เงินอุดหนุนเด็กเล็ก ประชานิยมหรือไม่? ฟังมุมมอง "อานันท์"
"การพัฒนาเด็กเล็กที่ผ่านมา สังคมไทยมักปล่อยปละละเลย ปล่อยให้รากฐานนี้อ่อนแอไม่มีอะไรมาปกครองคุ้มครอง มองเป็นเป็นเรื่องส่วนตัว ครอบครัว ทั้งๆที่การพัฒนาเด็กเล็กเป็นรากเหง้าสำคัญของการพัฒนาทรัพยาการมนุษย์"
วันที่ 9 มกราคม 2558 คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส สภาปฏิรูปแห่งชาติ, คณะทำงานด้านเด็ก, เครือข่ายภาคประชาสังคม, คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และองค์การยูนิเซฟ จัดสัมมนา "เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็ก:สวัสดิการพื้นฐานเพื่อการพัฒนาอย่างเท่าเทียม" ณ ห้องกรรมาธิการ 213-216 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2
โดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง เงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กเล็ก: สวัสดิการพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาอย่างเท่าเทียม ว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย
"การพัฒนาเด็กเล็กที่ผ่านมาสังคมไทยมักปล่อยปละละเลย และปล่อยให้รากฐานนี้อ่อนแอไม่มีอะไรมาปกครองคุ้มครอง มองเป็นเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องของครอบครัว โดยส่วนรวมของสังคมไทยให้ความสนใจน้อยไปหน่อย ทั้งๆที่การพัฒนาเด็กเล็กเป็นรากเหง้าสำคัญของการพัฒนาทรัพยาการมนุษย์"
นายอานันท์ กล่าวถึงสังคมไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในอีก 20 ข้างหน้า ซึ่งจะเป็นภาระของสังคมต่อไป ดังนั้นประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ท้าทายดังกล่าว ในขณะเดียวกันเราเป็นส่วนหนึ่งของตลาดเสรีที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบของประชาคมอาเซียน หรือระบบการค้าเสรีที่กว้างขวางขึ้นในระดับภูมิภาคและในระดับโลกนั่นก็ทำให้เรายิ่งต้องเร่งรัดพัฒนาทรัพยาการมนุษย์เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อรองรับการแข่งขันการแข่งขันที่เกิดขึ้น และสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพที่จะอุ้มชูเสถียรภาพทางสังคมในระยะยาว
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เรามักจะมุ่งไปที่การศึกษา ซึ่งก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด แต่ในขณะเดียวกันเราลืมไปว่า รากฐานสำคัญเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านั้น เมื่อประมาณ 10 กว่าปีมาแล้วมีหนังสือออกมาเล่มหนึ่งเขียนโดยชาวญี่ปุ่น ใจความสำคัญคือว่า 16 ปีก็สายไปแล้ว
หนังสือเล่มนั้นสร้างความอือฮามาก แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยไม่รู้จัก ทุกอย่างเริ่มขึ้นก่อนที่เด็กจะก้าวเข้าโรงเรียนเสียอีก รากฐานที่สำคัญคือช่วงเวลาวัยเด็กเล็ก 0-6 ปี เพราะนี่คือช่วงเวลาที่เด็กจะพัฒนาได้เร็วที่สุด สิ่งที่เราเห็นเด็กต่างๆนั้น เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา ซึ่งบางครั้งเราลืม ลืมคิดว่าเด็กที่เขาเกิดมาเขาเป็นอย่างนี้ เขาควรได้รับสิทธิ์
" อย่างลูกผมก็โตกันหมดแล้ว และเมื่อสามเดือนที่แล้วผมได้เหลน ซึ่งผมอายุได้ 82 กว่าๆยังไม่มีใครรู้ว่า เมื่อเหลนเกิดขึ้นมานั้น มันเปลี่ยนวิธีคิดเป็นความรู้สึกของผมเกี่ยวกับเด็ก ผมได้รับโอกาสอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้นึกถึงว่า เด็กที่เกิดมานั้นเด็กยังบริสุทธิ์อยู่ เกิดมาโดยไม่มีความด่างพร้อย บางคนอาจจะมีความบพร่องทางสติปัญญาอะไรก็แล้วแต่ แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเท่าเทียมกันหมด"
นายอานันท์ กล่าวว่า ในระหว่างที่เด็กมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทางร่างกายและอารมณ์ นั่นคือโอกาสทองของการพัฒนาคุณภาพคน หากมีการพัฒนาใดๆที่ผิดพลาดไปในช่วงเวลาดังกล่าว จะไม่สามารถเรียกกลับมาได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพที่จะส่งผลไปต่ออีกชีวิตที่เหลือ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราต้องคุ้มครองและช่วยเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ก่อนเข้าสู่ระบบการศึกษาและกลายทรัพยากรณ์มนุษย์ที่มีคุณภาพในอนาคต
"อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า เด็กสมัยนี้จะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัว แต่รัฐก็มีกลไกที่จำกัด ซึ่งไม่สามารถที่จะเข้าไปดูแลเด็กได้ในช่วงวัยนี้โดยตรง เพราะคนที่มีฐานะดี มีรายได้ดี เขาสามารถส่งเด็ก 3-4 ขวบ ไปเข้าโรงเเรียนเอกชนได้ โรงเรียนอนุบาลได้ แต่คนที่ฐานะยากจนคุณภาพของการเรียนในช่วงของอายุ 0-6 ปี อาจจะตกต่ำไป จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ควรเข้าไปดูแลพวกเขา เลี้ยงดูพวกเขาอย่างเต็มความสามารถ
ประเทศของเรามีความก้าวหน้าอย่างในเรื่องของสวัสดิการที่ให้ความดูแลแก่กลุ่มช่วงอายุต่างๆ สวัสดิการรักษาพยาบาลถ้วนหน้าสำหรับผู้ที่มีความเจ็บป่วย มีเบี้ยผู้พิการถ้วนหน้า สำหรับผู้ที่มีความพิการ มีเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงอายุ และเราก็มีสวัสดิการเรียนฟรีถ้วนหน้าสำหรับเด็กในวัยเรียน แต่สวัสดิการของไทยก็ยังมีช่องว่างอยู่
นอกจากไม่มีสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี เพราะพวกเขาทั้งหมดคือรากฐานของประเทศ และเราก็คาดหวังว่าพวกเขาทุกคนจะเติบโตขึ้นเพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศ มีเด็กแค่ 1.2 ล้านคนเท่านั้น ที่รัฐดูแลผ่านระบบประกันสังคม โดยให้เงินเด็กเดือนละ 400 บาท ยังเหลือเด็กอีก 4 ล้านคนที่อยู่นอกระบบประกันสังคมที่รัฐเองไม่ได้ดูแล ซึ่งพวกเขาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงมากกว่าเสียอีก"
นายอานันท์ กล่าวถึงความพยายามเมื่อหลายสิบปีก่อน จัดสวัสดิการ "เจาะจง" ไปที่คนจน แต่ก็ไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยผู้สูงอายุสำหรับคนจน ทุนการศึกษาเพื่อเด็กยากจน การรักษาฟรีสำหรับคนไข้อนาถา แต่ความช่วยเหลือกลับไม่เป็นคนจนที่แท้จริง และไม่ทั่วถึง เพราะเราขาดฐานข้อมูลที่ละเอียดและแน่นอนที่สังคมเชื่อถือได้ว่า ใครมีฐานะอย่างไร
"แม้ว่าเราจะไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ได้ว่า ใครยากจนจริงหรือไม่ยากจนจริง แต่ผลสุดท้ายก็ตกอยู่กับคนที่ใกล้ชิด อันนี้คือปัญหาของสังคมไทย ที่บอกว่าจะไปที่คนจนมันก็จะไปตามลักษณะรายชื่อของคนจนที่ผู้มีอำนาจเป็นผู้กำหนด อันนี้ไม่ใช่แค่ประเด็นของเรื่องโดยตรง แต่เป็นปะเด็นของปัญหาแทบทุกปัญหาของสังคมไทย"
อดีตนายกฯ กล่าวถึงเรื่องคอรัปชั่นเราก็มักจะพูดถึงเรื่องการโกงกิน ฉ้อราษฎร์บังหลวง เว้นข้อมูล ทิ้งข้อมูล หรือให้ผลประโยชน์กับผู้มีอำนาจที่อยู่ใกล้ชิด โดยไม่ได้คิดว่า ใครคือคนจน ฉะนั้นคนจนก็รับกรรม ความช่วยเหลือตกไปสู่กลุ่มที่ไม่ได้ขาดแคลนจริง ทำให้สวัสดิการดีๆ ต้องล้มลุกคลุกคลาน จนถูกยกเลิก
"สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมเคยอยู่ในภาคธุรกิจ 20 กว่าปี ผมเห็นเลยว่า ทัศนะของรัฐบาลที่จะออกกฏหมายเพื่อกักตุนคนไม่ดี สุดท้ายจะออกกฏหมายอย่างไรให้คุ้ม ให้ลุล่วงไปได้ คนที่ไม่ดีก็พร้อมจะหลีกเลี่ยงได้ตลอดเวลา ดังนั้นข้อกฏหมายเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและเป็นสิ่งที่เราต้องจำว่า บ้านเมืองมีปัญหาเพราะอะไร เพราะผู้ใหญ่ไทยไม่ค่อยดี และอาจเป็นไปได้ว่า สมัยเด็กๆเขาไม่ได้รับการดูแลที่ดี ไม่ได้รับการอบรมที่ดี ไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดี"
สำหรับเหตุผลที่ต้องมีสวัสดิการแบบถ้วนหน้า อดีตนายกฯ กล่าวว่า เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันไม่มีความเหลี่ยมล้ำ เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลจากรัฐเช่นกัน เราอย่ามองว่า เด็กที่รวยแล้วเขาอาจจะไม่ต้องการ แต่จงมองว่า เด็กที่จนจริงๆเขาได้รับสิทธิเหล่าหรือเปล่า เขาได้รับถ้วบนหน้าหรือไม่
"ถ้าเด็กที่ยากจนได้รับประโยชน์ถ้วนหน้า แล้วเด็กที่รวยจะได้รับผลประโยชน์ไปด้วยก็ปล่อยไป เราต้องคำนึงถึงที่ยากจนถ้วนหน้าจริงๆ บางสิ่งบางอย่างเราอาจจะต้องเสียบ้าง ก็เป็นไปได้ อาจจะหลุดรอดไปยังเด็กที่มีฐานะก็ได้ ไม่เป็นไร คิดเสียว่า ก็ไม่ได้มากไปเท่าไร
ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ ซึ่งมีฐานข้อมูลดีมาก จำนวนพลเมือง ประชากรเด็ก ขณะที่ผู้มีอำนาจเขาก็ไม่เอารัดเอาเปรียบ ข้อมูลของเขาจึงเชื่อได้จริง แต่ของไทยเชื่อไม่เคยได้ และมีเหตุผลหลายอื่นที่เราไม่เชื่อและไม่น่าเชื่อจริงๆด้วย
ฉะนั้น เราต้องลบล้างความไม่เชื่อนั้นออกไป ถึงจะทำขั้นต่อไปได้ ตราบใดที่เรายังไม่เชื่อรัฐ หรือพนักงานของรัฐ ก็ลำบากที่จะทำได้"
นายอานันท์ กล่าวถึงการอุดหนุนดูแลเด็กทั่วโลกที่ทำกันเป็นระบบ เป็นนโยบายระยะยาวต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กๆได้รับการดูแล แล้วก็ส่งผลดีต่อเด็กเป็นอย่างมาก มีความสามารถการเรียนรู้สูงมากขึ้น นั่นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมประเทศอื่นๆด้วย แม้แต่ประเทศที่มีเศรษฐกิจต่ำกว่าเราก็ใช้นโยบายนี้
หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า ประเทศไทยมีเงินมากพอที่จะช่วยเหลือเด็กได้หรือไม่ นายอานันท์ กล่าวว่า จากที่คณะทำงานรัฐบาลได้ประเมินเบื้องต้นว่า งบที่จะใช้อุดหนุนเด็ก 400 บาทต่อปี ใช้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท หากเราดูแบบแยกส่วนเราอาจมองว่า งบประมาณอาจจะดูมาก หากมองจากส่วนรวม เพียง 0.5% ของงบประมาณประจำปีนี้
|
" ผมคิดว่าเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ริเริ่มแนวคิดดังกล่าว ส่วนตัวมีความหวังจะริเริ่มแล้วให้เบ็ดเสร็จ อย่าทำครึ่งๆกลางๆ อย่ามานั่งทดลอง นี่ผมไม่ได้ว่ารัฐบาลนี้นะ"
อย่างไรก็ตาม อดีตนายกฯ กล่าวถึงเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ด้วยว่า เมื่อมองในระยะยาวเงินสนับสนุนเด็กเล็กไม่น่าห่วงไม่บานปลาย และไม่ทำลายวินัยทางการคลัง และไม่ต้องไปยืมเงินนอกงบประมาณหรือไปยืมเงินมาโดยที่ไม่มีใบรับรอง
"ถ้าหากรัฐใช้งบประมาณไม่ฟุ่มเฟือย และไม่ดำเนินการฟุ้งเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นค่าประกันราคาข้าวขาดทุนกว่า 6 แสนล้านบาท หรืออุดฉ้อราษฎร์บังหลวงแต่ละปี เป็นล้านล้าน บาท ขอย้ำว่าล้านล้านบาท
หลายคนอาจจะสงสัยว่า การอุดหนุนเด็กนั้นเป็นประชานิยมหรือเปล่า แต่นี่ไม่ใช่นโยบายประชานิยม วิธีการหาเงินอาจเป็นประชานิยม แต่ตัวนโยบายไม่ใช่ประชานิยม
นักเศรษฐศาสตร์ได้ศึกษาพบว่า การอุดหนุนเงินให้เด็กนั้นเป็นการลงทุนที่มีค่า ผลตอบแทนต่างๆดีขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น และไม่ได้เป็นภาระของประชาชน และนี่จะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว อีกด้วย"
|