“ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ไม่อยากเห็นปท.ไทย ติดหล่มไปนานกว่านี้
“...ผมไม่หวังอะไรมาก หวังว่าจะคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตย การเลือกตั้งโดยเร็ว ขออย่างเดียวคือลดความขัดแย้ง ลดความรุนแรง การเข้ามาหาผลประโยชน์จะน้อยลง นี่คือโจทย์ที่จะต้องทำให้ได้”
สุดสัปดาห์นี้ สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย หรือ Future Innovative Thailand Institute (FIT) อดีตเลขาธิการอาเซียน ว่าด้วยอนาคตประเทศไทยในวันพรุ่งนี้?
บทสนทนาระหว่าง นักข่าว กับ ดร.สุรินทร์ เต็มไปด้วยการตั้งคำถาม เพื่อค้นหาคำตอบให้ประเทศไทย ตั้งแต่เรื่องการเมือง ,เศรษฐกิจ , คอร์รัปชั่น, การปฏิรูปประเทศ, บทบาทไทยในเวทีโลก, ไปจนถึงบทวิพากษ์ด้านมืดของระบบอุปถัมภ์ และระบบข้าราชการแบบไทยๆ ที่ ดร.สุรินทร์ ปอกเปลือกได้อย่างถึงแก่น ตรงไปตรงมา
…………
@ ในมุมมองของคุณ ประเทศไทยวันนี้พร้อมหรือยังสำหรับประชาคมอาเซียน
ช่วงที่ผมไปทำงานเป็นเลขาธิการอาเซียน 5 ปี มีความรู้สึกเป็นห่วงประเทศไทย เพราะอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ความวุ่นวาย ความไม่ต่อเนื่อง ไม่มีเสถียรภาพ แตกแยก ขัดแย้ง ทำให้บทบาทของประเทศไทยลดลงไปมากๆ ทั้งในเวทีอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศ
เพราะความไม่ต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบ่อย จึงมีความรู้สึกว่าหลายเรื่องในประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการคิด วิเคราะห์ วิพากษ์ ตั้งคำถาม และหาคำตอบ สำหรับอนาคตว่าเราจะอยู่กันอย่างนี้ต่อไป
รักษาศักดิ์ศรีของประเทศ ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร การเป็นประเทศที่มีอิสรภาพอย่างต่อเนื่อง มีอารยธรรม วัฒนธรรมของตนเอง มี Identity มากกว่าคนอื่น นานกว่าคนอื่น ไกลกว่าคนอื่น ลึกกว่าคนอื่น แต่ว่าบทบาทเรากลับถอดถอย จึงตั้งคำถามเหล่านี้ขึ้นมา
ประเทศอื่นๆที่มาร่วมกันตั้งอาเซียน คือประเทศที่เป็นเมืองขึ้นคนอื่นมาทั้งนั้น ตอนที่จัดตั้งอาเซียน ทุกคนหันมาดูประเทศไทยในฐานะที่เป็นพี่ในภูมิภาค อย่างน้อยๆ ในแง่ของประสบการณ์ การรักษาอิสรภาพอธิปไตยของตนเองเอาไว้ เครือข่ายทางการทูตที่มีอยู่ทั่วโลก ฉะนั้นคุณภาพของการทูตไทย เราเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติก่อนหลายประเทศได้อิสรภาพ
แต่ความแตกต่างก็คือ เพื่อนบ้านต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะได้อิสรภาพคืนมา เขามีโมเมนตั้ม ต้องดึงเอาอาวุธที่เขามี หรือที่เขาพึ่งมี มาลับ มาเหลาให้คมอยู่ตลอดเวลา เมื่อเขาได้อิสรภาพ เขาวิ่งบนเวทีโลกเพื่อที่พิสูจน์ตัวเองว่า เขาไม่ควรตกเป็นเมืองขึ้นคนอื่นมาก่อน เขาได้มาแล้ว เขาคู่ควรแล้ว และจะมีบทบาทต่อไปในอนาคต
แต่ประเทศไทยไม่ต้องพิสูจน์อะไร ประเทศอื่นมีแรงผลักดัน เรามีแรงเฉื่อย ฉะนั้นบทบาททางการทูตของเราในช่วง 5 ปี แรกของกฎบัตรอาเซียนคือโมเมนตั้มจากสิ่งนี้ แต่ว่าความแหลมคม อาจจะสู้ประเทศอื่นที่เป็นสมาชิกไม่ได้
กอปรกับความระส่ำระสายภายในประเทศ ความไม่ต่อเนื่องทางการเมือง ความขัดแย้ง ความรุนแรง การเผชิญหน้าภายใน ทำให้บทบาทเราถูกบดบังไปอย่างน่าเสียดาย จึงตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้
@ ตั้งคำถามกับอะไรบ้าง แล้วควรจะหาคำตอบแบบไหน
ระบบการศึกษา เราผลิตคนอย่างไร การสร้างหรือเตรียมทรัพยากรมนุษย์เพื่ออนาคตที่จะต้องแข่งขันกับคนอื่น เรามีประสิทธิภาพแค่ไหนหรือล้าหลังยังไง นักคิด นักวิชาการ นักการศึกษาของเรา วางไว้อย่างไร คิดอย่างไร ทำอย่างไร
@ แต่วันนี้เราก็มีสภาปฏิรูปแล้วนี่ครับ
เราคิดจะปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ปี 2542 จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ยังเตาะแตะ คุณภาพการศึกษายังลดลง วัดโดยองค์กรไหน หน่วยงานใด คุณภาพการศึกษาของเราก็ลดลง น่าเป็นห่วง ในขณะที่โลกต้องการคนสมัยใหม่ ทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่ ที่จะต้องเต็มไปด้วยความรู้ความสามารถในการแข่งขัน ของเราเปล่า ถอยหลัง
แม้ในภาพรวมคนเก่งยังมีอยู่ แต่ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้คนเก่งเหล่านั้นเก่งต่อไป และยกระดับคนที่อยู่กลางๆให้สูงขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่มีแต่คนเก่ง คนพวกนี้เรียนจบกลับมาอยู่ในระบบก็สูญหาย ไม่สามารถจะเก่งต่อยอดต่อไปได้ เพราะระบบในการบริหารจัดการ
หรือเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ใช่ว่าเราไม่มีนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ดีๆ คนที่ดีเลิศมีมากมาย คนที่ชนะโอลิมปิกวิชาการมาทุกแขนงมีมากมาย แต่ปัญหาคือเรื่องการบริหารจัดการนักวิทยาศาสตร์ ปัญหาเรื่องการหาระบบงาน หาองค์กรให้เขาทำเพื่อจะเกื้อกูลให้เขาได้ต่อยอดในสิ่งที่ไปเรียนมาแทนที่จะกลับมาสอนอาจารย์วิทยาศาสตร์
เราไม่ได้เรียนมาต่อยอดวิทยาศาสตร์ แต่เรียนมาเพื่อมาสอนอาจารย์วิทยาศาสตร์ เพื่อจะไปสอนวิทยาศาสตร์ในระดับล่างๆ ลงไปจนกระทั่งในชนบท
ฉะนั้นทุก 25-30 ปี เราต้องผลิตนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพราะโลกมันเปลี่ยน ไปเรียนใหม่แล้วก็กลับมาสอนใหม่ แทนที่จะมาต่อยอดในห้องแล็บ ในองค์กร ตรงนี้คือสิ่งที่ตั้งคำถามว่าประเทศไทยจะสู้เขาได้ไหม
พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเราในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นการพัฒนาบนพื้นฐานของสิ่งที่เรามีอยู่หรือเคยมีอยู่ เช่น แรงงานถูก ช่วงแรกที่ไต้หวันกับญี่ปุ่นย้ายโรงงานมาอยู่เมืองไทยมาทำด้านสิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ คนงานของเราเดินออกจากท้องนาเข้าสู่โรงงาน ไม่ต้องเรียนรู้อะไรมาก
ฉันทนาของเราออกจากแรงงานในชนบทเข้าสู่โรงงาน ไม่มีความรู้อะไรมาก แต่มีฝีมือ แต่แรงงานนั้นเริ่มมันหมดไป แก่ตัวลง ถอยกลับไปอยู่ท้องนา หรือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของโรงงานเปลี่ยนไป มีหุ่นยนต์ มีเครื่องจักรมาทำแทน
ที่เราเคยเป็นฐานผลิตให้คนอื่นเพราะแรงงานเราถูก ขณะนี้เราไม่มีความสามารถที่จะแข่งขันกับใครได้แล้ว เพราะแรงงานเราไม่ถูกและแรงงานเราไม่มี ทุกอย่างเป็นต่างด้าวหมดแล้ว ก็ต้องถามอีกว่า วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่จะยกระดับเศรษฐกิจให้สูงขึ้นไปกว่านี้จะทำอย่างไร ก็ต้องหันไปหามหาวิทยาลัย หันไปหาโรงเรียน ซึ่งก็มีปัญหาเรื่องการผลิตคน
ถัดมาคือเรื่องการเมือง เรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องการหาประโยชน์ ความไม่โปร่งใสทั้งหลาย ธนาคารโลกบอกว่าเศรษฐกิจไทย 35-40% เป็นเศรษฐกิจที่อยู่ในเงามืด อยู่ใต้โต๊ะ ใต้ดิน ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทย 80-90% มาอยู่บนโต๊ะ ทุกคนเห็นกระจ่าง มีบัญชีชัดเจน จ่ายภาษีอย่างถูกต้อง
ประเทศจะไปไกลกว่านี้อีกมาก แต่เพราะคอร์รัปชั่น เพราะสีเทาๆทั้งหลาย เพราะอำนาจที่ใช้ไม่โปร่งใส ไม่จำกัดอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ไปเกินเลยกฎหมาย น่าเศร้า(นะ)
ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า วันนี้เปลี่ยนไปมากแล้วหรือยัง หลังจากเกิดยึดอำนาจการปกครอง หรือจะกลับเข้าสู่ระบบเดิม ตัวบุคคลอาจจะเปลี่ยน แต่ระบบยังไม่เปลี่ยน ก็ทำให้ความสามารถที่จะไปดึงคนอื่นมาร่วมลงทุนกับเราเพื่อผลิตของ เพื่อส่งออก เขาก็อิหลักอิเหลื่อ
เพราะเศรษฐกิจไทยอยู่ในเงามืดเยอะ เพราะ Cost of doing business in thailand 30% 40% คือคอร์รัปชั่น เริ่มต้นก็สู้คนอื่นเขาไม่ได้แล้ว แล้วประเทศไทยจะแข่งขันกับใครในอนาคต ในเมื่อต้องเปิดประเทศ ต้องแข่งขันกับคนอื่น เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ดังนั้น ระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบการบริหารจัดการคือปัญหา จับตรงไหนก็มีปัญหา ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน แถมยังมีระบบอุปถัมภ์เข้ามาอยู่ในระบบราชการอีก การเมืองมาอุปถัมภ์จนกระทั่งเละไปหมด
คุณภาพของข้าราชการที่เป็นผู้แทนประเทศไทย รัฐไทย ออกไปเจรจา ออกไปต่อรองกับคนอื่นลดลงน่าใจหาย ไม่รู้ประเด็น ไม่สนใจประเด็น เพราะไม่เคยขึ้นมาด้วยความรู้ความสามารถ ได้ตำแหน่งมาเพราะว่ามีคนอื่นฝากมา ได้ตำแหน่งมาเพราะมีคนอุปถัมภ์มา
แล้วจะไปแข่งขันกับประเทศอื่นที่เขาสู้บนฐานความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ กลั่นกรองกันมาอย่างดี เอาว่าเขาดีกว่าเราก็แล้วกัน เราไม่ได้เลวกว่าคนอื่นทั้งหมดในอาเซียนหรอก แต่ว่าน่าเสียดายที่ทำให้ดีกว่านี้ได้ไหม นี่คือสิ่งบั่นทอนความสามารถของประเทศไทยที่จะออกไปแข่งขัน
ผมอยู่อาเซียน 5 ปี ทำงานกับนายกรัฐมนตรีไทย 5 คน ความไม่ต่อเนื่อง ความไม่มีเสถียรภาพเรื่องนโยบาย การไม่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เพื่อจะนำประเทศไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แล้วทั้งองคาพยพของประเทศไทยตามก็ไม่มี เพราะทำไม่ได้ ผมก็เลยตั้งคำถามกลับมาว่าเราจะแก้กันอย่างไร จะเริ่มกันตรงไหน ใช้มาตรการหรือวิธีการใดที่จะแก้ไขปัญหา
@ รัฐบาลคสช.เข้ามาแก้ปัญหาประเทศ ผ่านมา 4 เดือนแล้ว คิดว่ามาถูกทางไหม
ปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจ สมัยรัฐการที่ 5 ปฏิรูปการปกครองเพราะต้องการจะรักษาประเทศเอาไว้ ต้องสู้กับฝรั่งเศส อังกฤษ จึงต้องรวบศักดิ์ทุกอย่างเขามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยระบบการตั้งข้าหลวงจากกรุงเทพฯออกไปตามจังหวัดต่างๆ
60-70 ปีที่เราพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ความเจริญรุ่งเรือง ความร่ำรวย การกระจายกำลังซื้อออกไปยังต่างจังหวัดก็เกิดขึ้นเหมือนกัน อาจจะไม่ทั่วถึง ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็เกิดกลุ่มอำนาจใหม่ขึ้นในต่างจังหวัด เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นในต่างจังหวัด เกิดชนชั้นกลางในต่างจังหวัด
คนพวกนี้คือคนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศชาติ แต่เขาไม่มี เพราะว่าระบบไม่ยอม มหาดไทยคุมไว้หมด ศาล อัยการ ตำรวจ ตัดสินใจจากกรุงเทพฯ ทำให้คนในต่างจังหวัดรู้สึกอึดอัด ไม่มีพื้นที่ที่จะยืน ไม่มีบทบาทที่จะเล่น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างชนบทกับเมือง สะท้อนผ่านความขัดแย้งที่เราเห็นต่อเนื่องกันมาตลอด 10 ปี
คุณทักษิณ(ชินวัตร) แกอ่านออก ฉะนั้นเมื่อปี 2544 ก็อาศัยกระแสนี้ว่า ต่อไปนี้คุณมีสิทธิ์กำหนดนโยบายจากกรุงเทพฯ สนับสนุนผมและพรรคของผม แล้วจะมีการแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้ เริ่มต้นโดยการอุปถัมภ์จากรัฐ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการกองทุนหมู่บ้าน เริ่มตอบคำถามของคนในชนบท
แต่น่าเสียดายที่เมื่อเข้ามาอยู่ส่วนกลางแล้ว แทนที่จะกระจายให้มากขึ้น ระบบราชการกลับกลายเป็นเครื่องมือในการจะออกไปควบคุม หาประโยชน์เข้าพรรคพวกมากขึ้น ความอึดอัดนั้นก็ต่อเนื่องมาและระเบิดในที่สุด ฉะนั้น การกระจายอำนาจคือกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ
@ การกระจายอำนาจจะทำได้มากน้อยแค่ไหนในรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร
รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติก็อาจจะไม่คิดเรื่องการกระจายอำนาจ ถ้าคิด อาจจะคิดเรื่องการรวบมากขึ้น เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่จะไปคิดในการกระจาย คอนโทรล ใน Mentality ของเขา พูดถึงการควบคุม คอนโทรล สิ่งนี้จะเป็นโจทย์ที่คนไทย ประเทศไทย ต้องหาคำตอบต่อไปในระบบหรือระบอบที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือในระบบ ในกรอบที่จะต้องแก้ไขกันต่อไป
ผมไม่หวังอะไรมาก หวังว่าจะคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตยการเลือกตั้งโดยเร็ว แล้วประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ขออย่างเดียวคือลดความขัดแย้ง ลดความรุนแรง การเข้ามาหาผลประโยชน์จะน้อยลง นี่คือโจทย์ที่จะต้องทำให้ได้
รวมทั้งการตรวจสอบจะต้องมีประสิทธิภาพ ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น มีความต่อเนื่องในนโยบาย การบริหารจัดการ ถ้าได้ 3-4 อย่างนี้ วางเป็นกรอบกว้างๆ เขียนยังไงก็เขียนได้ แล้วให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตอบโจทย์ประเทศร่วมกันยาวๆ ลึกๆ เพราะผมไม่อยากเห็นประเทศ ต้องติดหล่มไปนานกว่านี้
@ ปัญหาหลักของประเทศขณะนี้คือการกระจายอำนาจ
เรื่องของความเหลื่อมล้ำ โอกาส สิทธิ ในการใช้ทรัพยากรของรัฐ การกระจายบทบาทและหน้าที่ ผมคิดว่าวันนี้กระจุกมากเกินไป แล้วความชัดเจนของการแบ่งบทบาทเหล่านี้ยังมีส่วนที่เป็นสีเทาอยู่เยอะ เมื่อเป็นสีเทา ก็มีคนหาประโยชน์
@ สีเทาๆเยอะขนาดนี้ จะออกแบบอนาคตประเทศไทยอย่างไรดีครับ
หน้าที่ของผมและFIT คือ ตั้งคำถาม แล้วสะกิดให้คิดกับประเด็นปัญหาที่กล่าวมา ยกตัวอย่างเรื่องแรงงานต่างชาติ วันนี้ในประเทศเรามีไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน แต่ระบบการบริหารจัดการยังเหมือนเดิม ยังผิดกฎหมาย ใช้อย่างผิดกฎหมาย เอารัดเอาเปรียบอย่างผิดกฎหมาย
ก็เกิดปัญหาต่างๆ นำไปสู่การถูกกล่าวหาว่าค้ามนุษย์ ถูกลดระดับ จับตรงไหนมีแต่ปัญหา เริ่มตรงไหนมีแต่ปัญหา หน้าที่ของเราจึงตั้งตำถามว่า เช่น เรื่องแรงงานจะทำอย่างไร ยอมรับหรือยังว่าขณะนี้ประเทศไทยไม่มีแรงงานขั้นต่ำที่เราต้องใช้ประโยชน์ในงานด้านการเกษตร ด้านการประมง การแปรรูปอาหาร ฯลฯ
แต่หากเราเริ่มจากสมมุติฐานว่าขึ้นอยู่กับแรงงานต่างชาติ ก็มาคิดเรื่องการบริหารจัดการให้โปร่งใส ไม่ใช่เก็บไว้เพื่อที่จะหาประโยชน์กันต่อไป เพราะวันนี้ภาพพจน์เรื่องมนุษยธรรมเสีย สิทธิมนุษยชนเสีย ความมั่นคงของมนุษย์เสีย ความเชื่อมั่นในความโปร่งใส ความปลอดภัย จากต่างประเทศ เต็มไปด้วยแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
เมื่อมีช่องทางผิดกฎหมาย ส่วนที่รุนแรงกว่านั้นก็เข้ามาได้ ผู้ก่อการร้ายระหว่างประเทศ ภาพพจน์ไทยในประชาคมโลกที่จะไปแข่งขัน ต่อรองเรื่องการค้าการลงทุน การส่งออกก็น้อยลง
วันสองวันมานี้ ยุโรปพึ่งตัดสิทธ์จีเอสพี เพราะอะไร
หากภูมิใจว่าเราพัฒนาไปสูงแล้ว ไม่จำเป็นต้องได้สิทธิพิเศษ แต่ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นจริงหรือเปล่า เราควรได้โดยคุณภาพหรือได้เพราะเขาลดภาษีให้
การพัฒนาคุณภาพนี่แหละเป็นเรื่องยาก เพราะคุณเต็มไปด้วยความไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่โปร่งใส คุณจะไปพัฒนาความสามารถการแข่งขันกับคนอื่นได้อย่างไร ในเมื่อทุกที่ทุกแห่ง เต็มไปด้วยการหาประโยชน์ จะเอาเทคโนโลยีไหนเขามาก็ต้องจ่าย จะเอาคนมาบริหารจัดการก็ต้องจ่าย จะเอาทุนเขามาลงทุนก็ต้องจ่าย จ่ายทุกระดับชั้น
@ ประเทศไทยยังเต็มไปด้วยปัญหามากมาย
พูดได้อย่างเดียวว่าต้องแก้ ประเทศไทยมีการบ้านที่จะต้องทำอีกมาก แต่จะปิดตัวเองไม่ได้ อย่าด่วนสรุปเพราะว่าเราไม่พร้อม เราจึงไม่เปิด ก็ไม่ได้ เพราะคนอื่นเขาเดินหน้า เขาได้ประโยชน์
วันนี้ผมเห็นการตื่นตัวเรื่องภาษาอังกฤษสูงขึ้นมากและอยากจะเห็นต่อเนื่อง แต่ต้องไม่นำไปสู่การสรุปด่วนๆว่า ปิดประเทศดีกว่าเว้ย สู้ไม่ได้ อันนั้นผิดใหญ่โตเลย ถอยหลังเข้าคลอง กวาดขยะไปอยู่ใต้พรม แล้วเมื่อไหร่จะพร้อมในการไปสู่กับคนอื่น
ดีที่สุดขณะนี้คือเตรียมตัว สร้างความพร้อม ปลุกให้ตื่น ตื่นแล้วอย่าหลับ แต่ไม่ใช่ตื่นด้วยความหวาดกลัว ต้องตื่นด้วยความมั่นใจว่าเราสู้เขาได้ อย่ามีความรู้สึกว่าได้แค่นี้ก็พอแล้ว ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของใคร ฉะนั้นไม่ต้องไปเรียนภาษาอื่น
ผลประโยชน์ประเทศชาติต่อไปนี้ไม่ได้ต่อรองในประเทศ ไม่ได้ใช้ภาษาไทยต่อรอง แต่ต้องไปดิว ไปสู้กับเขา ดีเบตกับเขาบนโต๊ะเจรจาระหว่างประเทศ ฉะนั้นอาวุธทางด้านการทูต อาวุธการค้า ต้องลับให้คมอยู่ตลอดเวลา
@ ในรัฐบาลคสช.เห็นการตื่นตัวของประชาชนขนาดไหน โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ
ผมคิดว่าถ้าไม่มีส่วนร่วมของประชาชาชน ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีหลักประกันเรื่องความโปร่งใส การปฏิรูปยากที่จะทำได้ ฉะนั้นต้องตื่นกันทั้งประเทศ มีส่วนร่วมกันทั้งประเทศ มี Visionที่คนรับได้ทั้งประเทศ
จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม นั่นก็คือผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ผ่านกระบวนการทำประชามติอะไรก็ตามแต่ ประชาชนจะต้องเป็นฐานอำนาจที่ถูกต้อง ประชาชนต้องรู้สึกตื่นเต้นกับวาระที่จะเกิดขึ้นในประเทศชาติ
@ แต่กว่าจะมีการเลือกตั้ง ต้องรอถึงปี 2559 ช้าไปไหมครับ
ผมคิดว่าวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นและทำได้คือ ยับยั้งไม่ให้ประเทศชาติตกเหว ณ ช่วงเวลานี้ แต่ว่าไม่ใช่ถอยออกมาจากอนาคต Backward มากเกินไป ต้องคิดที่จะเดินหน้าด้วย ถ้าข้างหน้าเป็นเหวก็ต้องสร้างสะพาน ข้างหน้ามีหน้าผาก็ต้องหาวิธีการสร้างทางเชื่อม เพื่อจะเดินไปสู่อนาคต
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องทำต้องให้ชัดเจนว่า ไม่มีการลูบหน้าปะจมูก ไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่มีระบบอุปถัมภ์เหลืออยู่ โปร่งใสชัดเจนเพื่อประเทศชาติจริงๆ
ผมว่าคนไทยยังต้องการคำมั่นสัญญาตรงนี้อยู่ เพราะวันนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ มีแต่การให้คำให้ความมั่นใจ แต่ในทางปฏิบัติยังมองไม่เห็น โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือ ความหนืดในระบบราชการสูงมาก
ระบบข้าราชการนี่แปลก เป็นตัวขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ก็เป็นตัวที่จะถ่วงความเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปประเทศชาติได้อย่างฉกาจฉกรรจ์
ปัญหาคือทุกคนอยู่ในตำแหน่ง มีกฎหมายรองรับ ทำอย่างไรกับเขา เขาบอกว่าเข้าเกียร์ว่าง เขาจะรอ เพราะยังไงก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง
วันนี้ระบบราชการหันหลังให้ประชาชน เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับประชาชน เพราะเราไม่มี Incentive ให้เขามานั่งคิดแก้ปัญหาประเทศชาติ ที่ตำแหน่งของเขาต้องคิด ไม่ว่าจะอยู่ในกระทรวงไหน กรมไหน เขาไม่มี Incentive มานั่งคิดเพื่อสังคม เพราะเขาคิดเรื่องว่า ตำแหน่งต่อไปเขาจะเป็นอะไร
คำว่า Professionalism การเป็นมืออาชีพ ไม่เป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย มืออาชีพอยู่ตรงไหนก็ตามแต่ 100 % ต้องอยู่ตรงนี้เต็มที่ ไม่หวังอย่างอื่น การได้ทำงานหน้าที่เต็มที่คือสิ่งภูมิใจ คือ Reward ที่พอแล้ว แต่วันนี้ไม่เห็น ไม่มีใครคิดทำเพื่อความเป็นเลิศในงานที่จะทำ
ในญี่ปุ่น คนขับแท็กซี่เขาต้องการเป็นคนขับมืออาชีพ แปลว่าดีที่สุดที่เขาจะให้กับอาชีพนี้ได้ แล้วเขาภูมิใจ ทิปก็ไม่ต้อง เพราะสิ่งที่เขาได้คือพอแล้ว นั่นคือสถานภาพของเขา
ทำอย่างไรให้ภารโรงคิดอย่างนั้นในประเทศไทย ทำอย่างไรให้ช่างเสริมสวยคิดอย่างนั้น ทำในสิ่งที่ตัวเองทำให้เป็นเลิศ ดีที่สุด ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ สื่อมวลชน professionalism ถ้าเราสร้างความรู้สึกนี้ได้ในทุกอาชีพ จะสร้างความสามารถในการเตรียมตัวไปแข่งขันกับคนอื่นได้ดีกว่าที่เป็นอยู่