ไม่ใช้นิรโทษฯนำปรองดอง!“บวรศักดิ์” แนะ 3 ทางแก้ปมขัดแย้งการเมือง
ประชุม กมธ.สร้างความปรองดองฯนัดแรก “เทียนฉาย” ลั่นการความสมาฉันท์คือเงื่อนไขสำคัญในการปฏิรูป วอนสื่อเป็นตัวกลางสร้างความเข้าใจ “บวรศักดิ์” แนะ 3 แนวทางแก้ปมขัดแย้งการเมือง ลั่นไม่ยกนิรโทษฯเป็นอันดับแรกสร้างปรองดอง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นครั้งแรก โดยนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธาน สปช. กล่าวภายหลังประชุมว่า เราคำนึงเสมอถึงภารกิจปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนด อาจจะมีผลสำเร็จยากในแต่ละประเด็นภายใต้ภาวการณ์ของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลง การไม่ลงรอยกันทางความคิด และการกระทำ ดังนั้นเงื่อนไขปฏิรูปต้องทำให้รอยร้าวจางลดลงไป โดยการปรองดองสมัครสมานสามัคคีและสมานฉันท์เป็นเงื่อนไขสำคัญในการปฏิรูป และต้องวิเคราะห์ให้ถึงแก่นแท้ว่าความขัดแย้งจะเบาบางได้อย่างไร ดังนั้นจำเป็นต้องมีคณะกรรมการดังกล่าวขึ้น รวมถึงให้นำความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเสนอมา เพื่อเป็นช่องทางให้มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในหลายรูปแบบ จึงขอวิงวอนสื่อมวลชนเป็นตัวกลางสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนและคณะกรรมการด้วย
“ในประเด็นการปรองดองสมานฉันท์จะไม่สำเร็จได้ในทันที และไม่ใช่เงื่อนไขหลักในการเดินหน้าปฏิรูปทั้งหมด แต่ว่าเป็นการเริ่มต้นปฏิรูปความปรองดอง” นายเทียนฉาย กล่าว
นายเทียนฉาย กล่าวด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการเห็นพ้องร่วมกันในการดำเนินงานตั้งแต่การวางกรอบความคิดและออกแบบกระบวนการสมานฉันท์ปรองดองควบคู่ไปกับการปฏิรูปประเทศ โดยร่วมทำงานกับกลไกที่มีอยู่แล้วและที่กำลังจัดขึ้นมา เพื่อผลักดันให้เกิดแนวทางในทางปฏิบัติ พร้อมแสวงหาจุดร่วมของคนในสังคมโดยพูดคุยตรวจสอบข้อเท็จจริงและการถอดบทเรียน ตลอดจนตระหนักถึงผลจากความขัดแย้งในทุกมิติ รวมถึงสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการสร้างความปรองดอง
ส่วนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า ความขัดแย้งที่มีมานานกว่า10ปี ต้องเร่งแก้ปัญหาใหญ่ 3 เรื่อง คือ การสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม การลดเหลื่อมล้ำในสังคม และด้านการเมือง ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างทำขึ้นในส่วนของการสร้างความปรองดอง จึงไม่เหมือนฉบับอื่น ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาปรองดองเฉพาะหน้าให้เร็วที่สุดก่อนการเลือกตั้ง ทั้งนี้การปฏิรูปสามารถใช้ระยะเวลา 4 ปีได้ แต่ปรองดองไม่ควรเกินกว่านั้นดังนั้นจะต้องแล้วเสร็จให้เร็วที่สุด
“ทั้งนี้จะไม่ยกเรื่องนิรโทษกรรมมาพิจารณาอับดับแรกในเรื่องการสร้างปรองดอง แต่ต้องคำนึงถึงปัญหาความขัดแย้งที่สะสมมานาน ทั้งนี้การเขียนรัฐธรรมนูญต้องควบคู่ไปกับสร้างความปรองดองสมานฉันท์ด้วย” นายบวรศักดิ์ กล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายบวรศักดิ์ จาก bangkokbiznews