ประธานดุสิตโพล เตือนปรับโครงสร้างเวลาเรียน ทำเด็กไทยเป็นแรงงานไม่มีคุณภาพ
“ดร.สุขุม” แนะปรับโครงสร้างเวลาเรียน ควรมีมากกว่า 5 ออปชั่น ให้ผู้ปกครอง-เด็กเจ้าของเป้าหมายการศึกษาเลือกเอง เตือนสอนวิชาการแค่ร้อยละ 30 ทำให้เด็กที่จบมากลายเป็นแรงงานที่ไร้คุณภาพ
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เตรียมปรับโครงสร้างเวลาเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โดยทำเป็น 5 รูปแบบ (ออปชั่น) มีสัดส่วนเวลาเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียนและภาคปฏิบัตินอกห้องเรียนลดหลั่นกันไป เริ่มตั้งแต่สัดส่วนร้อยละ 70:30 , 60:40 , 50:50 และจะทยอยลงจนเหลือ 30-70 ในออฟชั่นสุดท้าย เพราะต้องการลดการเรียนวิชาการลงเพิ่มการฝึกปฏิบัตินอกห้อง โดยให้โรงเรียนเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ออปชั่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่
ว่าขณะนี้จุดมุ่งหมายคือต้องการให้เด็กจบแล้วมีงานทำ ซึ่งวิธีการจะคล้ายกับการจัดสหกิจศึกษาของการเรียนอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา หรือตามทฤษฎี Learning by doing ที่ต้องการให้การเรียนรู้ไปพร้อมกับการปฏิบัติ ขณะที่ในแง่ของนักการศึกษามักมองว่าการจะทำให้คนได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพต้องเริ่มจากการมีความรู้ทางทฤษฎีที่เข้มแข็ง เพื่อไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้น ตนมองว่าหาก สพฐ.จะทำออปชั่นให้เลือกนั้น ควรให้พ่อแม่และนักเรียนเป็นผู้เลือกจะเหมาะสมกว่า เพราะพ่อแม่แต่ละคนมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน บางคนต้องการให้ลูกมีพี้นฐานความรู้ทางวิชาการมากเพื่อต่อยอดในการศึกษาต่อในระดับปริญญา ขณะที่บางคนก็ไม่ได้มุ่งเน้นวิชาการแต่อยากเน้นเรื่องการนำความรู้ไปสู่การมีงานทำได้เลย แต่หาก สพฐ.จะให้โรงเรียนเป็นผู้เลือกออปชั่นที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ตนเห็นว่าโรงเรียนก็ควรจะต้องทำหลายออปชั่นเพื่อให้เด็กได้เลือกตามที่ต้องการมากกว่าจะเลือกให้เอง และ สพฐ.ต้องไม่ลืมว่าโรงเรียนมีจำนวนมากและในแต่ละพื้นที่ก็มีหลายโรงเรียน ดังนั้นควรจะกำหนดทิศทางให้ชัดเจน
“ในแง่ของการลดวิชาการในออปชั่นสุดท้ายเหลือเพียงร้อยละ 30 นั้น สพฐ.ต้องให้ความระมัดระวัง ต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องวิชาการ อะไรที่เป็นวิชาการที่สำคัญเด็กจำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ติดตัวเพื่อนำไปใช้ต่อยอดการประกอบอาชีพก็ต้องทำอย่างเข้มข้น ไม่ใช่กำหนดแนวทางไปแล้วก็ปล่อยให้ลื่นไหลไปคนละทาง ไม่เช่นนั้นเด็กที่จบออกไปจะกลายเป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือการต้องสร้างความเข้าใจต่อครูผู้สอน และพ่อแม่ของนักเรียนให้ดีด้วยถึงแนวทางดังกล่าว” รศ.ดร.สุขุม กล่าว .
ที่มาภาพ : http://lampang05.blogspot.com/