“นิคม”ขอพระสยามเทวาธิราชช่วย! วอนสนช.ใช้ดุลยพินิจไม่ถอดถอน
“วิชา” งัดปมสำคัญตัดสิทธิ์อภิปรายเชือด “นิคม” วันแถลงเปิดคดีต่อ สนช. เปรียบดั่งดาวฤกษ์นำอธิปไตย-ป.ป.ช.ดาวเคราะห์อาศัยแสงถอดถอน ด้าน “อดีตปธ.วุฒิฯ” ลั่นขอพระสยามเทวาธิราชช่วย อะไรเป็นเท็จจะย้อนกลับคนกล่าวหา ขอให้ สนช. ใช้ดุลยพินิจไม่ถอด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
โดยมีการแถลงเปิดสำนวนตามรายงานและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำโดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. และนายธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. รวม 8 คน พร้อมกับการแถลงคัดค้านโต้แย้งของผู้ถูกกล่าวหา นำโดยนายนิคม ขณะที่นายสมศักดิ์ ไม่ได้มาแถลงคัดค้านแต่อย่างใด
เริ่มต้นเปิดแถลงคดีนายนิคมก่อน โดยนายนิคม ได้ยื่นเอกสารให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาประกอบคดีถอดถอนทุกขั้นตอน 3 รายการ คือรัฐธรรมนูญปี 2550 ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2553 และสำเนารายงานของกรรมาธิการ (กมธ.) รัฐสภาพิจารณาร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องข้อกฎหมาย และเกี่ยวข้องกับข้อหาของนายนิคม จึงอนุญาตให้นำมาประกอบการถอดถอนได้
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ เสนอญัตติขอให้การประชุมเพื่อถอดถอนนายนิคมเป็นการประชุมลับ อย่างไรก็ดีถูก สนช. รายอื่นวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านกันอย่างกว้างขวาง ท้ายสุดนายพรเพชร เปิดให้ลงมติ โดยที่ประชุมเห็นด้วย 70 เสียง ไม่เห็นด้วย 107 เสียง งดออกเสียง 19 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง จากองค์ประชุม 197 เสียง จึงต้องประชุมแบบเปิดเผย
@“วิชา” งัดปมตัดสิทธิ์ผู้อภิปราย
นายวิชา แถลงเปิดคดีว่า สำหรับกรณีนายนิคมมี 3 คำร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ขอเรียนว่ารักน้ำใจท่านมาก เพราะท่านก็ส่งเรื่องถอดถอนตัวเองมาให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญ ภายหลังมี ส.ส. และคณะส่งเรื่องมาว่าท่านผิดในข้อต่าง ๆ โดยข้อกล่าวหาของนายนิคมคือ 1.ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. มาตรา 68 237 และ 190 2.กรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยแสดงความเห็นเชิงลบต่อกระบวนการสรรหา ส.ว. 3.ปิดอภิปรายและตัดสิทธิสมาชิกรัฐสภาผู้สงวนญัตติ ผู้แปรญัตติ และผู้สงวนความเห็น เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.
“อย่างไรก็ตามในข้อกล่าวหาเรื่องร่วมลงชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูล จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป เหลือเพียงข้อกล่าวหาเดียวคือปิดอภิปรายและตัดสิทธิ์ในการอภิปรายเท่านั้น” นายวิชา กล่าว
นายวิชา กล่าวว่า การกระทำของนายนิคม ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทนในส่วนนี้ รับญัตติจบการอภิปราย ทั้งที่มีผู้แปรญัตติ สงวนญัตติ และสงวนความเห็น เป็นการตัดสิทธิ์สมาชิกรัฐสภา โดยการใช้เสียงข้างมากปิดอภิปราย แม้จะเป็นดุลยพินิจของประธาน แต่การใช้ดุลยพินิจดังกล่าว ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่กลับตัดสิทธิ์การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ละเลยไม่ฟังเสียงข้างน้อย จึงเป็นการดำเนินการที่รวบรัด เพื่อให้ลงคะแนนโดยมิชอบ เอื้อฝ่ายข้างมากโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักนิติธรรม
นายวิชา กล่าวอีกว่า เมื่อมีผู้เสนอให้ปิดอภิปราย ประธานดำเนินการอย่างอื่นไม่ได้ การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมร่วมกัน ต้องมีความรอบคอบ ต้องควบคุมให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถ้าว่าญัตติไม่ถูกต้อง ไม่มีเหตุผล สามารถใช้ดุลยพินิจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้หลายวิธี เช่น พักการประชุม หรือให้วิป 3 ฝ่ายหารือกัน ดังนั้นคำอ้างที่นายนิคมหยิบยกขึ้นมานั้นจึงรับฟังไม่ได้
“คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำของนายนิคม มีมูลความผิดส่อว่าใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 291 เป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 270 272 วรรคสี่ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ป.ป.ช. แก้ไขเพิ่มเติม 2554 มาตรา 56 58 61 62” นายวิชา กล่าว
@ยก สนช. เหมือนดาวฤกษ์แห่งอำนาจอธิปไตย
นายวิชา กล่าวด้วยว่า กระบวนการพิจารณาของ สนช. ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายตุลาการ ทำหน้าที่ในฐานะตุลาการผู้พิจารณาในเรื่องถอดถอนเป็นบทบาทที่มีความสูงสุดอีกประการหนึ่ง มิอาจหลีกเลี่ยงได้ในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิได้ทำด้วยอำนาจของตัวเอง หรือมุ่งร้ายโค่นล้มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ทำเพราะได้รับมอบหมายจากวุฒิสภา
“จะเป็นสภาผู้แทนราษฎรก็ดี เป็นวุฒิสภาก็ดี หรือเป็น สนช. ก็ดี ล้วนแต่เป็นองค์แห่งอำนาจอธิปไตยโดยแท้ เปรียบได้ดั่งดาวฤกษ์ แต่ ป.ป.ช. ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการถอดถอนเหมือนดาวพระเคราะห์ อาศัยแสงจาก สนช. จึงดำเนินการถอดถอนได้” นายวิชา กล่าว
@“นิคม” แก้ตัวยันทำตามกฎหมาย โวเป็นปธ.วุฒิฯยาวนานที่สุด
ด้านนายนิคม แถลงคัดค้านว่า ศักดิ์ศรีของสถาบันนิติบัญญัติหากถูกลบหลู่ หรือถูกกล่าวหาต่อไปเราจะทำงานกฎหมายไม่ได้ เชื่อว่าทุกท่านที่เป็น สนช. วันใดไปร้ององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แล้วชี้ว่าท่านทำผิด ท่านก็จะเป็นอย่างนี้ รวมถึงประธานที่นั่งบนบัลลังก์ด้วย แม้รัฐธรรมนูญ จะมีบทบัญญัติที่ให้คุ้มครองทุกท่าน การอภิปราย การลงมติ เป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ใครจะนำไปฟ้องร้อง หรือกล่าวหาอย่างอื่นไม่ได้ ทั้งนี้หลักนิติธรรมนั้นจริงอยู่ เห็นด้วยกับนายวิชา ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องทำตามหลักนิติธรรม แต่หลักนี้ไม่สามารถยกเว้นหลักกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรได้ ตนยึดหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าเอกสิทธิ์ในการอภิปรายเป็นเด็ดขาดใครฟ้องร้องไม่ได้ รวมถึงคนทำหน้าที่ประธานด้วย ไม่อย่างนั้นจะวุ่นวาย หรือไม่วันดีคืนดีอภิปรายไปก็โดนฟ้อง โดนกล่าวหา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คุ้มครอง แต่ถ้าพาดพิงบุคคลที่ 3 จึงจะไม่คุ้มครอง
“ผมไม่มีอะไรที่ทำนอกเหนือจากนั้นเลย ผมเป็นประธานที่ประชุม เชื่อหรือไม่ 82 ปีไปย้อนดูประวัติศาสตร์ คนชื่อนิคม เป็นประธานวุฒิสภายาวนานที่สุด ผมท่องข้อบังคับการประชุมได้หมด” นายนิคม กล่าว
@ชี้โดนเกมการเมืองกลั่นแกล้ง
นายนิคม กล่าวว่า ส่วนกรณีข้อกล่าวหารับญัตติปิดประชุม โดยมีสมาชิกอีกเป็นจำนวนไม่ได้อภิปราย พรรคประชาธิปัตย์บอกว่ามีอยู่ 107 คนนั้น แต่นับดูแล้วมีถึง 200 คน และมี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ด้วย ถ้าจะกรุณาเปิดดูในรายงานการประชุมหน้าที่ 67-123 จะถึงบางอ้อ ทำไมในระหว่างการประชุมพิจารณาในมาตรา 5 นั้น ใช้เวลา 5 ชั่วโมง 33 นาที มีผู้อภิปรายไปแล้ว 16 คน และเป็นเวลาที่นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้เสนอขอปิดประชุม เป็นการเสนอตามญัตติประกอบ และเป็นเอกสิทธิ์ของผู้เสนอ ถ้าจะดูว่าในคำร้องของผู้ร้อง พอมีคนเสนอ ก็ต้องถามที่ประชุม เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับที่ 59 วรรคหนึ่ง ขณะเดียวกันได้บอกให้คนที่ถูกตัดสิทธิ์ส่งรายชื่อมา แต่ไม่มีใครพูดสักคำ แล้วก็ถึงบางอ้อว่าทำไมไม่ส่ง เพราะผู้ที่แปรญัตติทั้ง 95 คนทำผิดหลักการทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเทคนิค ลูกเล่นของคนที่เล่นการเมืองมานาน
“ผู้ที่เสนอมีเจตนาอย่างไร ผมบอกเลยว่านี่เป็นการแก้ไขกฎหมายที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตีรวนหมด นอกประเด็นทุกอย่าง จะเห็นว่ากลุ่มแรกให้ตัดออกทั้งมาตรา หมายความว่ายังมี ส.ว.สรรหาอยู่ กลุ่มที่สองลอกมาผิด ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งต้องการให้คนลงเลือกตั้งมีคุณสมบัติอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วทำไมคนเหล่านี้ไม่อภิปราย เพราะในมาตรา 3 ยกเลิกมาตรา 111 ไปแล้ว ถ้าแพ้ในมาตรานี้ มาตราที่เกี่ยวข้องจะไม่อภิปราย มันเป็นอย่างนี้” นายนิคม กล่าว
@ขอ “พระสยามเทวาธิราช” ช่วย วอน สนช.ใช้ดุลยพินิจไม่ถอด
นายนิคม กล่าวด้วยว่า แล้วลองไม่รับญัตติดูสิ อีกฝ่ายเล่นงานแน่ ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ทำหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุม ทำให้การประชุมเรียบร้อย และไม่ได้มีอคติ ถ้ามีอคติ ตนไม่เสนอเรื่องที่เขากล่าวหาไปที่ ป.ป.ช. หรอก แม้จะรู้ว่าเป็นเท็จก็เสนอไป เพราะเวลานั้นอยู่ในอารมณ์ของความเกลียดชัง
“ขอพระสยามเทวาธิราช อะไรเป็นธรรมก็ต้องเป็นธรรม อะไรไม่เป็นจริงต้องปรากฏกับคนที่กล่าวหาผม ผมเชื่อว่าสถานที่นี้ศักดิ์สิทธิ์ และทุกท่านใช้ดุลยพินิจที่จะไม่ถอดถอนผม เพราะการถอดถอนประธานวุฒิสภา-รัฐสภา ประวัติศาสตร์จะต้องจารึก เพราะคนทำตามข้อบังคับ แต่กลับมีความผิด” นายนิคม กล่าว
@“วิชา” งัดสารพัดข้อกล่าวหาถอด “สมศักดิ์”
ส่วนกรณีนายสมศักดิ์ นายวิชา แถลงเปิดคดีว่า มีพฤติการณ์ 6 ข้อ คือ การรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ที่ถูกเปลี่ยนจากร่างหลักการเดิมที่เสนอโดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร และ ส.ส. จำนวน 315 คนเป็นผู้เสนอ ซึ่งมีการแก้ไขหลักการเพิ่มเติมทำให้ ส.ว. ดำรงติดต่อกันได้ไม่ต้องเว้นวรรค แม้เจ้าหน้าที่รัฐสภาและผู้ถูกกล่าวหาจะให้การว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทำได้ แต่ต้องเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่เปลี่ยนทั้งฉบับ ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291
“กรณีดังกล่าว เป็นการแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศ กลับกระทำการเสมือนหนึ่งแก้ไขผิดพลาดเล็กน้อยไม่เป็นสาระสำคัญ การเพิ่มหลักการไม่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ ข้ออ้างที่ว่าเข้าใจโดยสุจริต โดยถามเจ้าหน้าที่ผู้เสนอแล้วไม่อาจรับฟังได้ ซึ่งการทำหน้าที่ประธานรัฐสภาต้องพิจารณาหากเห็นว่าบกพร่อง ต้องเสนอญัตติให้ถูกต้อง ข้ออ้างของนายสมศักดิ์จึงฟังไม่ขึ้น” นายวิชา กล่าว
นายวิชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้นายสมศักดิ์ยังส่อใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอีก ไม่ว่าจะเป็น การจงใจปิดอภิปรายก่อนครบวาระที่กำหนดไว้ การกำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 15 วัน โดยใช้ดุลยพินิจของตัวเอง การร่วมกับนายนิคม ตัดสิทธิ์ผู้ขอแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็น การจงใจปิดอภิปรายในมาตรา 10 ที่ผู้แปรญัตติ สงวนคำแปรญัตติ และสงวนความเห็นยังไม่อภิปราย ซึ่งส่อใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้หมดแล้ว ส่วนข้อที่ว่าจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้วนั้น ป.ป.ช. เห็นว่าไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
“ป.ป.ช. ในการประชุม 556-024/2557 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำและพฤติการณ์ของนายสมศักดิ์ เว้นแต่จัดให้ลงมติวาระที่ 3 จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อกฎหมาย อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 291 เป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 270 272 วรรคสี่ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ป.ป.ช. แก้ไขเพิ่มเติม 2554 มาตรา 56 58 61 62” นายวิชา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นด้วย 186 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง จากองค์ประชุม 192 คน รับข้อเสนอนายสมชาย แสวงการ สนช. ที่ให้ตั้ง กมธ.วิสามัญซักถามฯ กรณีนายนิคม 9 คน ซึ่งจะมีการประชุมของ กมธ.วิสามัญฯ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2558 ขณะที่กรณีนายสมศักดิ์ มีมติให้ถามคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพิ่มเติมในวันที่ 12 มกราคม 2558 หลังจากนั้นจะมีการตั้ง กมธ.วิสามัญซักถามฯ ไม่เกิน 21 คน