อุบัติเหตุจุดตัดทางรถไฟ..ทำไมถึงเกิดซ้ำซาก
ช่วงนี้มีอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟเกิดขึ้นบ่อย ทางศูนย์วิจัยฯ เลยขออนุญาตแสดงความคิดเห็น จากประสบการณ์ในการสืบสวนอุบัติเหตุกรณีรถไฟชนกับรถยนต์บริเวณจุดตัดทางรถไฟที่เรามักได้ออกไปเก็บข้อมูลอยู่บ้าง
ถ้าพูดถึงอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟส่วนใหญ่ เราจะเห็นว่าอุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นในบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ไม่มีเครื่องกั้นอัตโนมัติ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุประเภทนี้ มาจากสาเหตุ ดังนี้
1. ระยะการมองเห็น (Sight Distance) ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งมักจะถูกบดบังด้วยต้นไม้ พงหญ้า สิ่งปลูกสร้างข้างทางรถไฟต่างๆ หรือรถยนต์ที่จอดอยู่ข้างทาง ระยะการมองเห็นที่ไม่เพียงพอนั้นทำให้รถยนต์ที่กำลังจะวิ่งข้ามผ่านทางรถไฟ ไม่สามารถมองเห็นรถไฟที่กำลังวิ่งใกล้เข้ามาได้อย่างชัดเจน เมื่อมองเห็นรถไฟอีกที ก็คือในขณะที่รถไฟเข้ามาใกล้ตัวรถยนต์มากแล้ว
2. ผู้ขับขี่ไม่คุ้นเคยกับเส้นทาง โดยไม่รู้ว่าจะมีทางรถไฟตัดผ่านอยู่ข้างหน้า ทั้งนี้อาจมีองค์ประกอบร่วม มาจากบริเวณถนน ไม่มีการติดตั้งป้ายเตือนที่ชัดเจน หรือมีป้ายเตือนแต่ป้ายนั้นเก่าและเลือนลาง นอกจากนี้ที่ผิวจราจร อาจขาดเครื่องหมายจราจรที่บ่งบอกว่ามีทางรถไฟตัดผ่าน หรือเป็นผิวจราจรที่มีการปรับระดับให้อยู่ในระดับเดียวกับทางรถไฟ ยิ่งทำให้ผู้ขับขี่ขับผ่านไปได้อย่างราบรื่นโดยไม่รู้ว่ามีทางรถไฟตัดอยู่ข้างหน้า
3. ผู้ขับขี่ถูก distract ด้วยกิจกรรมอื่นภายในรถ เช่น ฟังวิทยุ คุยโทรศัพท์ คุยกันภายในรถ ทำให้ไม่ทันได้คอยระวังว่ากำลังมีรถไฟผ่านมา
4. ผู้ขับขี่เห็นว่ารถไฟกำลังจะมาถึงแล้ว แต่เกิดการตัดสินใจผิดพลาด คิดว่าน่าจะขับรถผ่านไปได้ทัน
หลังจากการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกับรถไฟทุกครั้ง มักจะมีคำถามตามมาในเรื่องของเครื่องกั้นรถไฟ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการที่จะติดตั้งเครื่องกั้นรถไฟ ก็ไม่ได้มีความจำเป็นในการติดตั้งทุกจุดตัดที่มีรถไฟผ่าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาในเรื่องของปริมาณรถไฟที่วิ่งผ่านและปริมาณจราจรที่วิ่งตัดกับทางรถไฟเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ตัวอย่างจากกรมทางหลวง ได้อ้างอิงตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมทางหลวงและการรถไฟแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการสร้างทางหลวง เพื่อเชื่อม ผ่าน ข้าม หรือลอดทางรถไฟ ซึ่งได้กำหนดไว้ว่าหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าควรมีการติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนยานพาหนะและจำนวนขบวนรถไฟที่วิ่งผ่าน หรือพิจารณาจากค่า T.M. (Traffic Movement) คือผลคูณระหว่างจำนวนยานพาหนะที่ผ่านทาง (ADT=Average Daily Traffic) และจำนวนขบวนรถไฟในรอบ 24 ชั่วโมง
ถ้า T.M. มีค่าต่ำกว่า 10,000 ให้ก่อสร้างทางผ่านข้ามทางรถไฟแบบเสมอระดับ และติดตั้งป้ายจราจร
T.M. มีค่าระหว่าง 10,000-40,000 ให้ก่อสร้างทางผ่านข้ามทางรถไฟแบบเสมอระดับ และติดตั้งเครื่องกั้นถนนพร้อมสัญญาณไฟวาบอัตโนมัติและเสียง
T.M. มีค่า 40,000-100,000 ให้ก่อสร้างทางผ่านข้ามทางรถไฟแบบเสมอระดับและติดตั้งเครื่องกั้นชนิดมีพนักงานปิด-เปิด
T.M. มีค่ามากกว่า 100,000 ให้พิจารณาสร้างทางผ่านข้ามทางรถไฟแบบต่างระดับ โดยพิจารณาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจในการลงทุน
นอกจากนี้ อาจพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องระยะการมองเห็นในบริเวณจุดตัด รวมถึงแนวถนนที่ตัดกับทางรถไฟ เช่น ถ้าแนวถนนตัดกับทางรถไฟมีมุมตัดน้อยกว่า 90 องศามากๆ หรือเวลาจะผ่านทางรถไฟ ผู้ขับขี่ต้องเอี้ยวหันหลังไปมองรถไฟมากๆ ลักษณะจุดตัดแบบนี้ก็ควรที่จะติดตั้งเครื่องกั้น
ในปัจจุบัน ได้มีจุดตัดทางรถไฟอยู่หลายประเภท ได้แก่ จุดตัดแบบมีเครื่องกั้นอัตโนมัติ แบบไฟเตือนอัตโนมัติ แบบป้ายจราจร แบบทางยกระดับหรือทางลอด และแบบทางลักผ่านที่ผิดกฎหมายซึ่งไม่มีป้ายจราจรอยู่เลย ถ้าดูที่ปริมาณประเภทจุดตัดทั้งหลายแล้ว พบว่าความเสี่ยงจะอยู่ที่จุดตัดทางรถไฟแบบมีแต่ป้ายจราจร และแบบทางลักผ่าน ซึ่งมีอยู่เกือบ 1,500 จุดทั่วประเทศ ดังนั้นข้อเสนอแนะที่จะให้มีการติดตั้งเครื่องกั้นทั้งหมดทุกจุดนี้ คงใช้งบประมาณที่สูงมากและต้องใช้ระยะเวลาในการติดตั้งให้ครบ ดังนั้นช่วงระยะเวลาที่รอการติดตั้งเครื่องกั้นทั้งหมดนี้ (ซึ่งอาจจะติดครบหรือไม่ก็ยังไม่รู้) ก็คงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจุดตัดทางรถไฟให้เห็นอยู่เรื่อยๆ อีก
ทางศูนย์วิจัยฯ จึงขอเสนอแนะมาตรการระยะเร่งด่วนที่สมควรต้องทำก่อน ดังนี้
1. การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟ ควรร่วมมือกันในการสำรวจจุดตัดทางรถไฟ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องระยะการมองเห็น โดยให้มีการถางหญ้า ตัดต้นไม้ข้างทางในบริเวณจุดตัดทางรถไฟอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเปิดระยะการมองเห็นของรถที่จะวิ่งผ่านทางรถไฟให้มากขึ้น
2. เร่งดำเนินการตรวจสอบป้ายเตือน เครื่องหมายจราจร เส้นจราจร ว่ามีความชัดเจนหรือไม่ โดยป้ายจราจรและเครื่องหมายจราจรดังกล่าวต้องสามารถเตือนผู้ขับขี่ได้ว่ากำลังจะผ่านทางรถไฟที่อยู่ข้างหน้า
3. ตรวจสอบจุดตัดทางรถไฟ ประเภทที่ไม่มีเครื่องกั้น ว่าในปัจจุบันถึงระดับสภาพตามหลักเกณฑ์ที่สมควรต้องติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติแล้วหรือไม่ โดยพิจารณาจากปริมาณจราจร ระยะการมองเห็น และแนวถนน ตามที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น
4. ทดสอบการทำงานของเครื่องกั้นอัตโนมัติในจุดตัดทางรถไฟ ว่ายังใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่
ส่วนในระยะต่อไป ก็ควรมีมาตรการอื่นอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อทำการตรวจสอบในข้างต้นแล้ว จุดที่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ ก็ควรเสนอของบประมาณในการติดตั้งเครื่องกั้นต่อไป นอกจากนี้ ควรมีการพิจารณารูปแบบการออกแบบถนนในบริเวณจุดตัดผ่านทางรถไฟ ให้มีลักษณะทางกายภาพที่สามารถเตือนผู้ขับขี่ให้ชะลอความเร็วลง ก่อนที่จะผ่านทางรถไฟ เพราะในบางครั้งผู้ขับขี่ก็อาจไม่ทันได้มองป้ายจราจรที่เตือนอยู่ข้างทาง วิธีนี้ในต่างประเทศก็นิยมใช้อยู่หลายรูปแบบ เช่นการตีเส้นจราจรแบบพิเศษ การใช้ผิวทางที่มีสีที่แตกต่างไปจากผิวทางทั่วไป หรือการสร้างเกาะกลางในบริเวณก่อนถึงทางรถไฟ เพื่อปรับสภาพแวดล้อมของถนนให้ผู้ขับขี่รับรู้ และเพิ่มความระมัดระวัง
ส่วนผู้ขับขี่ก็ต้องคอยตระหนักอยู่เสมอว่า เมื่อใดที่ขับรถผ่านทางรถไฟ ควรตระหนักไว้เลยว่าจะมีรถไฟวิ่งผ่านเมื่อไรก็ได้ ต้องมีความระมัดระวังในการขับรถผ่านทางรถไฟ และควรชะลอความเร็วลงก่อนขับผ่านทางรถไฟ ควรเปิดหน้าต่าง ปิดวิทยุ อย่าคุยกันขณะขับผ่านทางรถไฟ เมื่อหยุดรถก็ไม่ควรหยุดใกล้ทางรถไฟมากเกินไป และพึงระลึกไว้เสมอว่าห้ามแข่งกับรถไฟเด็ดขาด ด้วยความเร็วและระยะทางของรถไฟแล้ว ทำให้ยากต่อการตัดสินใจเสมอ ดังนั้น ควรหยุดรถทันทีเมื่อมองเห็นรถไฟวิ่งมาตั้งแต่ระยะไกลๆ เสียเวลารอรถไฟวิ่งผ่านเพียงนิดเดียว ก็ยังดีกว่าเสียชีวิต เพราะถ้าชนกับรถไฟแล้วคงมีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก