นโยบายพลิกอนาคตชาติ ดร.ยงยุทธ เล็งจ่ายเงินอุดหนุนเด็กอ่อนยากจน
นักวิชาการ-ภาคประชาชน หนุนครม.พิจารณาอนุมัติงบประมาณป็นเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ชี้มีเด็กไม่ได้รับเงินอุดหนุนสูงถึง 76%
วันที่ 9 มกราคม 2558 คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) คณะทำงานด้านเด็ก เครือข่ายภาคประชาสังคม คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และองค์การยูนิเซฟ จัดสัมมนา “เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็ก:สวัสดิการพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาอย่างเท่าเทียม ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2 โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
นายยงยุทธ กล่าวถึงการจัดสรรเรื่องเลี้ยงดูเด็กถือเป็นรางวัลสำหรับเด็กไทยและเป็นแนวคิดที่เพิ่งเริ่มเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากมองเห็นว่า เด็กมีความสำคัญในอนาคตและที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการจากรัฐเข้าไปดูแลอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงพยายามที่จะออกมาตรการเพื่อให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีมาตรการในการบริหาร
ส่วนเรื่องกฎหมาย รองนายกฯ กล่าวว่า คงต้องให้หน่วยงานที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้และภาคประชาสังคมช่วยกันดู อีกทั้งนโยบายของรัฐคือต้องการให้มีการบูรณาการคนตลอดช่วงอายุ ซึ่งการอุดหนุนเด็กอ่อนหรือเด็กในช่วงก่อนปฐมวัยนั้นยังไม่มี ในช่วงแรกก็มีแนวคิดอยากจะจัดสรรในรูปแบบอุดหนุนถ้วนหน้า แต่จากผลการศึกษาในหลายประเทศจะให้เฉพาะผู้ที่ยากจน ข้อสรุปนี้จึงยังไม่นิ่ง ดังนั้นจึงจะทดลองจ่ายอุดหนุนให้กับเด็กยากจนไปก่อนในปีแรก หลังจากนั้นค่อยมาชั่งใจอีกทีว่าจะจัดสรรในรูปแบบไหนอีกครั้ง
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการสัมมนาในหัวข้อ “เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อการพัฒนาอย่างเท่าเทียม”
ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กจะเป็นนโยบายพลิกอนาคตของชาติ เนื่องจากสวัสดิการเรื่องเงินอุดหนุนถือเป็นระบบสวัสดิการเพื่อการคุ้มครองทางสังคม แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีพัฒนาการระบบการคุ้มครองทางสังคมเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่ครบถ้วนตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญการดูแลเด็กในช่วงวัย 0-6 ปี เป็นช่วงวัยที่เป็นช่องว่างที่หายไปจากสังคม โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีผู้ปกครองอยู่ในแรงงานนอกระบบที่เป็นปัญหาจำนวนมากเนื่องจากเป็นกลุ่มที่เด็กไม่ได้รับการดูแลสูงถึง 76% หรือจำนวน 4.1 ล้านคนจากจำนวนเด็ก5.4 ล้านคน ซึ่งเด็ก4.1 ล้านคนคือกลุ่มเด็กที่ไม่ได้รับการดูแลทางด้านการเงิน
ดร.สมชัย กล่าวถึงตัวเลขดังกล่าว ไม่รู้จะเป็นเรื่องที่น่าเสียใจหรือดีใจก็ไม่แน่ใจ เพราะหากเปรียบเทียบเรื่องรัฐสวัสดิการในการรักษาพยาบาล หรือเรื่องระบบโรงเรียนหากเทียบกับนานาประเทศไทยเป็นผู้นำหลายอย่าง เช่นเรื่องประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราเดินไปเร็วมาก แต่เรื่องเกี่ยวกับเด็กกลับไม่ขยับหรือเดินหน้าไปไหน ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มขยับสักที
"หลายประเทศที่ทำโครงการเหล่านี้จนประสบความสำเร็จก็ไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก ไม่ว่าจะเป็นเนปาล บังคลาเทศ อินโดนีเซีย เวลาเราจะเริ่มทำโครงการมักจะมีคนตั้งคำถามว่า เรามีเงินพอที่จะทำไหมก็ต้องถามคนเหล่านั้นกลับไปว่า ประเทศเหล่านั้นทำไมทำได้ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่างบประมาณจะไหวหรือไม่ไหว ถ้าเขาทำได้ประเทศเราก็ควรทำได้
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงข้อเสนอในเรื่องการจัดเงินอุดหนุนสำหรับเด็กเล็กด้วยว่า เงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาท สามารถที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารและสามารถที่จะทำให้พ่อแม่บริหารจัดการเงินเพื่อประโยชน์ให้กับลูกได้ ทั้งนี้ทางเลือกข้อเสนอเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กจากภาคประชาสังคมหากเปรียบเทียบระหว่างให้เด็กทุกคนได้รับเงินอุดหนุนเท่าเทียมกัน ข้อดีคือเด็กทุกคนจะได้รับเงินอุดหนุน ส่วนข้อเสียคือรัฐอาจจะต้องใช้งบประมาณมาก และพ่อแม่ในระบบประกันสังคมจะได้ประโยชน์มากกว่า และหากจ่ายเงินอุดหนุมให้เด็กนอกระบบจำนวน 600 บาท ส่วนเด็กที่พ่อแม่ทำงานในระบบรับเพิ่ม 200 ข้อดีคือเด็กทุกคนได้รับเงินอุดหนุนอย่างเท่าเทียม ส่วนข้อเสียคืองบประมาณยังใช้มากพอสมควร แต่น้อยกว่าทางเลือกที่ 1
กรรมการสิทธิ์ ชี้ให้แบบเจาะจง ประเด็นต้องถกเถียง
ด้านนางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า นโยบายเรื่องเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กเป็นสวัสดิการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทยและอนุสัญญาสิทธิเด็กว่า เด็กจะต้องได้รับการพัฒนาต้องมีโอกาสเจริญเติบโตและมีการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์ และที่ผ่านมามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเขียนตัวบทไว้ดีมากแต่กฎหมายเหล่านั้นกลับไม่มีผลในการบังคับใช้ และการที่จะเสนอเรื่องเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า หากเสนอแบบเฉพาะเจาะจงก็จะเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องถกเถียงกันตลอด ดังนั้นอยากฝากนายยงยุทธ รองนายกรัฐมนตรีว่า ช่วยกรุณารับฟังความเห็นวันนี้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงวินาทีสุดท้ายและอย่าเพิ่งเสนอแบบเจาะจง หรือแบบนำร่องทีเดียวเข้าไปในครม. เพื่อให้ทุกฝ่ายจะช่วยกันตกผลึกข้อดีข้อเสียว่าให้แบบถ้วนหน้าสำนักงบประมาณจ่ายไหวหรือไม่ รวมถึงประมวลสถิติเด็กที่แท้จริงจากองค์กรท้องถิ่น เชื่อว่า องค์ความรู้จากหลายๆหน่วยงานจะทำให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนและสมบูรณ์
“อยากให้สิ่งที่เตรียมไว้ตอนนี้เป็นเพียงหลักการที่จะนำไปใช้ในปี 2559 แล้วนำเวลาที่มีมาช่วยกันเตรียมข้อมูล ร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อให้ได้ตัวเลขของเด็กที่ชัดเจนและจะได้นำมาเตรียมการเรื่องงบประมาณ”
คืนความสุขให้กับเด็ก
ขณะที่นางศีลดา รังสิกรรพุม มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนเรื่องนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเด็กในหลายปีที่ผ่านมาการได้ทราบข่าวว่า โครงการเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กกำลังจะถูกนำเข้าคณะรัฐมนตรีหรือมีผู้ใหญ่หลายท่านเห็นด้วยกับเรื่องนี้ถือเป็นการคืนความสุขให้กับเด็ก และเป็นการคืนความสุขให้กับคนทำงานด้านเด็กด้วย ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศพัฒนาทางด้านวัตถุมามากพอสมควร ดังนั้นครั้งนี้จึงเป็นศักราชใหม่ที่จะเริ่มโอกาสดีๆสร้างโอกาสให้เด็กได้มีเงินอุดหนุนสร้างคุณค่าให้กับชีวิต เคารพในความเป็นครอบครัว เคารพในความเป็นพ่อแม่
“เชื่อว่าการให้เงินอุดหนุนอย่างต่อเนื่องจะเป็นการสร้างให้เด็กมีความเป็นอยู่ที่ดี กินอิ่ม นอนหลับ อย่างเท่าเทียมกันในสังคม และเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นและยังถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่เด็กจะเข้าสู่วัยเรียน นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า”
ส่วนนางสาวอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า หากจะผลักดันโครงการนี้จริงๆไม่ควรจะทำเป็นโครงการนำร่อง แต่ต้องผลักดันและทำให้เป็นเรื่องที่จริงจังเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลและต้องมีนโยบายที่ชัดเจนทำแล้วค่อยๆขยับ วันนี้อาจจะต้องเริ่มต้นที่ 600 ไปก่อน อีกสักสองปีค่อยมาพูดกันใหม่ว่าจะมีการปรับเพิ่มหรือไม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ ไม่ใช่อย่างประกันสังคมที่ 24 ปีก็เป็นอยู่แบบเดิม ที่สำคัญการลงทุนเรื่องพัฒนาเด็กอย่าไปเสียดายเงิน อย่าขี้งก เพราะประเทศต้องลงทุนกับคน ที่ประเทศมีปัญหาก็เพราะไม่ยอมลงทุนกับคน ดังนั้นจึงขอสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่