ผบช.ศชต.กับ 11 ปีไฟใต้...รุนแรงไม่ลดเพราะไม่แก้ที่ "ความคิด"
"ผมจะเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ คนที่มีปัญหาต่างๆ ก็โทรเข้ามาที่นี่ ผมจะดูให้ และคิดว่าถ้าวันนี้พื้นที่ไหนไม่มีระเบิด ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผมจะทำเรื่องถึงผู้ใหญ่ว่าพื้นที่นี้ควรจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"
"ปี 2558 จะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มีแต่คนกลัวที่จะมาบ้านเรา ผมรู้สึกอายเขา ขณะที่มาเลเซียเขาได้ประกาศให้ประชาชนของเขาติดฮาลาลทั้งประเทศ มีคนตอบรับแล้ว 500 ล้านคน แต่บ้านเราไม่มี"
"วันนี้ต้องไม่มีใครใช้ความรุนแรง ถ้าใครใช้ความรุนแรงโดยไม่มีเหตุผล ตอบคำถามสังคมไม่ได้ เขาจะถูกกำจัด ถูกปรับหน้าที่ จะไปทำงานสัมผัสกับประชาชนไม่ได้ ต้องไปทำอย่างอื่น"
ฯลฯ
นี่คือหลากหลายวาทะที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์และทิศทางการทำงานซึ่งหลายคนอาจไม่เชื่อว่าเป็นของผู้บังคับบัญชาระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะที่ผ่านมาพื้นที่นี้มักถูกตีกรอบความคิดว่าเป็น "พื้นที่สู้รบ" ฝ่ายรัฐต้องทำสงคราม "แย่งชิงมวลชน" และ "เอาชนะ" ผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ซึ่งบ้างก็เรียกว่า "โจร" บ้างก็เรียกว่า "กลุ่มก่อความไม่สงบ"
แต่นี่คือ "ท่าที" และ "จุดยืน" ที่ชัดเจนของนายตำรวจที่ชื่อ พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) ซึ่งคนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังในการสร้างสันติสุข ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวาน เพราะเดินตามปรัชญาพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" อย่างแท้จริง
"สิ่งแรกเลยที่จะมาทำงานในพื้นที่นี้ คือ ต้องเข้าใจเขา ไม่ใช่ให้เขามาเข้าใจเรา เข้าใจเขาในที่นี้หมายถึงต้องรู้ว่าประชาชนที่นี่เขาดำเนินชีวิตอย่างไร ทั้งด้านการสื่อสาร การเกษตรของเขาเป็นอย่างไร เขาต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร ตำรวจทุกนายที่ทำงานที่นี่ต้องรู้ ต้องเข้าใจ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม" ผบช.ศชต.พูดถึงหลักการสูงสุดที่เป็นธงนำในนโยบายการทำงานของเขา ก่อนจะอธิบายถึงสภาพปัญหาตลอด 11 ปีที่เกิดเหตุรุนแรงต่อเนื่องมา
"วันนี้ในพื้นที่มีคดีเกิดขึ้น สร้างเรื่อง ต่อสู้ ตอบโต้ แก้แค้น มีสถานการณ์ความรุนแรง มีการยิงปะทะ ถามว่าที่ผ่านมา 11 ปีเราทำอะไร 11 ปีเราปิดล้อม ตรวจค้น ออกกฎหมายพิเศษ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ออกหมายจับกับบุคคลที่ต่อสู้ทางความคิด สร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรม"
"การปฏิบัติของเรามีการปิดล้อม ตรวจค้น ที่ผ่านมาเราใช้อาวุธไม่จำกัด พอเเกิดเหตุเราจับเขามา อาจเป็นแพะ บางคนเราจับเขามาอยู่ในศูนย์พิทักษ์สันติ ผิดก็ฟ้อง ถูกดำเนินคดีตาม ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา)"
"วันนี้ความรุนแรงไม่ลดเพราะอะไร เพราะเราไม่แก้ความคิด ไม่ได้มีการบำบัด ทำให้เขาเห็นว่ามีความเป็นธรรม ผมจึงต้องขอโทษพี่น้องประชาชน เพราะที่นี่มีเหตุความรุนแรง เขารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็จะขอโอกาสสร้างความเป็นธรรม"
ที่ผ่านมาหลังรับตำแหน่งเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว สิ่งแรกๆ ที่ พล.ต.ท.อนุรุต ทำนอกเหนือจากการเดินสายเยี่ยมเยียนประชาชนและตรวจดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คือ เขียนคำขอโทษพี่น้องประชาชนชายแดนใต้ผ่านเว็บไซต์ของ ศชต.
และนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มของการแก้ปัญหา...
"แนวทางต่อไปต้องทำทุกอย่างให้ประชาชนมีส่วนร่วม" พล.ต.ท.อนุรุต ขยายความต่อ และว่า "เรื่องของการแก้ปัญหาในระดับชุมชน ท้องถิ่น ตำบล อำเภอ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับได้มีส่วนแสดงความคิดเห็น ความต้องการ ทั้งในเรื่องของการดำเนินคดีอาญา การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการบริการประชาชน"
เขาย้ำว่า วันนี้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่สนามรบหรือสถานที่ทำสงคราม ตำรวจคือคนที่มาบริการประชาชน กับดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ได้ถูกส่งมาเพื่อรบ จะไปฆ่าใครไม่ได้ ไปวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่มีเหตุไม่มีผลไม่ได้ เราต้องเคารพอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของพี่น้องในพื้นที่ ให้เกียรติ ให้ความรักต่อกัน ถ้าทำได้ก็สามารถทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสวยงาม คนอยู่ก็มีความสุข
"ผมพูดจากใจ การเป็น ผบช.ศชต.ต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นที่ประจักษ์ และผมจะผลิตนโยบายให้ตำรวจทุกคนได้รู้ เข้าใจ คิดเป็นทำเป็น และถูกต้อง วันนี้ต้องไม่มีใครใช้ความรุนแรง ถ้าใครใช้ความรุนแรงโดยไม่มีเหตุผล ตอบคำถามสังคมไม่ได้ เขาจะถูกกำจัด ถูกปรับหน้าที่ จะไปทำงานสัมผัสกับประชาชนไม่ได้ ต้องไปทำอย่างอื่น วันนี้ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้ และวันนี้ผมจะเดินกับประชาชน จะเดินอยู่กับความเมตตา ไม่ใช่ด้วยอำนาจ คนคนนี้จะไม่ใช้อำนาจกับประชาชน"
พล.ต.ท.อนุรุต บอกว่า ทำงานในพื้นที่นี้ 34 ปี เห็นยุคเปลี่ยนผ่านของการปฏิบัติงานยุคต่างๆ มา จึงเชื่อมั่นว่าเข้าใจปัญหา และจะใช้พลังของประชาชนมาเป็นกลไกหลักในการทำงานอย่างแท้จริง
ส่วนปัญหาการขาดแคลนกำลังพลในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น ผบช.ศชต. บอกว่า พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ได้ให้การสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่
"วันนี้ผมขาดกำลังตำรวจไป 3 พันกว่านาย แม่ทัพภาค 4 ได้ประสานกับรัฐบาลจนสามารถขอกำลังตำรวจมาได้ 2,000 นาย ให้เปิดรับสมัครเพื่อเป็นกำลังพลทำงานในสามจังหวัด ผมจะใช้โอกาสตรงนี้อาศัยกำลังประชาชนมาร่วมทำงาน จะเปิดรับพี่น้องที่เรียนจบสายศาสนาจากโรงเรียนปอเนาะ ให้มาแข่งขันในกลุ่มเฉพาะที่จัดขึ้น ไม่ต้องไปแข็งขันกับนักเรียนที่จบสายสามัญ นั่นคือกลุ่มแรก"
"กลุ่มที่ 2 จะรับจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือครอบครัวลำบากที่ขาดลูกหรือขาดพ่อ (เหยื่อความรุนแรง) ครอบครัวลำบากที่ต้องพยุงฐานะของครอบครัว ให้เขาสามารถอยู่ได้อย่างมีเกียรติ ตอนนี้จะไปตรวจสอบว่ามีจำนวนเท่าไร และเอาคนเหล่านี้มาสอบแข่งขันกันเพื่อเข้าเป็นตำรวจ กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มลูกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มาเป็นตำรวจ จัดกลุ่มจาก 2,000 คนให้ เพื่อจะได้สื่อสารกับหมู่บ้านได้ทุกหมู่บ้าน และหากมีการบิดเบือนเรื่องศาสนา ก็จะเอาตำรวจที่รู้เรื่องศาสนาเข้าไปแก้ปัญหา สามารถที่จะอบรมตำรวจได้"
"กลุ่มที่ 4 จะเป็นพวก อส. (อาสารักษาดินแดน) ที่อยู่พื้นที่ ผมสงสารเขา รวมทั้งลูกข้าราชการตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ จะเปิดให้กลุ่มหนึ่ง ให้มีเปอร์เซ็นต์แต้มบวก ให้เขาสอบแข่งกัน ทั้งหมดนี้คือการพาพลังประชาชนเพื่อจะทำให้งานของตำรวจเดินไปสู่ชุมชน หมู่บ้านอย่างแท้จริง"
พล.ต.ท.อนุรุต บอกด้วยว่า จะมุ่งแก้ปัญหาในเรื่องความเสมอภาค ความเป็นธรรมได้ วันนี้การพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด กฎหมายอยู่ข้างหลัง
"ปี 2558 นี้ตั้งใจว่างานเร่งด่วนที่จะทำ คือ การแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน ผ่านนโยบายทุ่งยางแดงโมเดล จะใช้การเมืองการปกครองนำหน้า ต้องหยุดการจับกุมโดยมิชอบ การปฏิบัติหน้าที่ต้องทำอย่างละมุนละม่อม เน้นการสร้างความเข้าใจให้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด"
"ทุกคนต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ถ้าไม่สามารถทำความเข้าใจกับประชาชนได้ ก็จะอยู่ที่นี่ไม่ได้ อยู่ที่นี่ต้องทำความเข้าใจ คุยกันได้ วันนี้งานตำรวจ ถ้าบอกว่าใช่ก็ทำไปเลย ถ้าบอกว่าไม่ใช่ก็ต้องมาคุยกัน ผมต้องรู้ด้วย เพราะจะส่งผลกระทบกับคนที่ไม่เข้าใจ ทำให้เกิดความเสียหาย"
"ผมมีความเชื่อว่าคนที่ใช้ความรุนแรงเริ่มถอยออกมาแล้ว การจับกุมที่ใช้กำลังเยอะๆ หรือใช้ความรุนแรง จะทำอีกไม่ได้แล้ว การอยู่ที่นี่ต้องลดความหวาดระแวง และต้องเป็นตำรวจที่อยู่ในใจประชาชน ไม่ใช่มาทำความไม่สงบ มาทำความทุกข์ อันนี้ไม่ได้"
พล.ต.ท.อนุรุต กล่าวทิ้งท้ายว่า หลายเดือนที่ผ่านมาได้เดินสายไปหลายหมู่บ้าน ได้พูดทุกเวที ทุกหมู่บ้าน ได้เข้ไปพบผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งผู้เห็นต่าง ไปด้วยความรู้สึกรัก และต้องการคุยกับคนที่เห็นต่าง คุยกับคนที่ได้รับผลกระทบ ได้รับความบอบช้ำจากสถานการณ์
"โจทย์คือผมจะเยียวยาเขาได้อย่างไร นี่แหละที่ผมต้องตอบ"
และนั่นคือโจทย์ของ ผบช.ศชต. รวมถึงผู้รับผิดชอบกับปัญหาชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ในวาระที่สถานการณ์ความไม่สงบเดินทางมาครบ 11 ปีเต็ม!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ผบช.ศชต.สายพิราบ อนุรุต กฤษณะการะเกตุ "ยิ่งมีหมายจับมากยิ่งอยากคุย"