"กูรูไฟใต้"บอกไฟยังไม่มอด เจรจาบีอาร์เอ็นถึงทางตัน
ไฟใต้ที่คุโชนรอบล่าสุดนี้ยืดเยื้อมานานถึง 11 ปี หากนับจากวันปล้นปืนครั้งมโหฬารจากค่ายทหารที่บ้านปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.47
แต่วันนี้แทบไม่มีข่าวคราวเกี่ยวกับปัญหาใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วร่วมๆ 4 พันคนเลย
อาจเป็นเพราะว่าภาพรวมของสถานการณ์ดูดีขึ้น ไม่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ตั้งแต่ก่อนปีใหม่ จริงๆ ก็เกือบจะตลอดเดือน ธ.ค.57 และในวันครบรอบ 11 ปีปล้นปืน ก็ไร้เหตุการณ์ความไม่สงบ จึงไม่ค่อยมีใครสนใจความเป็นไปในพื้นที่เท่าใดนัก
ประกอบกับรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงก็ได้นำตัวเลขสถิติต่างๆ มารายงานผ่านสื่อเป็นระยะว่าสถานการณ์โดยรวมดีขึ้น เหตุร้ายลดลง แถมยังมี "ทุ่งยางแดงโมเดล" ที่ดึงพลังประชาชนมาร่วมด้วยช่วยกันดูแลความปลอดภัยในพื้นที่อีกต่างหาก
มีเพียงเสียงชาวบ้านที่ต้องเผชิญยถากรรมอยู่ในพื้นที่ซึ่ง "ศูนย์ข่าวอิศรา" นำมาถ่ายทอดเอาไว้เท่านั้นที่ยังเห็นว่าบรรยากาศที่บ้านเกิดของพวกเขาไม่ได้ดีขึ้นสักเท่าไหร่เลย แถมยังไม่ค่อยให้ราคากระบวนการพูดคุยสันติสุขที่จะมีการเปิดวงกันใหม่ในเร็วๆ นี้ด้วย
น่าแปลกที่เสียงจากชาวบ้านไปสอดคล้องกับเสียงของ "กูรูไฟใต้" อย่าง พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาค 4 เจ้าของทฤษฎีบีอาร์เอ็นจุดไฟความไม่สงบ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงจากกำลังพลในกองทัพ ซึ่งแม้ปัจจุบัน พล.อ.สำเร็จ (ตท.13) จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ก็ยังติดตามความเคลื่อนไหวจากปลายด้ามขวานอยู่ตลอด และกำลังเตรียมเขียนหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเพื่อเป็นวิทยาทานแก่น้องๆ ในกองทัพด้วย
พล.อ.สำเร็จ บอกว่า เหตุรุนแรงในพื้นที่ที่ลดลงอย่างชัดเจนในช่วงนี้เป็นเพราะฝนตก น้ำท่วม ประกอบกับการตรึงกำลังเข้มแบบเต็มพิกัดของฝ่ายความมั่นคง ทำให้ฝ่ายขบวนการก่อเหตุไม่ได้
"ยุทธวิธีของขบวนการใช้ถนนในการก่อเหตุ เมื่อถนนใช้การไม่ได้เพราะถูกน้ำท่วม ทุกอย่างก็หยุดชะงัก" พล.อ.สำเร็จ อธิบาย โดยเขาเคยบรรยายเอาไว้หลายแห่งว่าเหตุรุนแรงกว่าร้อยละ 80 เกิดขึ้นบนถนน และหมู่บ้านที่กลุ่มขบวนการใช้เคลื่อนไหวก็ล้วนมีถนนเข้าถึง เพราะการยึดถนนคือยุทธศาสตร์สำคัญของขบวนการในการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ
แม้การก่อเหตุรุนแรงจะหยุดชะงักไป แต่ พล.อ.สำเร็จ บอกว่า ฝ่ายขบวนการยังไม่ได้พ่ายแพ้ หรือยอมแพ้ เพราะการสร้าง "นักรบรุ่นใหม่" ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเด็กดีๆ เก่งๆ จากในหมู่บ้านไปเปลี่ยนทัศนคติ ปลูกฝังแนวคิดใหม่ และติดอาวุธให้
"เขายังขยายฐานสมาชิกตลอด อีก 10 ปีข้างหน้าเด็กพวกนี้ก็เป็นหนุ่มฉกรรจ์ ก็จะออกมาก่อเหตุรุนแรงอีก เอาแค่หมู่บ้านละ 5-6 คนเราก็แย่แล้ว ฉะนั้นปัญหาจึงยังไม่จบ เรียกว่าหยุดแต่ไม่เลิก"
พล.อ.สำเร็จ บอกว่า การตัดวงจรการสร้างนักรบรุ่นใหม่ผ่านทางสถานศึกษาระดับท้องถิ่น เป็นสิ่งที่รัฐและฝ่ายความมั่นคงยังดำเนินการได้น้อยมาก และไม่ประสบความสำเร็จเลยตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้
เมื่อถามถึงการพูดคุยสันติสุข ซึ่งหมายถึงการพูดคุยรอบใหม่กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ พล.อ.สำเร็จ ตอบทันทีว่า "เรื่องพูดคุยไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะบีอาร์เอ็นไม่ได้อยากพุดคุย และไม่ยอมคุย"
อดีตรองแม่ทัพภาค 4 ชี้ว่า โต๊ะพูดคุยที่เปิดขึ้นในรัฐบาลชุดที่แล้ว (ปี 56) และตัวเขาเป็น 1 ใน 15 คนของคณะพูดคุยนั้น มีตัวแทนบีอาร์เอ็นเข้าร่วมด้วยก็จริง แต่เป็นเพราะ "ถูกลากคอมาคุย" ซึ่งเป็นเรื่องที่คนวงในรู้กันดี และคนที่จะลากคอได้ก็มีเพียงมาเลเซียเท่านั้น
ปัญหาคือครั้งนี้หากจะพูดคุยกันใหม่ และต้องการให้บีอาร์เอ็นเข้าร่วม ก็ต้องใช้วิธีเดิม แต่คำถามคือมาเลเซียจะช่วยไทยแบบเดิมหรือไม่ รัฐบาลไทยคุยกับมาเลเซียได้ลึกขนาดนั้นแล้วหรือยัง ขณะที่แกนนำบีอาร์เอ็นทั้งหลายที่ยังไม่ถูกเปิดเผยตัวก็พยายามหลบเลี่ยงที่จะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย
"ถ้ามาเลเซียยังใช้วิธีเดิม เราก็ต้องรู้ว่าเราจะคุยอะไร เพราะเราต้องพูดให้บีอาร์เอ็นฟัง และพูดให้มาเลเซียฟังด้วย ฉะนั้นผมเห็นว่าการพูดคุยรอบใหม่ หากจะคุยได้ก็คงมีพวกพูโลกลุ่มต่างๆ เช่น กัสตูรี (นายกัสตูรี มาห์โกตา) หรือซัมซูดิง คาน พวกนี้อยากคุยกับเราอยู่แล้ว แต่จะส่งผลต่อสถานการณ์หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"
อย่างไรก็ดี พล.อ.สำเร็จ ประเมินสถานภาพของขบวนการปฏิวัติปัตตานีว่า ถึงจะไม่หยุดแนวคิดปฏิวัติ แต่หนทางได้เอกราชไม่มีแล้ว พวกแกนนำก็รู้ดี แต่ปัญหาคือคนเหล่านี้จะลงอย่างไร ที่สำคัญแทบไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาเป็นใครกันบ้าง เพราะไม่ได้เปิดเผยตัว มีแต่ สะแปอิง บาซอ ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้นำสูงสุด หรือผู้นำทางจิตวิญญาณ
ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำมี 2 ประการ คือ 1.หาการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ ด้วยการทำให้คนในพื้นที่รู้ชัดๆ ว่าคนที่วางระเบิด คนที่ก่อเหตุรุนแรงเป็นใครกันแน่ ทำให้โปร่งใส ชัดเจน เพราะเรายังไม่เคยทำเลยตลอด 11 ปีมานี้ ทำให้ชาวบ้านสับสนและเชื่อว่าปัญหาในพื้นที่คือเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก
และ 2.การพูดคุยโดยตรงกับกองกำลังในพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็น และน่าจะเห็นผลกว่าคุยกับแกนนำอาวุโสนอกประเทศ เพียงแต่โครงการในลักษณะ "พาคนกลับบ้าน" ต้องเพิ่ม "หลักประกัน" ให้ชัดเจนว่าการยอมเข้ามอบตัวหรือยอมออกจากป่าวางอาวุธนั้น เมื่อยอมแล้วได้อะไร อย่างน้อยก็คือ ไม่ตาย ไม่ติดคุกจนตาย และได้ประกันตัว
แต่ที่ผ่านมาหลักประกันตรงนี้ไม่ชัด จึงไม่มีแกนนำระดับใหญ่ๆ หรือแกนนำสำคัญออกมาร่วมโครงการอย่างแท้จริง
"เราต้องส่งสัญญาณออกไปว่าสิ่งที่เราต้องการมีแค่นี้ คือใครที่คิดต่างยังต่อสู้ได้ สู้วิธีไหนก็ได้ แต่ไม่ใช่วางระเบิด ฆ่าครู ฆ่าพระ ฆ่าคนบริสุทธิ์"
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ในวันผ่อนพักและพำนักอยู่ที่บ้านริมแม่น้ำน่าน จ.พิษณุโลก