แผน"รฟท."ไล่ที่-ท่วงหนี้ ปตท.132 ล. สะดุด! สนง.อัยการสูงสุด ชี้ขาดไม่มีสิทธิ
แผน"รฟท."ขับไล่ทีสำนักงานใหญ่- ปั้มน้ำมัน ปตท. ริมถนนวิภาวดีรังสิต แถมหนี้ค้าง 132 ล้าน สะดุด! สนง.อัยการสูงสุด ชี้ขาดไม่มีอำนาจ ติดขัดข้อผูกผันในสัญญาเก่า ต้องยินยอมให้ต่อใหม่ โดยไม่สามารถเรียกค่าเช่า-ตอบแทน ยาวนาน 30 ปีเต็ม ระบุชัดเหตุผลโต้แย้งฟังไม่ขึ้น
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กำลังอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองอัตราค่าเช่าที่ดิน บริเวณสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ฉบับใหม่ หลังจากที่สัญญาเดิมซึ่งปตท.ได้รับสิทธิให้เข้าใช้ประโยชน์ ซึ่งกำหนดอายุสัญญาระยะเวลา 30 ปี หมดลงไปแล้ว ตั้งแต่ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ :ปตท.ฟันรายได้ล้านล.ยื้อจ่ายค่าเช่าที่รฟท.ฉบับใหม่พันล.!ของเก่าควักแค่54 ล., เผยโฉมสัญญาประวัติศาสตร์ "ปตท.-รฟท."เช่าที่ยาว 30 ปีควักจ่ายแค่54 ล.!)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.57 ที่ผ่านมา นายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์และอำนวยการรักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่่งประเทศไทย (รฟท.)ได้ทำหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้รื้อถอนอาคารพร้อมทั้งชำระค่าใช้ประโยชน์ที่ดินที่ค้างชำระ
โดยระบุว่า ตามที่ รฟท. ทำหนังสือสัญญาก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดิน ระหว่าง รฟท. กับ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ชื่อเดิมของบริษัท ปตท.) ลงวันที่ 1 เม.ย. 26 เพื่อก่อสร้างสำนักงานใหญ่ของ ปตท. และดำเนินการอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของการปิโตรเลียม และทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ระหว่างกัน ลงวันที่ 14 ม.ค.34 เพื่อใช้เป็นทางขึ้น-ลง และลานจอดรถยนต์ใต้อาคารของผู้เช่า
ปรากฎว่าในระหว่างสัญญา ปตท. ได้ให้บุคคลภายนอกเช่าที่ทำการสำนักงานใหญ่ และดำเนินการนำที่ดินเช่าก่อสร้างเป็นสถานีบริการน้ำมัน ปตท. โดยมิได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ทราบ จึงถือว่าปตท.ประพฤติปฏิบัติผิดสัญญาทั้ง 2 ฉบับ กรณีต้องไม่กระทำการใดๆ ให้เช่าผิดไปจากลักษณะที่ทำประโยชน์ไว้ ซึ่งการดำเนินการต้องได้รับอนุญาตก่อน
และสัญญาทั้งสองฉบับได้สิ้นสุดแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.56 ปรากฎว่า ปตท.ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของ รวมทั้งบริวารออกจากไปพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งปตท.ทราบดีอยู่แล้วทำให้การรถไฟฯ ได้รับความเสียหายอย่างมาก
"ฉะนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอแจ้งให้ท่านดำเนินการรื้อถอนอาคาร สำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และส่วนควบอื่นๆ บริเวณพื้นที่เช่าริมถนนวิภาวดีรังสิต (นิคมรถไฟ กม.11) เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของ รวมทั้งบริวารออกจากพื้นที่ดังกล่าว และขอให้ท่านชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่สัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลง คือ วันที่ 1 เม.ย.56 เป็นเงินเดือนละ 6,328,492 บาท จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 เป็นเงินจำนวน 132,898,332 บาท ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยภายในกำหนด 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ท่านได้รับหนังสือฉบับนี้ หากพ้นกำหนดแล้วท่านมิได้ดำเนินการใดๆ การรถไฟฯ มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีกับท่านต่อไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด"
(ดูหนังสือ รฟท.ประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ข้อพิพากระหว่าง รฟท.กับ ปตท. ดังกล่าว ได้มีการนำส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาในช่วงปลายเดือนธันวาคม 57 ที่ผ่านมา และมีการแจ้งหนังสือตอบกลับมาให้ รฟท.รับทราบอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.57 ที่ผ่านมา
โดยสำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จะเปลี่ยนมาเป็น ปตท. แต่สิทธิตามสัญญาก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินและสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินที่ได้ตกลงทำนิติกรรมสัญญาไว้กับ รฟท ย่อมโอนมาเป็นของ ปตท.
ส่วนกรณีสิทธิเหนือพื้นดิน เมื่อตามสัญญาก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดิน ในข้อ 2 วรรคสาม กำหนดไว้ว่า เมื่อครบกำหนดเวลา 30 ปี ในวันที่ 31 มี.ค.56 ตามวรรคแรกแล้ว รฟท.ยอมต่ออายุสัญญาให้ ปตท.ต่อไปอีกเป็นระยะๆ โดยการต่ออายุสัญญาแต่ละครั้งมีกำหนดเวลา 30 ปี โดยไม่มีค่าเช่าและค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
ข้อกำหนดดังกล่าว รฟท.ได้แสดงเจตนาโดยชัดเจนสมบูรณ์ยอมผูกมัดตนที่จะต่ออายุสัญญาให้แก่ ปตท.จึงเป็นคำมั่นที่มีผลผูกพัน รฟท.
เมื่อปตท.ได้มีหนังสือแจ้ง รฟท.ขอต่ออายุสัญญาก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินต่อไปอีก 30 ปี ก่อนระยะเวลาตามสัญญาเดิมสิ้นสุดลง รฟท. จึงไม่อาจปฏิเสธหรือโต้แย้งได้ และต้องยินยอมทำสัญญาต่ออายุสัญญาก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่ ปตท.โดยไม่มีค่าเช่าหรือค่าตอบแทนใดๆ ตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้ต่อ ปตท.
ส่วนกรณที่ รฟท. กล่าวอ้างว่า ปตท.กระทำผิดสัญญาก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดิน โดยยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้าใช้ประโยชน์ภายในอาคารสำนักงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก รฟท.และกระทำผิดสัญญาเช่าที่ดิน โดยใช้ที่ดินที่เช่าก่อสร้างเป็นสถานีน้ำมัน ปตท. อันเป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก รฟท.ก่อนนั้น
เห็นว่า รฟท.ได้ทราบเหตุที่อ้างว่าผิดสัญญาดังกล่าวมาโดยตลอด เป็นระยะเวลาอันยาวนานก่อนวันครบกำหนดสัญญาทั้งสองฉบับ แต่ไม่เคยบอกกล่าวให้แก้ไขหรือทักท้วงหรือใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โดยยังคงให้ปตท.ใช้ประโยชน์ที่ดินดำเนินการดังกล่าวต่อไป จึงถือได้ว่า รฟท.ไม่ถือเอาข้อกำหนดของสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญอีกต่อไป
รฟท.จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อกล่าวอ้างที่จะไม่ต่ออายุสัญญาก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดิน ให้แก่ ปตท.ได้
สำนักงานอัยการสูงสุด ยังพิจารณาแล้วเห็นว่า รฟท.ไม่อาจเรียกร้องให้ ปตท. ชำระค่าเช่าหลังจากครบกำหนดการเช่า 3 ปี ในอัตราค่าเช่าที่สูงกว่าที่กำหนดในสัญญาเช่าเดิมได้
"จึงวินิจฉัยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังคงมีความผูกพันตามคำมั่นในสัญญาก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดิน ข้อ 2 วรรคสาม ที่จะต้องทำสัญญาต่ออายุสัญญาก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินให้กับ ปตท.มีกำหนด 30 ปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป โดยไม่มีค่าเช่าและค่าตอบแทนใดๆ และการเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าในข้อพิพากนี้ เป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดเวลา โดยรฟท.กับ ปตท.ยังคงผูกพันตามข้อสัญญาเช่าที่ดินที่ได้ทำไว้ต่อกันจนกว่า รฟท.จะแจ้งบอกเลิกสัญญาเช่าตามมาตรา 566 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โดยที่เป็นกรณีหน่วยงานของรัฐพิพาทกันเอง สมควรที่การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท.(จำกัด) มหาชน จะได้เจรจากันโดยตรงอีกครั้งหนึ่ง จึงเรียนมาเพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการดังกล่าวข้างต้น หากไม่สามารถตกลงกันได้หรือมีข้อโต้แย้งประการใด ขอให้แจ้ง สำนักงานอัยการสูงสุดทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ เมื่อพ้นกำหนดแล้วสำนักงานอัยการสูงสุดจะได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินการคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติ ครม. วันที่ 12 ธ.ค.2549 พิจารณาตัดสินชี้ขาดต่อไป" หนังสือสำนักงานอัยการระบุ