“หมอชนบท” ขู่ม็อบค้านยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย รพ.ชุมชน
“ประธานแพทย์ชนบท” เผยหลังจ่ายเบี้ยเลี้ยงเพียง 10 ด. หมอ-ทันตแพทย์-เภสัชไกลกลับคืนชนบท 200 คนจากเดิมปีละแค่ 1 ระบุหักจากรายหัวบัตรทองไม่เกี่ยวงบรัฐบาล ก.สาธารณสุข “มือไม่พายอย่าเอาเท้าราน้ำ”
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้จะส่งหนังสือแสดงเจตจำนงของแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ จากโรงพยาบาลชุมชนร่วม 300 แห่งทั่วประเทศ ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวคิดจะยกเลิกหนังสืออนุมัติเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของโรงพยาบาลชุมชน ฉบับที่ 4 และ 6 ขณะที่บุคลากรจากชนบทเกือบ 100% เห็นด้วยให้คงหนังสือ 2 ฉบับนี้ต่อไป
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า การจ่ายเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านค่าตอบแทน และแก้ปัญหาการกระจายตัวของแพทย์ได้ โดยภายหลังที่ได้ประกาศใช้เพียง 10 เดือน พบว่ามีแพทย์ไหลกลับเข้าทำงานในชนบทประมาณ 100 คน ทันตแพทย์ 40–50 คน และเภสัชกร 60 คน จากเดิมที่จะกลับสู่ชนบทเพียงปีละ 1 คนเท่านั้น
สำหรับเงินที่นำมาจ่ายเบี้ยเลี้ยง จะหักจากค่าเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) 100 บาท โดยปี 2555 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อนุมัติงบเหมาจ่ายรายหัว 2,800 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 230 บาท คำนวณแล้วพบว่าจะได้เงินประมาณ 3,800 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอต่อการจ่ายและชดเชยการของบกลางจากรัฐบาลได้
“เงินที่นำมาจ่ายเบี้ยเลี้ยงมาจากเงินบำรุงในระบบบัตรทอง ไม่ใช่งบประมาณรัฐบาล จึงจะรอดูว่ากระทรวงมือไม่พายแล้วยังเอาเท้าราน้ำด้วยการปรับเปลี่ยนค่าเบี้ยเลี้ยงหรือไม่” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากมีการปรับวิธีโอนงบประมาณจาก สปสช.ไปยังเขตสาธารณสุข ชมรมแพทย์ชนบทจะเคลื่อนไหวใหญ่ เนื่องจากมีผู้ตรวจราชการเพียงไม่กี่คนที่เข้าใจระบบ และเท่ากับไม่ให้ความสำคัญของ สปสช.เขตในฐานะตัวแทนผู้ซื้อบริการ
ทั้งนี้หนังสืออนุมัติเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของโรงพยาบาลชุมชน ฉบับที่ 4 และ 6 มีเจตนารมณ์เพื่อจ่ายเงินค่าตอบแทนในการสร้างแรงจูงใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใรงพยาบาลชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร .
ที่มาภาพ : http://blueredyellow-rainbow.blogspot.com/2008/09/blog-post_5546.html