“ถ้าการเมืองสุดกู่ก็ต้องห้ามล้อ” วิชา : ยกสารพัดเหตุผลถอด“นิคม-สมศักดิ์”
“…เพราะฉะนั้นการที่อาจมีผู้กังวลว่ากระบวนการพิจารณาในเรื่องของการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาจมีผลทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิรูปก็ดี หรือการปรองดองก็ดี เรียนว่า ตรงกันข้าม กับแสดงให้เห็นว่า กระบวนการทั้งหลายของประเทศไทยต่อไปนี้จะเริ่มต้นในกระบวนการทำให้สังคมได้รับความเชื่อมั่น เชื่อถือ ศรัทธา…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นส่วนหนึ่งในคำแถลงของนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
----
กรณีประธานวุฒิสภาร้องขอให้ถอดถอน 1.นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกจากตำแหน่ง 2.นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ก่อนอื่นขอกราบเรียนที่ประชุมเพื่อโปรดทราบถึงต้นตอ หรือที่มาของการดำเนินการในทั้ง 2 เรื่องนี้ คือสำนวนคดีของอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร สมศักดิ์ และอดีตประธานวุฒิสภา นิคม ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจให้ตรงกันก่อนเป็นอันดับแรก
กล่าวคือว่า มีผู้ได้กล่าวไว้ตลอดมาว่า เหตุใดจึงต้องดำเนินการในเรื่องนี้อีก ทั้งที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้สิ้นสุดลงแล้ว และปัจจุบันนี้ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มีผลใช้บังคับแล้ว ขอชี้แจงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 605-73/2557 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 โดยเสียงข้างมาก พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการดำเนินการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา และรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุให้ สนช. ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา จึงมีมติให้ส่งเรื่องไปยังประธาน สนช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
และในคำร้องกล่าวหา ได้พูดถึงเรื่องกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำการทุจริต ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฯ เป็นไปตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 ด้วยเหตุนี้เอง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงส่งเรื่องมายังประธาน สนช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
อีกประการที่สำคัญ ถึงแม้ทั้ง 2 ท่านจะพ้นตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว. แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากผู้ที่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง นอกจากจะมีข้อกฎหมาย ระบุว่า ให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนแล้ว นอกจากนี้ยังมีโทษทางการเมือง ให้ตัดสิทธิผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งใด ๆ ในทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีด้วย ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 65 ซึ่งในกรณีเดียวกันนี้ ที่ประชุมวุฒิสภา ได้มีการพิจารณาคำร้องขอให้ถอดถอน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ โดยมีมติเสียงข้างมาก ให้ดำเนินการกระบวนการถอดถอนต่อไป ด้วยเหตุผลว่า การพ้นตำแหน่งก่อนดำเนินการถอดถอน มิได้เป็นเหตุให้ยุติกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้วยการถอดถอน มิฉะนั้นมาตรการลงโทษจะไร้ผล ที่ต้องผลักดันผู้ที่มีพฤติการณ์ส่อว่าทุจริต และป้องกันไม่ให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีก
อีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรียนว่า เป็นหลักคิดหรือทฤษฎีในการเมืองการปกครองของประเทศ เป็นหลักสากลก็คือ ในกรณีของคำร้องนี้แม้ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามการร้องขอของ ส.ส. ดั้งเดิม หรือ ส.ว. มาตั้งแต่ดั้งเดิมก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี บัดนี้ท่านสมาชิก สนช. เป็นไปตามหลักการสืบสิทธิ์ในทางการเมือง และเป็นการต่อเนื่องในทางการเมืองอย่างไม่ขาดระยะ ที่เรียกกันในระบบว่า เป็นเรื่องของสันตติ ยังไม่ขาด ยังมีลมหายใจในทางการเมือง และปกครองประเทศ
เรื่องหลักในการถอดถอนนั้น เรียนว่า หลักนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอังกฤษ ที่ได้ออกสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และต่อมาได้มีการเกิดขึ้นของสภาขุนนาง และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งให้เอกสิทธิ์ หรือให้สิทธิพิเศษกับสภาสูง หรือสภาขุนนาง ให้ทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศ และในขณะเดียวกันให้มีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นจุดเริ่มต้นเมื่อศตวรรษที่ 13 และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เราก็จะเห็นได้ว่ารากฐานของระบบถอดถอนนั้น ให้เอกสิทธิ์พิเศษสำหรับสภา ฉะนั้นสภาแห่งนี้ทรงไว้ซึ่งอำนาจนอกจากออกกฎหมาย ที่ถือว่ามีอำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติ ยังมีอำนาจอย่างยิ่งยวดในด้านของการพิจารณาถึงบุคคลต่าง ๆ ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และปกครองประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง ว่าสมควรดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มิได้ระบุถึงเรื่องนี้ไว้โดยตรง แต่อำนาจอันนี้ก็จะเข้าไปอยู่ในมาตรา 5 ที่ระบุไว้ว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติในกรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยให้ตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ประเพณีการปกครองดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญนี้
จะเห็นได้ว่า สมาชิก สนช. เป็นผู้ได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่ง ที่ดำรงตำแหน่ง เนื่องจากมาตรา 11 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า สมาชิก สนช. ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องอุทิศตนให้การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
จะเห็นได้ว่า กรณีการแก้ไขสถานการณ์การเมือง การปกครองประเทศในด้านของการพิจารณาว่าบุคคลใดสมควรดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไปหรือไม่ หรือว่าสมควรที่จะได้รับความเชื่อถือศรัทธาไว้วางใจต่อไปหรือไม่ เป็นสิทธิอันทรงไว้อำนาจอันสืบทอดมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 13 ที่เรียนท่านในเบื้องต้นแล้ว
เพราะฉะนั้นการที่อาจมีผู้กังวลว่ากระบวนการพิจารณาในเรื่องของการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาจมีผลทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิรูปก็ดี หรือการปรองดองก็ดี เรียนว่า ตรงกันข้าม กับแสดงให้เห็นว่า กระบวนการทั้งหลายของประเทศไทยต่อไปนี้จะเริ่มต้นในกระบวนการทำให้สังคมได้รับความเชื่อมั่น เชื่อถือ ศรัทธา ไว้วางใจว่า การปฏิรูปประเทศจะเป็นไปด้วยดี การดำเนินการทุกอย่างจะต้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปกครองโดยคนผู้มีจริยธรรม คุณธรรมระดับสูง เหนือกว่าบุคคลอื่นทั้งหมด
ซึ่งกระผมขอเรียนว่า เหตุที่คดีนี้มาเริ่มต้นใหม่ที่ท่าน จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะทำประเทศเราให้ใสสะอาด ปราศจากสิ่งที่ประชาชนไม่เชื่อถือศรัทธาและไว้วางใจ
ย้อนกลับไปที่เกิดเรื่องนี้ขึ้น กระผมก็จำเป็นที่จะต้องกราบเรียนท่านที่เคารพ เสียเวลาสักเล็กน้อยว่า ในสภาที่ใช้เรียกชื่ออื่น แต่ว่าเป็นสภาแห่งเดียวกันนี้ ที่มาที่ไป ก็คือเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 เป็นฐานที่มาของเรื่องที่เรากำลังจะพิจารณาอยู่ในวันนี้ คือมีการยื่นญัตติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ และเป็นที่มาที่เกิดความวุ่นวายขึ้นในทางการเมือง จะเห็นทั้งภาพและเสียง ทุกอย่างอยู่ในนั้นหมด ครบถ้วนกระบวนการ
เราจะเห็นได้ว่าตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2556 เริ่มเสนอให้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 27 มีนาคม 2556 ก็มีการยื่นตัวญัตติที่แท้จริง หรือเป็นเท็จอย่างไรค่อยว่ากันอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกับที่ ส.ว. ลงนามเมื่อวันที่ 20 มีนาคม และต่อมาก็มีการกำหนดเวลาแปรญัตติในวันที่ 18 เมษายน และปิดการอภิปรายระหว่างวันที่ 4 6 11 12 กันยายน
กระบวนการเหล่านี้เป็นที่มาที่ไป ที่นำไปสู่การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นคำวินิจฉัยที่สำคัญที่สุด เป็นคำวินิจฉัยที่ถือได้ว่าเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอย่างแท้จริง คือคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 เราจะเห็นได้ว่า การวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้หยิบยกเอาประเด็นสำคัญสุด คือเรื่องการปกครองประเทศ คือการคุ้มครองเสียงข้างน้อย ไม่ใช่แต่เพียงดูว่าเสียงข้างมากลงมติอย่างไร
เรียนหลักคิดตรงนี้ว่า รากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น เรายอมรับกันว่า สภาผู้แทนฯ วุฒิสภา หรือ สนช. มีอำนาจสิทธิ์ขาดเต็มที่ มีความชอบธรรม ในด้านการดูว่าอำนาจรัฐจะขับเคลื่อนไปอย่างไร โดยเฉพาะในด้านการออกกฎหมาย หรือฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ฝ่ายตุลาการก็ถือว่ามีความชอบธรรมของฝ่ายตุลาการ คือ มีอำนาจในการตรวจสอบ และปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน มิให้เสียงข้างมากก้าวล่วงเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายตุลาการทำหน้าที่ถ่วงดุล หรือตรวจสอบฝ่ายการเมือง ที่เรียกว่าเป็นห้ามล้อในทางสังคม
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัย ที่ให้เห็นประจักษ์ว่า การเมืองถ้าสุดกู่ ต้องมีห้ามล้อทางการเมืองหรือทางสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเผชิญหน้ากันมาก่อนในประวัติศาสตร์ของการดำเนินการนิติบัญญัติ และตุลาการ
ฉะนั้นใคร่จะขอให้สมาชิก สนช. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นรากฐานสำคัญของการตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรามิได้ตรวจสอบนอกเหนือจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดทั้งสิ้น
อ่านประกอบ : “นิคม”ขอพระสยามเทวาธิราชช่วย! วอนสนช.ใช้ดุลยพินิจไม่ถอดถอน