บ.ค้าเกลือแนะเสี่ยตันส่งเกลือหิมะให้รง.อุตฯ เคมี ชี้กำจัดได้เร็ว-ไร้ผลกระทบ
บริษัทค้าเกลือแนะวิธีกำจัดหิมะเทียมเสี่ยตัน ส่งมอบรง.อุตสาหกรรมเคมีง่ายสุดไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ด้านผลตรวจวัดปริมาณเกลือในท่อระบายหน้าบริเวณงาน Nimman Snow Festival ลดแต่ยังคงสูงกว่าเดิม 1.5 เท่า ! สสภ.1 ย้ำห้ามใช้น้ำทำความสะอาดบริเวณจัดงานอย่างเด็ดขาด !
ภายหลังจากที่มีกระแสคัดค้านงานสโนว์ เฟสติวัลที่จัดขึ้นบริเวณโครงการธิงค์ พาร์ค จ.เชียงใหม่ของนายตัน ภาสกรนที ล่าสุดแม้เจ้าตัวจะออกมาประกาศยกเลิกงานก่อนกำหนดและพร้อมจะจัดการเรื่องเกลือจำนวน 40 ตันด้วยการนำไปมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำไปใช้ทำโป่งดิน ล่าสุดก็ถูกปฏิเสธ และมีแนวโน้มจะกำจัดเกลือจำนวน 40 ตันนี้ด้วยการนำไปใช้กับบ่อกุ้ง ในจังหวัดสมุทรสาครนั้น
นายสิทธิโชค นิลเภตรา ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัทส.รวยเจริญค้าเกลือ จ.สมุทรสาคร กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงวิธีการกำจัดเกลือบริสุทธิ์ (refined salt) ว่า เกลือที่นำมาใช้ทำหิมะเทียมนั้นเป็นโซเดียมคลอไรด์ หากจะนำไปใช้ทำโป่งดินจะต้องมีการเติมแร่ธาตุหลายชนิดเข้าไปและใช้ได้บางส่วนทั้งนั้น ไม่สามารถนำจำนวนเกลือทั้งหมด 40 ตันมาใช้ได้ เพราะเป็นปริมาณที่มากเกินไป
"หรือหากจะนำมาใช้ในบ่อกุ้งเพื่อปรับสภาพบ่อ สามารถทำได้ แต่โดยปกติจะไม่ใช่เกลือชนิดนี้เนื่องจากมีราคาแพง หากจะปรับสภาพให้ดีจะนิยมใช้เกลือทะเลเป็นหลัก ไม่นิยมนำเกลือบริสุทธิ์มาใช้ เนื่องจากเกลือบริสุทธิ์ที่นำมาใช้นั้นเป็นเกลืออุตสาหกรรม"
ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัทส.รวยเจริญค้าเกลือ จ.สมุทรสาคร กล่าวด้วยว่า เกลือที่นำมาใช้ทำหิมะเทียมจัดเป็นเกลือที่ใช้ในอุตสาหกรรม หรือเรียกอีกชื่อว่าเกลืออุตสาหกรรม โดยจะใช้เกี่ยวกับเคมี การทำสีทาบ้าน กาวอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งในการผลิตจะใช้เกลือชนิดนี้เป็นส่วนผสม ดังนั้นการจะจัดการกับเกลือจำนวนมากถึง 40 ตัน วิธีที่ง่ายที่สุดคือเอาเข้าโรงงานอุตสาหกรรม
“เคยทำงานในโรงงานผลิตกาวมาก่อน เกลือจำนวน 40 ตัน หากนำมาผสมหรือใช้ในอุตสาหกรรมใช้ทีเดียวหมด แถมถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากด้วย ดังนั้นอยากแนะนำให้เอากลับไปใช้ในอุตสาหกรรมตามคุณสมบัติของเกลือมากกว่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดและไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมา”
สำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ คุมเข้ม ห้ามใช้น้ำล้างเด็ดขาด
ล่าสุด สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ วันที่ 5 มกราคม 2558 ปรากฏว่าปริมาณเกลือในรูปของค่าความนำไฟฟ้าของน้ำในท่อระบายบริเวณงานทุกจุด มีค่าอยู่ระหว่าง 644 – 707 ไมโครโมส์/ซม. ยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งในทางน้ำชลประทานของกรมชลประทานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2,000 ไมโครโมส์/ซม. โดยค่าความเค็ม และค่าการนำไฟฟ้าในท่อระบายน้ำในบริเวณที่มีการจัดงาน (จุดที่ 1, 2 และ 4) มีปริมาณที่ลดลงเมื่อเทียบกับการตรวจวัดในครั้งที่ 2 แต่ยังคงมีค่าสูงกว่าการตรวจวัดครั้งแรกประมาณ 1.5 เท่า
ส่วนคุณภาพน้ำในท่อระบายน้ำฝั่งตรงข้ามสถานที่จัดงานและบริเวณสถานีสูบน้ำเสีย ยังคงเป็นปกติเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นไปได้ที่ท่อระบายน้ำฝั่งบริเวณที่จัดงานยังคงมีการปนเปื้อนหรือแพร่กระจายของเกลือในบริเวณจัดงานออกสู่ภายนอกและลงสู่ท่อระบายน้ำในบริเวณดังกล่าวอยู่
และเพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดเก็บและขนส่งเกลือในบริเวณสถานที่จัดงานออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก สำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ขอความร่วมมือผู้จัดงานพิจารณาดังนี้
1.วิธีการจัดเก็บเกลือ และการทำความสะอาดพื้นที่บริเวณจัดงานจะต้องทำแบบแห้งเท่านั้น ห้ามทำความสะอาดพื้นโดยใช้น้ำล้างเด็ดขาด เพราะจะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเมื่อไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ
2.การเก็บรวบรวมและการขนส่งเกลือไปยังสถานที่ปลายทาง (ตามข้อมูลที่แจ้งคือ ร้านเกลือเพชรสาคร 92/3 ตำบลนาโคก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร) จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ป้องกันมิให้เกลือที่บรรทุกตกหล่นเรี่ยราดระหว่างการขนส่ง โดยขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เป็นต้น อย่างเคร่งครัด และควรจัดให้มีการบันทึกข้อมูลปริมาณการเก็บรวบรวมและการขนส่งส่งเป็นหลักฐานที่จะสามารถตรวจสอบยืนยันปริมาณของเกลือ ณ จุดต้นทาง และปลายทางได้
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ผู้จัดการ