองลงมา นั่นก็คือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็มีหลายรูปแบบ เช่น ระบอบประธานาธิบดี ระบอบรัฐสภา ระบอบกึ่งรัฐสภา ซึ่งประเทศไทยเราเลือกใช้ระบอบรัฐสภาซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ทั้งนี้การใช้รัฐธรรมนูญของไทยนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพราะระบบการเลือกตั้งของเราไม่ได้ผู้แทนปวงชนชาวไทยที่แท้จริง คือ ผู้แทนที่ได้ไม่เคยได้คะแนนเสียงถึงร้อยละห้าสิบของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งบางครั้งก็ไม่ยอมรับฟังเสียงประชาชนที่ไม่ยอมออกมาเลือกตั้ง แต่กลับยอมรับเสียงข้างน้อยที่มาเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนของปวงชนในจังหวัดนั้น ๆ (โดยกฎหมายให้การเลือกตั้งคนเดียวมีเสียงเกินร้อยละยี่สิบได้เป็นผู้แทนแล้ว)
นอกจากนั้นยัง ไม่ยอมรับคะแนนที่เกินกึ่งหนึ่งของสภาให้ทำการเปิดสภาได้ แต่ยอมรับเสียงข้างน้อยที่ยังไม่ยอมเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดไม่ให้เปิดสภา สิ่งเหล่านี้ขัดต่อหลักประประชาธิปไตย ทั้งการหาเสียงก็ไม่ยุติธรรมพรรคใหญ่เอาเปรียบพรรคเล็ก การหาเสียงก็มิได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายที่ตนเองหรือพรรคจะนำไปบริหารประเทศ กลายเป็นเรื่องใส่ร้ายป้ายสีกัน ทำให้มีคดีฟ้องร้องกันตามมาอย่างมากมาย
ดังนั้น การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในแต่ละประเทศก็ควรที่จะต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมของในแต่ละประเทศ การหาเสียงจะต้องพัฒนาให้เกิดความรู้แก่ประชาชน มิใช่เอามันหรือสะใจคนฟังเข้าไว้
หากเราสร้างระบบที่ยอมรับเสียงข้างมากของประชาชนที่แท้จริงได้ ก็จะแก้ระบบความไม่ยุติธรรมในสังคมได้ ผมจึงขอเสนอระบบการเลือกตั้งที่ป้องกันการซื้อเสียง การเสมอภาค และการยอมรับเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย และป้องกันการปฏิวัติในอนาคต ดังนี้
1. ผู้จะเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งและผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง
2. เมื่อได้ผู้แทนปวงชนเกินกว่ากึ่งของประเทศให้เปิดประชุมสภาได้
3. การประชุมต้องมีสมาชิกทั้งหมดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งของประเทศ
4. การลงคะแนนในสภาต้องใช้เสียงข้างมากของสมาชิกทั้งประเทศ มิใช่กึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มาประชุม
5. ถ้าการเลือกตั้งแห่งใดไม่สามารถได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งตามข้อ 1 ถึง 2 ครั้ง หากยังไม่ได้ผู้แทนก็ต้องยอมรับเสียงประชาชนว่าในท้องที่นั้นไม่มีผู้แทนที่ดีที่ประชาชนต้องการ ให้ถือว่าผู้สมัครดังกล่าวขาดคุณสมบัติในสมัยเลือกตั้งนั้น และให้งดการเลือกตั้งสมาชิกในเขตจังหวัดหรือท้องที่นั้นไว้ 6 เดือน แล้วจึงค่อยเลือกตั้งใหม่ ให้ทำเช่นนี้จนกว่าจะได้ผู้แทนของปวงชน เว้นแต่จะเหลือวาระของสมาชิกไม่ถึง 6 เดือน ก็ให้งดการเลือกตั้งไว้รอเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศ
6. การหาเสียงเลือกตั้งให้หาเสียงในทางเวที วิทยุ หรือโทรทัศน์ ตามที่ทางราชการจัดให้ โดยเท่าเทียมกัน
7.ให้ผู้สมัครที่สังกัดและไม่สังกัดพรรค จะต้องเสนอนโยบายที่จะใช้ในการบริหารประเทศ และให้เป็นหน้าที่ของทางราชการที่จะต้องพิมพ์แผ่นผับ แสดงรูป คุณสมบัติ เบอร์เลือกตั้ง และนโยบาย ของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด และกำหนดเวลา สถานที่ ที่จะให้ผู้สมัครหาเสียง ส่งให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน โดยเก็บเงินค่าโฆษณา จากผู้สมัครตามราคาที่ทางราชการสั่งพิมพ์ หากผู้สมัครคนใดไม่มีนโยบายในการบริหารประเทศให้ถือว่าขาดคุณสมบัติในการสมัครเป็นผู้แทน ทั้งนี้ ให้ส่งแผ่นไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน
8. กติกาในข้อ 1 ถึง 7 ให้นำไปใช้กับการเลือกตั้งทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การเลือกตั้งโดยทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดตัวแทนที่แท้จริงของปวงชน
การป้องกันการซื้อเสียง
การป้องกันการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ในทุกระดับควรมีการเลือกตั้งผู้แทนในระดับหน่วยย่อยก่อน แล้วนำผู้แทนของหน่วยย่อยมาให้ประชาชนทั้งเขตเลือกตั้งเป็นผู้แทนระดับจังหวัดหรือประเทศต่อไป เช่น การเลือกตั้ง ส.ส. ให้ผู้สมัคร ส.ส. ที่จะลงสมัครเป็น ส.ส. ในเขตหรือจังหวัดนั้น ต้องสมัครที่อำเภอในเขตท้องที่จะลงสมัครก่อน เพื่อให้ประชาชนเลือกเป็นผู้แทนระดับอำเภอก่อน เมื่อผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งตามข้อ 1 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งในจังหวัดจัดนำชื่อผู้ที่ชนะในแต่ละอำเภอนั้น มาให้ประชาชนเลือก ส.ส. อีกครั้งหนึ่ง โดยการเลือกแต่ละครั้งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน ข้อ 1 – 7 หรือ การเลือกตั้ง สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิก อบต. ก็ให้ใช้ในลักษณะเดียวกัน โดยคณะกรรมการเลือกตั้ง จะต้องไปกำหนดเขตใน กรณี ที่มีอำเภอน้อยกว่า 3 อำเภอ หรือ กรณีเขตเลือกตั้งมีพื้นที่ตำบลน้อยกว่า 3 ตำบล เป็นต้น
การเลือกตั้งแบบนี้จะมีข้อโต้แย้ง
1. การเลือกตั้งล่าช้า การเลือกตั้งแบบนี้มีกระบวนการหลายครั้งจึงต้องดำเนินการก่อนครบกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน ความล่าช้าก็จะไม่อาจเกิดขึ้น ทั้งการหาเสียงตามที่กำหนดไว้ไม่ก่อให้เกิด การได้เปรียบเสียเปรียบกัน ทั้งไม่มีโอกาสจะใช้ตำแหน่งที่มีอยู่ในขณะนั้นเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและ พรรคพวกได้
2. เปลืองงบประมาณ ต้องยอมรับว่างบประมาณเป็นเงินภาษีจากราษฎร ดังนั้น เพื่อให้ได้ตัวแทนที่ดี และเป็นการฝึกฝนประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ก็ต้องยอมใช้งบประมาณมากหน่อยในช่วงต้นๆ ต่อไปเมื่อประชาชนรักษาสิทธิของตนไม่ยอมขายเสียงและผู้ซื้อเสียงไม่มีกำลังซื้อเสียงแล้ว (เพราะกว่าจะได้เป็นผู้แทน ต้องต่อสู้กันอย่างน้อย 2 รอบ และอาจถึง 4 รอบ ต่อการเลือกตั้ง1 ครั้ง) การเลือกตั้งก็จะปลอดจากการซื้อขายเสียง ทั้งเงินภาษีเหล่านี้ก็กระจายไปยังประชาชน ทำให้เงินสะพัดและรัฐก็จัดเก็บภาษีกลับมาได้อีก อันเป็นการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจทางอ้อมเช่นกัน จึงไม่ควรเสียดายเงินภาษีในการรักษาประชาธิปไตย
ป้องกันการปฏิวัติได้อย่างไร
เมื่อการเลือกตั้ง ได้ผู้แทนปวงชนอย่างแท้จริง พรรคก็ไม่สามารถควบคุมสมาชิกได้ ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น เพราะสมาชิกในพรรคจะฟังประชาชนแล้วมาแจ้งพรรคเพื่อพัฒนานโยบายในการบริหารประเทศต่อไป และเมื่อสภาสามารถเปิดได้ตลอดเวลาถ้าได้สมาชิกถึงกึ่งหนึ่ง การออกกฎหมายเป็นไปตามที่ประชาชนต้องการ เมื่อรัฐสภาสามารถดำเนินการได้ตลอด การบริหารประเทศก็ไม่มีสุญญญากกาศและไม่ต้องให้ข้าราชการประจำซึ่งแต่งตั้งโดยฝ่ายการเมือง มาเป็นหุ่นเชิดในระว่างที่รัฐบาลว่างลง เพราะข้าราชการเหล่านั้นถูกแต่งตั้งโดยนักการเมือง การรักษาการของรัฐบาลอาจไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นในระยะเวลาช่วงสั้นๆ ถ้าดำเนินการเลือกตั้งก่อนครบวาระถึง 6 เดือน