อวสาน? “ปราชญ์สุรา-สิงห์อมควัน” หลัง ร.ฟ.ท.“กระชับพื้นที่”บนรถไฟ
“…ระหว่างที่โดยสารบนรถไฟขบวนนั้น แทบไม่ปรากฏว่ามีคนไหนได้ยืนสูบบุหรี่ ชมทิวทัศน์ตรงบันไดสักรายเดียว เพราะหากพนักงานพบเห็นจะ “เชิญ” ให้ไปสูบในห้องน้ำทันที…”
ในช่วงวันหยุดที่เรียกได้ว่ายาวนานในรอบหลายปี สำหรับเทศกาลวารดิถีขึ้นปีใหม่ หลายคนใช้เวลาเดินทางสู่ภูมิลำเนาบ้านเกิดของตัวเอง ไม่ว่าจะโดยสารโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือยวดยานให้บริการสาธารณะ เช่น เครื่องบิน รถทัวร์ รถไฟ เป็นต้น
หากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวย่อมดีหน่อยสำหรับ “สิงห์อมควัน” ที่มีจุดพักผ่อนให้จอดพักเพื่อหยุด “ปั๊มนิโคติน” เข้าปอดได้อย่างชื่นมื่น ไม่ว่าจะเป็นที่ปั๊มน้ำมัน หรือเลวร้ายหน่อยก็แวะข้างทางได้
แต่สำหรับบรรดายวดยานบริการสาธารณะแล้ว สิ่งหนึ่งที่ถือเป็น “มารยาท” นั่นคือการ “งดสูบบุหรี่” บนตัวรถ-เครื่องบิน
ไม่วายมีหลายคนฝ่าฝืนกฎอยู่เสมอ จนกลายเป็นเรื่องชินตาไปแล้ว โดยเฉพาะการโดยสารด้วย “ม้าเหล็ก” หรือ “รถไฟ” ที่ขึ้นไปเมื่อไหร่ จะมีคนมากหน้าหลายตาจับจองตรงพื้นที่ตรงบันได ควักบุหรี่-หยิบไฟแช็ก ขึ้นมาจุด-สูบ กันอย่างสบายใจ
ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น แม้ว่าจะทราบถึง “มารยาททางสังคม” อยู่บ้าง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องมานั่งพักสูบบุหรี่ เพลิดเพลินกับทัศนียภาพตรงบันไดเฉกเช่นนักสูบคนอื่นเขา ซึ่งทางพนักงานก็เข้าใจ-เห็นใจ จึงปล่อยปละไม่ได้ดำเนินการใด ๆ กับการกระทำเหล่านี้มากนัก
มีบ้างก็แค่มาเตือนว่า “ระวังตกจากโบกี้ขบวน” ก็แค่นั้น
เนื่องด้วยการให้บริการด้วยยวดยานพาหนะยังไม่เปิดพื้นที่ให้กับ “สิงห์อมควัน” มากนัก ไม่มีการจัดพื้นที่ให้สูบบุหรี่ด้วยซ้ำ แม้ว่าจะเป็นการเดินทางที่ใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 10-12 ชั่วโมงก็ตาม
เรียกได้ว่าเป็นการเดินทางแบบ “สโลว์ไลฟ์” ศัพท์ฮิตโดนใจวัยโจ๋ยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่น่าอภิรมย์นักสำหรับบางคน โดยเฉพาะผู้เขียนที่นิยมการเดินทางด้วยรถไฟ เพราะคิดว่าถึงจะ “ช้า” แต่ “ชัวร์”
และเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่น เมื่อหมดเทศกาลปีใหม่ กลับสู่ชีวิตจริงที่ตรากตรำทำงานกันอีกครั้ง ผู้เขียนมีโอกาสนั่งรถไฟกลับสู่กรุงเทพมหานคร (ขามาไม่ได้โดยสารด้วยรถไฟ)
แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปนั่นคือ “ป้ายห้ามจำหน่ายสุรา” ตัวโต ๆ ที่แปะไว้บนเสาทุกต้นในชานชาลา พร้อม ๆ กันกับการให้ความร่วมมือของร้านรวงริมสถานีที่ “ไม่จำหน่ายเหล้า-เบียร์” อย่างเด็ดขาด
“ช่วงนี้เขาเอาจริงแล้วว่าห้ามขายเหล้า-เบียร์บริเวณสถานี ถ้าขายให้น้องเดี๋ยวพี่จะเดือดร้อน”
เป็นเสียงสะท้อนจากบรรดาพ่อค้า-แม่ขายของร้านชำบริเวณสถานีรถไฟแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับผู้เขียนพอสมควร เพราะปกติร้านค้าบริเวณนี้มักมี “เบียร์” แช่อยู่ทุกตู้เย็น
(ภาพป้ายห้ามจำหน่ายสุราบริเวณสถานีหนึ่งในจังหวัดภาคใต้)
แต่ที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้นคือ เมื่อผู้เขียนขึ้นไปวางสัมภาระบนขบวนรถ ก่อนจะเดินมายืนตรงพื้นที่ “ประจำ” บันไดทางขึ้น-ลง เพื่อจะทำ “วัตรปกติ” คือสูบบุหรี่
“น้อง พื้นที่ตรงนี้ห้ามสูบบุรี่ หากต้องการสูบให้เข้าไปในห้องน้ำ”
เสียงของพนักงานประจำโบกี้รถไฟขบวนดังกล่าว ดังลอดเสียงจุดไฟแช็กขึ้นมา ก่อนจะเดินไปปิดประตูตรงบันได จนผู้เขียนปั้นหน้ายิ้มแหย ๆ เข้าไป “ปั๊มนิโคติน” ในห้องน้ำแต่โดยดี
และระหว่างที่โดยสารบนรถไฟขบวนนั้น แทบไม่ปรากฏว่ามีคนไหนได้ยืนสูบบุหรี่ ชมทิวทัศน์ตรงบันไดสักรายเดียว เพราะหากพนักงานพบเห็นจะ “เชิญ” ให้ไปสูบในห้องน้ำทันที
(ภาพหน้าต่างในห้องน้ำ ที่ต้องพ่นควันบุหรี่ออกไปข้างนอก)
นับเป็นเรื่องดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เอาจริงเอาจัง-เข้มงวดกวดขัน “กติกา-มารยาท” ในสังคมเช่นนี้ เพราะจากสถิติที่ผ่านมามีผู้โดยสารที่ “ดื่มหนัก” จนควบคุมสติไม่อยู่-อาละวาด หรือโชคร้ายหน่อยก็พลาดตกรถไฟไปแล้วหลายคน
หรือหากกเฬวรากกว่านั้น อาจถึงขั้น “กระทำชำเรา” ผู้โดยสารบนรถไฟก็เป็นไปได้
ส่วนเรื่องมาตรการป้องกันการสูบบุหรี่นั้น แม้จะมีมาตั้งนมนานแล้ว แต่ก็เพิ่งมาบังคับใช้ได้-เห็นผลในช่วงนี้
แน่นอนผู้เขียนเห็นด้วยที่ห้ามสูบบุหรี่บริเวณบันไดทางขึ้น-ลง เพราะอาจเกะกะทางเดินของผู้โดยสาร
แต่อย่างน้อยที่สุด ร.ฟ.ท. ก็ควรจัดพื้นที่ไว้ให้คนสูบบุหรี่บ้าง
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการรณรงค์ทั้งจากภาครัฐ-องค์กรสาธารณะต่าง ๆ ป้องกันไม่ให้คนติดบุหรี่ มันไร้ผล ?
เอาล่ะ หากมองในมุมของคนที่ไม่สูบบุหรี่ มาตรเช่นนี้ ย่อมถือเป็นผลดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยลดอาการ "เหม็น" กลิ่นบุหรี่ลงไปได้โข และบางคนอาจเป็นโรคประจำตัวที่หากสูดกลิ่นบุหรี่เข้าไปจะทำให้สุขภาพทรุดหนักลง
และคงเป็นผลดีไม่น้อยถ้ามาตรการนี้ถูกเข้มงวด-กวดขันจากพนักงานรถไฟทั่วประเทศ มิใช่แค่ภาคใต้เท่านั้น
แต่ที่สุดแล้วสิ่งที่ประทับใจอย่างหนึ่งสำหรับการนั่งรถไฟครั้งนี้คือการ “ตรง” เวลามากขึ้น ไม่ออกอาการ “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” อีกต่อไป
นับเป็นคุณูปการอย่างหนึ่ง อภินันทนาการจาก ร.ฟ.ท. ที่น้อยครั้งจะมีผู้ชื่นชม ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ รถไฟ จาก oknation