แนวโน้มสูง 'กมธ.พลังงาน' เล็งชง ‘ประยุทธ์’ ดันเปิดสัมปทานรอบที่ 21
‘รสนา’ เผยกมธ.พลังงานมีแนวโน้มสูงเลือกเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ก่อนเปลี่ยนระบบแบ่งปันผลผลิต เตรียมชง 'ประยุทธ์' 15 ม.ค. 58 ด้านภาค ปชช.ยันต้องหยุด หวั่นกระทบสิทธิชุมชน-มนุษยชน ระบาดทั่วพื้นที่อีสาน
วันที่ 8 มกราคม 2558 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร ม.รังสิต และสำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการมีส่วนร่วมขององค์กรที่สำคัญ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดประชุม ‘แนวทางการบริหารจัดการพลังงานปิโตรเลียมอย่างยั่งยืน’ ณ โรงแรม เดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 โดยเปิดยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 29 แปลง ทั้งบนบกและทะเล สปช.จึงจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น เพื่อนำข้อเสนอทั้งหมดรายงานต่อรัฐบาลประกอบการพิจารณา
นายประชา เตรัตน์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อศึกษาย้อนกลับไป 50 ปีที่ผ่านมา พบคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งในไทยร่ำรวยมหาศาลจากการสัมปทานทรัพยากรของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ แร่ธาตุ บ่อทราย ปิโตรเลียม และสังหาริมทรัพย์ไร้รูปร่าง (อากาศ สัญญาณ หุ้น) ซึ่งระบบสัมปทานของไทยล้มเหลวมาตลอดในแง่การสร้างประโยชน์สูงสุด โดยรัฐได้รับค่าภาคหลวงน้อยมาก จึงสนับสนุนให้เปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทน
“ผู้ใหญ่ในกระทรวงพลังงาน มักระบุว่า หากใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตจะไม่ดี เพราะไทยมีบ่อน้ำมันน้อย ซึ่งความจริงแม้จะมีน้อยก็แบ่งน้อย มีมากก็แบ่งมากได้” ปธ.กมธ.วิสามัญฯ กล่าว และว่า ประชาชนไม่มีเจตนาคัดค้านทุกเรื่อง แต่การดำเนินนโยบายต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความสุจริต ถูกต้อง และเป็นธรรม
นายประชา กล่าวด้วยว่า ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยืนยันจะบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ ทรัพยากรของชาติถือเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ใครจะให้ผู้ใดมาทำประโยชน์กับทรัพยากรต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดเกิดขึ้นกับแผ่นดินและประชาชน
ด้านดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การเปิดสัมปทาน 20 รอบ ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อชุมชน เมือง และพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งการพัฒนาสร้างความอยุติธรรมขึ้น ล้วนมาจากการตัดสินใจจากรัฐส่วนกลางทำสัญญากับเอกชน แล้วมัดมือชกชาวบ้าน ทั้งนี้ หากยอมให้เปิดสัมปทานรอบที่ 21 การสัมปทานจะเกิดขึ้นทั่วเกือบพื้นที่อีสาน และชาวบ้านต้องเผชิญกับก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) ไปตลอดอายุการสัมปทานโดยขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
สำหรับกระบวนการขุดเจาะและผลิตแหล่งปิโตรเลียม อาจารย์ ม.มหาสารคาม ยอมรับว่า ไทยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ได้รับการบิดเบือนมากที่สุด ไม่มีการเปิดเผยรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment :EIA) ไม่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ส่วนเวที ค.1 ค.2 และ ค.3 ที่ผ่านมาล้วนหลอก เพื่อให้เซ็นชื่อแจกไก่ย่าง จักรยาน เสื้อ กระเป๋า พฤติกรรมเช่นนี้เปรียบกับการปล้นสะดม
ดร.ไชยณรงค์ กล่าวถึงข้อเสนอหลัก คือ หยุดการให้สัมปทานรอบที่ 21 เพราะที่ผ่านมาละเมิดสิทธิชุมชนและมนุษยชนอย่างร้ายแรง เพิ่มกลไกการตรวจสอบแปลงสัมปทานที่อนุมัติแล้ว หากพบการกระทำผิดกฎหมาย ต้องเพิกถอนการสัมปทานทันที จนกว่าจะมีการเจรจาใหม่ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ตั้งแต่ขั้นตอนตัดสินใจให้สัมปทาน ตลอดจนจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อพิจารณาอีไอเอ มิฉะนั้นรัฐอาจรับใช้กลุ่มทุน
ที่สำคัญ ต้องให้การซื้อเสียงโครงการขนาดใหญ่มีโทษทางกฎหมาย เพราะเลวร้ายเทียบเท่าการซื้อเสียงของนักการเมือง
ขณะที่ดร.นพ สัตยาศัย ประธานชมรมวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมปฏิรูปประเทศไทย (วศ.รปปท.) กล่าวว่า รัฐควรลงทุนงบประมาณราว 5 พันล้านบาท ใช้ในการสำรวจปิโตรเลียมประเทศด้วยตัวเอง เก็บเป็นฐานข้อมูลของชาติ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเปิดสัมปทาน รอบที่ 21 โดยไม่จำเป็นต้องสำรวจครั้งเดียวทั้งหมดก็ได้
“ถ้ารัฐสำรวจทรัพยากรด้วยตัวเองจะมีฐานข้อมูลรับรู้ได้ว่า ปริมาณปิโตรเลียมในประเทศมีเท่าไหร่ โอกาสเจอมากน้อยเพียงใด ข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจของรัฐบาล เพื่อจะหลอกลวงกันไม่ได้ พร้อมกันนี้ต้องแก้ไขกฎหมายส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้วย” ประธาน วศ.รปปท. กล่าว
ท้ายสุด น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมขององค์กรที่สำคัญ เปิดเผยว่า กรรมาธิการปฏิรูปพลังงานมีข้อเสนอ 3 รูปแบบ คือ ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต และอนุมัติเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ไปก่อน และเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตภายหลัง ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ บางท่าน มีความเห็นไม่ควรฟันธงเลือกใช้ระบบใด แต่ควรระบุข้อดีกับข้อเสียในแต่ละระบบ โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุม สปช. วันที่ 13 มกราคม 2558 ก่อนสรุปรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรี วันที่ 15 มกราคม 2558
เมื่อถามถึงทิศทางที่จะเกิดขึ้น ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการอนุมัติเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ไปก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต โดยอ้างเหตุผลการผ่านกฎหมายใช้เวลานาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงต้องถกเถียงว่าจำเป็นมากน้อยเพียงใด เพราะเรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดมาก
เฉพาะการประชุมครั้งนี้ก็ทำให้ได้รับข้อมูลใหม่ พบว่า การดำเนินนโยบายที่ผ่านมายังส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนและสุขภาพของชาวบ้านด้วย เหตุการณ์เหล่านี้ถูกต้องหรือไม่กับการปฏิรูปประเทศที่ต้องการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ .