มหากาพย์ 2 ปีสะพานถล่ม! ร้องเรียนสารพัดหน่วยงาน-ไร้ความคืบหน้า
“..ส่วนสำนวนคดีอาญายังอยู่ที่ชั้นอัยการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยแจ้งว่าต้องรอผลชี้มูล จาก ป.ป.ช.ก่อน ถึงจะนำเรื่องทั้งหมด สั่งฟ้องคดีต่อศาล ผมติดใจประเด็นที่เรื่องนี้มีข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำทุกระดับ พนักงานเทศบาล เกี่ยวข้องด้วยจำนวนมาก ผ่านมาถึงปัจจุบัน คดีก็ยังไม่มีความคืบหน้า..”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ประมวลความพยายามของพ่อเหยื่อที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ของเทศบาลตำบลท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ถล่ม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 หลังพ่อเหยื่อรายนี้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อหน่วยงานรัฐนับ 10 หน่วยงาน ภายใต้รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ทว่า ปัจจุบัน ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการติดตามดำเนินคดีทั้งทางวินัยและทางอาญาแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชา ข้าราชการ วิศวกรผู้ออกแบบสะพาน รวมทั้งบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างสะพานแต่อย่างใด
“ในส่วนของคดีอาญา มีการออกหมายจับผู้ต้องหาที่เป็นผู้ออกแบบสะพานของกรมโยธาธิการและผังเมือง อัยการยังไม่ส่งฟ้องศาล ผมจึงต้องขอพึ่งสื่อ ส่วนเรื่องการลงโทษทางวินัย ทำไมยังไม่มีการลงโทษ ทั้งที่ 2 ปี ผ่านมาแล้ว นอกจากนี้ ผมยังร้อง ผ่าน รมว. มหาดไทย เพราะว่าคนที่สามารถถอดถอน นายกเทศมนตรีได้ก็คือมหาดไทย เรื่องความถูกต้อง ตามหลักกฎหมาย ตอนนี้ บ้านเราอยู่ในยุค คสช. แล้ว ที่ท่านบอกว่าหน่วยงานรัฐจะช่วยเหลือประชาชนและตามคำสั่ง คสช.ที่ 69 ระบุมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต ประพฤติมิชอบ ผมเคยไปร้องเรียนที่ คสช. แต่ยังไม่มีความคืบหน้า”
“ส่วนสำนวนคดีอาญายังอยู่ที่ชั้นอัยการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยแจ้งว่าต้องรอผลชี้มูล จาก ป.ป.ช.ก่อน ถึงจะนำเรื่องทั้งหมด สั่งฟ้องคดีต่อศาล ผมติดใจประเด็นที่เรื่องนี้มีข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำทุกระดับ พนักงานเทศบาล เกี่ยวข้องด้วยจำนวนมาก ผ่านมาถึงปัจจุบัน คดีก็ยังไม่มีความคืบหน้า”
คือถ้อยคำจากนายอนุนาท เสือสมิง บิดาของเด็กหญิงวัย 10 ขวบ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สะพาน 200 ปี ของเทศบาลตำบลท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ถล่ม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 ที่ส่งหนังสือร้องเรียนมายังสำนักข่าวอิศรา นับเป็นโศกนาฎกรรมที่สะท้อนถึงความล่าช้า ในกระบวนการตรวจสอบและเอาผิดทางกฎหมาย โดยที่เวลาล่วงเลยมาเกือบ 2 ปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุสะพานถล่มแต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรา ประมวลความพยายามของพ่อเหยื่อรายนี้ ในการร้องเรียนความเป็นธรรม ต่อหน่วยงานรัฐนับ 10 หน่วยงาน ภายใต้รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ทำให้พ่อเหยื่อ เกิดความหวังว่าอาจมีการเอาจริงเอาจังในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทว่า ปัจจุบัน ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการติดตามความบกพร่องในหลายประเด็นที่เกี่ยวพัน ( อ่านประกอบ : เหยื่อสะพาน 200 ปี ถล่ม ร้อง “อิศรา” ผู้มีส่วนรับผิดชอบ ยังลอยนวล )
ร้องเรียนสารพัดหน่วยงาน-ไม่คืบ
26 มิถุนายน 2557
นายอนุนาทยื่นหนังสือเรียน กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง ขอให้เร่งรัดดำเนินการจับกุมเจ้าหน้าที่อดีตหัวหน้ากลุ่มงานวิชาการโยธาธิการ วิศวกรชำนาญการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ตรวจสอบและออกแบบสะพานดังกล่าว หนังสือมีตราประทับ ตำรวจภูธรภาค 1 เลขรับที่ 1732 วันที่ 26 มิถุนายน 2557
4 กรกฎาคม 2557
ยื่นหนังสือร้องเรียน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา )
เรื่อง ขอให้ลงโทษเอาผิดทางวินัย ทางอาญา ต่อตำแหน่งหน้าที่กับข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ทุกระดับชั้นพนักงานเทศบาล พนักงานท้องถิ่น ทุกภาคส่วนทั้งกระทรวง ทบวง กรม ทุกองค์กร ทุกองค์การ ทุกสำนักงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เนื่องจากมีการปกปิด บิดเบือนประเด็นข้อเท็จจริง มีการช่วยเหลือผู้กระทำความผิด โดยผลสอบสวนออกมาไม่มีความโปร่งใส ไม่ยึดหลักนิติธรรม จริยธรรม คุณธรรม จรรยาบรรณ ตามหลักธรรมาภิบาล ตามคำสั่ง คสช.ที่ 69/2557 วันที่ 18 มิถุนายน 2557 เรื่อง มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤตมิชอบ
หนังสือร้องเรียนดังกล่าว ยื่นที่ ศูนย์บริการประชาชน เลขรับที่ 334/ 4 ก.ค. 2557
31 กรกฎาคม 2557
ยื่นหนังสือร้องเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ( ในยุค คสช.)
ประเด็นสำคัญคือขอได้โปรดมีคำสั่งให้ถอดถอน นายเชษฐา ปทุมรังสีตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา และกับพวก พ้นจากตำแหน่งเสีย ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 13 พ.ศ. 2552 มาตรา 48 ( 6 ) และมาตรา 73 เนื่องจาก ไม่ออกคำสั่งทางปกครอง “ให้ปิดสะพานสมโภชน์ กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี” แต่อย่างใด ทั้งที่ก่อนวันเกิดเหตุ ชาวบ้านได้แจ้งเตือนกับนายกเทศมนตรีแล้วว่า สะพานเอียงชำรุด
เอกสารดังกล่าว มีตราประทับ กก.สป. ( สร.มท.) เลขรับที่ 210 วันที่ 31 ก.ค. 2557
5 กันยายน 2557
ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ คณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ป.ป.ท.) ระบุถึงกรณีสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พังทลายเสียหายโดยสิ้นเชิง มีต้นเหตุเนื่องจากบุคคลที่เป็นข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ และบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คณะกรรมการตรวจรับงาน การเบิก-จ่าย เงินค่าจ้าง กลุ่มเจ้าหน้าที่ออกแบบงานและควบคุมงานก่อสร้าง อีกทั้งวัสดุที่นำมาใช้งานก่อสร้างไม่ได้ตามาตรฐาน มอก. หรือไม่ตรงตามแบบก่อสร้าง โดยไม่ยึดหลักวิชาชีพ วิศวกรรมควบคุมและมีการปกปิด บิดเบือนข้อเท็จจริง มีการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดอย่างชัดเจน น่าละอาย โดยผลสอบสวนที่ออกมา ไม่มีความโปร่งใส ไม่ยึดหลักนิติธรรม คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีงาม โดยไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ระเบียบวินัยที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ตามคำสั่ง คสช. ที่ 69 / 2557 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2557 เรื่องมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ
ในวันเดียวกัน นายอนุนาท ได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ในประเด็นที่คล้ายกันกับที่ยื่นต่อ เลขา ป.ป.ท.
19 กันยายน 2557
ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายกเทศมนตรี ตำบลท่าหลวง
กฤษฎีกาชี้ อ.บ.จ.อยุธยาต้องตั้งคณะ กก.สอบข้อเท็จจริง สะพานถล่ม
นอกจากการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ให้มีการเร่งรัดดำเนินคดีเอาผิดทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว นายอนุนาท ยังยื่นหนังสือต่อ นายกเทศมนตรี ตำบลท่าหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557 เพื่อขอทราบผลสอบข้อเท็จจริง เรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และการลงโทษทางวินัย ตามคำสั่งเทศบาล ตำบลท่าหลวง ที่ 313/2556 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด โดยคำสั่งดังกล่าว มีขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556
หนังสือร้องเรียน ระบุว่า “ เนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมาเกือบจะครบรอบ 2 ปี และเกือบจะครบรอบ 1 ปี ตามคำสั่งที่ 313/2556 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ปล่อยเรื่องนี้ ให้ล่าช้า มากเกินสมควรแก่เวลาแล้ว ผลสอบสวนดำเนินการน่าจะเรียบร้อยแล้ว เพื่อความโปร่งใส ชัดเจน ตามหลักคุณธรรม นิติธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ และตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีงามเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนชาวไทย ขอได้โปรดดำเนินการตามที่ร้องขอภายใน 15 วัน”
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา พบว่า เมื่อเดือน ตุลาคม 2557 มีบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1039 / 2557
เรื่อง การแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิด กรณีสะพาน สมโภชน์รุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่จังหวัดพระนครศรีนครอยุธยา
ใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือ ที่ มท 0804.4 / 3391 ลงวันที่ 30 เมษายน 2557 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น ขอหารือการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิด กรณีสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ข้ามแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลท่าหลวง สายสลิงขาด ทำให้สะพานถล่ม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 เป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิต จำนวน 4 ราย และได้รับบาดเจ็บ จำนวน 14 ราย โดยอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ขอให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิจารณาออกคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิดซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังมีประเด็นปัญหา ข้อกฏหมาย จำนวน 3 ประเด็น จึงขอหารือแนวทางปฏิบัติ ในการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และหารือว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ตามนัยข้อ 11 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรือไม่ อย่างไร
บันทึกดังกล่าวระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ( คณะพิเศษ ) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้แทนเทศบาลตำบลท่าหลวง เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ให้เงินอุดหนุนจำนวน 4,500,000 บาท สมทบกับเงินงบประมาณของเทศบาลตำบลท่าหลวง จำนวน 3,790,000 บาท และบันทึกข้อตกลงการขอรับเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้จัดทำขึ้นระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและเทศบาลตำบลท่าหลวง
คณะกรรมการกฤษฎีกา ( คณะพิเศษ ) พิจารณาข้อหารือประกอบกับข้อเท็จจริง ดังกล่าวแล้ว เห็นว่า การที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้อุดหนุนเงินจำนวน 4,500,000 บาท สมทบกับเงินงบประมาณของเทศบาลตำบลท่าหลวง เพื่อนำไปก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยมีบันทึกข้อตกลงระหว่างกันว่าเทศบาลตำบลท่าหลวงตกลงจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แผนการดำเนินงานของโครงการ หากไม่ดำเนินการตามโครงการหรือดำเนินการไม่เป็นไปตามโครงการและหลักเกณฑ์เงื่อนไข วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนด เทศบาลตำบลท่าหลวง จะต้องรับผิดชำระเงินที่ได้รับหรือเบิกจ่ายไปแล้ว รวมทั้งค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายอื่นใด อันเกิดจากการดำเนินการหรือไม่ดำเนินการดังกล่าว และแม้โครงการจะได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เทศบาลตำบลท่าหลวง ก็ยังต้องรายงานผลการดำเนินงาน รวมถึงส่งเงินที่เหลือจ่ายคืนให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงมีส่วนในการควบคุมดูแลและติดตามให้เทศบาลตำบลท่าหลวงนำเงินอุดหนุนที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ให้ตรงตามวัตถุประสงค์
องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการนำเงินอุดหนุนนั้นไปก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ด้วย ประกอบกับการจัดให้มีสะพานสำหรับประชาชนใช้สัญจรในเขตเทศบาลตำบลท่าหลวง ถือเป็นภารกิจเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะในเขตพื้นที่จังหวัดซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสะพานสมโภชน์ กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จึงเป็นความเสียหายที่มีผลต่อการจัดทำบริการสาธารณะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเข้าไปมีส่วนในการดำเนินการด้วยเช่นกัน จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐมากกว่า 1 แห่ง ตามมาตรา 11 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงต้องร่วมแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกรณีนี้ด้วย
เงื่อนงำ “โครงสร้างสะพาน-การซ่อมแซม” ได้มาตรฐานหรือไม่
นอกจากนี้ เอกสารประกอบหนังสือร้องเรียนของนายอนุนาท ยังมีส่วนหนึ่งเป็นสำเนาหนังสือจากสำนักงานเทศบาลตำบลท่าหลวง ส่งถึงผู้จัดการบริษัท ที เอ็ม ไอ ดริล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่รับจ้างเหมาก่อสร้างสะพานสมโภชน์ 200 ปี ให้มาซ่อมแซมสะพานที่มีสภาพชำรุด โดยมีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทดังกล่าวถึง 5 ครั้ง
ได้แก่ วันที่ 17 ธันวาคม 2555 หนังสือที่ อย 62402/ 16911 มีรายละเอียดระบุดังนี้
เรื่อง ขอให้ไปซ่อมแซมงานจ้าง
เรียน ผู้จัดการบริษัท ที เอ็ม ไอ ดริล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด
อ้างถึง สัญญาจ้าง เลขที่ 1/2554 ( e-Auction ) ลงวันที่ 21 มกราคม 2554
ระบุว่า “ตามที่บริษัท ที เอ็ม ไอ ดริล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้ทำสัญญาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างสะพาน สมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ตำบลท่าหลวง ตามสัญญาจ้าง เลขที่ 1/2554 ลงวันที่ 21 มกราคม 2554 กับเทศบาลตำบลท่าหลวง ตามสัญญาจ้างที่อ้างถึงนั้น
ในการนี้ เทศบาลฯ ได้ตรวจสอบ สภาพงานจ้างแล้ว ปรากฏว่าสภาพมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิม คือ Main Cable ทั้งด้านซ้ายและขวา มีค่าระดับไม่เท่ากันตามรูปแบบงานจ้าง หากปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายต่อผู้สัญจรไปมาได้ รายละเอียดปรากฏตามรูปถ่ายที่แนบมาพร้อมนี้ จึงขอให้ยริษัทฯ ไปดำเนินการซ่อมแซมงานจ้าง ที่ชำรุดดังกล่าวตามเงื่อนไขของสัญญา ข้อ 6 จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการซ่อมแซม ต่อไป ลงนามโดย นายเชษฐา ปทุมรังสี นายกเทศมนตรี ตำบลท่าหลวง
เอกสารดังกล่าว มีข้อความระบุตอนท้ายว่า *หมายเหตุ ทางบริษัทได้เข้ามาดูงานตามจดหมายที่ทางเทศบาลแจ้งมานี้ 3/01/56
ขณะที่ วันที่ 7 มกราคม 2556 นายเชษฐา ปทุมรังสี นายกเทศมนตรี ตำบลท่าหลวง ยังคงมีหนังสือที่ อย 62402/ 14 ถึง ผู้จัดการบริษัท ที เอ็ม ไอ ดริล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เรื่อง ขอให้ไปซ่อมแซมงานจ้าง โดยเนื้อหาสำคัญระบุตรงกัน จากนั้น วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 กระทั่ง วันที่ 22 เมษายน 2556 ก็ยังคงมีหนังสือจากนายกเทศมนตรี ตำบลท่าหลวง ถึง ผู้จัดการบริษัท ที เอ็ม ไอ ดริล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ขอให้ไปซ่อมแซมสะพานที่ชำรุด โดยมีใจความระบุตรงกันกับหนังสือฉบับก่อนหน้านี้
กระทั่งอีก 6 วันต่อมา คือวันที่ 28 เมษายน 2557 ได้เกิดเหตุการณ์สะพานถล่มที่สร้างความสูญเสียใหญ่หลวงให้แก่ชีวิตของผู้คนในหลายครอบครัว
บางทีท่า จากหน่วยงานรัฐ
นอกจากข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับความพยายามในการร้องเรียนทวงถามความเป็นธรรม พนักงานสอบสวนยังได้ส่งเรื่องผู้กระทำความผิดและผู้ร่วมกระทำความผิด ดังกล่าว ถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีรายชื่อทั้งสิ้น 13 ราย อาทิ นายเชษฐา ปทุมรังสี นายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง ,กลุ่มเจ้าหน้าที่ช่างที่เกี่ยวข้อง หรือช่างผู้ควบคุมงาน หรือวิศวกรควบคุมงาน หรือผู้อำนวยการกองช่าง และผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลงานกองช่างเทศบาลตำบลท่าหลวง สังกัดเทศบาลตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ,วิศวกร ผู้ออกแบบและวิศวกรควบคุมงานที่เกี่ยวข้อง สังกัดสำนักงานกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ,คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคา และคณะกรรมการตรวจการจ้าง ,นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดี กรมโยธาธิการและผังเมือง ,นายวรพจน์ นุชิต ตำแหน่งวิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ผู้ออกแบบสะพานฯ สังกัดสำนักงานกรมโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ต้องหาตามหมายจับ จ.554/ 2556 ลงวันที่ 12 กันยายน 2556 ร่วมเป็นกรรมการประกวดราคาและกรรมการตรวจการจ้าง โดยปัจจุบันได้ลาออกจากราชการแล้ว
หนังสือร้องเรียนยังระบุความล่าช้าของสำนวนคดีด้วยว่า ยังอยู่ที่ชั้นอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนายอนุนาทไดรับแจ้งว่า อัยการต้องรอผลชี้มูลจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิรตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) ก่อน จึงจะนำเรื่องทั้งหมด ส่งฟ้องคดีต่อศาล
ขณะที่ หนังสือตอบกลับจากดีเอสไอ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2557 ระบุว่าเรื่องอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายเบื้องต้น เพื่อเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งการ ทั้งนี้ หากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคำสั่งเป็นประการใด จักได้มีหนังสือแจ้งให้ท่านทราบต่อนั้น ช่วงเวลาดังกล่าว ยังเป็นช่วงที่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก่อนที่ในปัจจุบัน พ.ต.อ.ชัชวาลย์จะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม
นอกจากนี้ นายอนุนาทยังเคยยื่นหนังสือร้องเรียนถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งชาติ ( สตง.) ให้ตรวจสอบทุกขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่เดิมสะพานนี้เป็นตอม่อแข็งแรงดีอยู่แล้ว เหตุใดจึงทุบทิ้งสร้างขึ้นมาใหม่ เริ่มจากการประกวดราคา, การจัดซื้อจัดจ้าง, การตรวจรับมอบงาน และการเบิก-จ่ายเงิน การก่อสร้างสะพานสมโภชน์ กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
หลังจากนั้นได้รับหนังสือตอบกลับ ที่ ตผ 0041 อย / 0319 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 มีข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือตอบกลับของ สตง. ระบุว่า “สำหรับทางแพ่ง ให้เทศบาลตำบลท่าหลวงในฐานะเจ้าของทรัพย์สิน ร่วมกับองค์กรบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในฐานะเจ้าของงบประมาณ ร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและทาง วินัย และได้แจ้งให้นายอำเภอท่าเรือ ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีในความผิดทางอาญา กับช่างผู้ควบคุมงาน และผู้รับจ้าง” และนายอนุนาทยังไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าข่าวสารใดๆ อีก
ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ถึงการตรวจสอบกรณีดังกล่าว ว่าได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจากนายอนุนาท และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบบ้างแล้ว แต่ยังต้องใช้เวลาอีกนานในการรวบรวมข้อมูล
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราเคยพยายามสอบถามความคืบหน้าในส่วนของคดีอาญาจากอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนคดี แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์และขอให้ผู้สื่อข่าวไปพบกับหัวหน้าอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังรายละเอียดต่างๆ ด้วยตัวเอง
จึงกล่าวได้ว่าตลอดทั้งปี 2557 ที่ผ่านมา ความพยายามของพ่อเหยื่อรายนี้ ยังไม่ได้รับการสานต่อจากหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนเท่าใดนัก สำหรับปี 2558 นี้ คงเป็นอีกบทพิสูจน์ว่าความยุติธรรมที่ครอบครัวผู้สูญเสียวาดหวังจะปรากฏชัดเจนขึ้นมาบ้างหรือไม่
สำคัญกว่านั้น คดีสะพานถล่มนี้นอกจากมีการละเมิดทางวินัยแล้ว ยังมีอดีตเจ้าหน้าที่รัฐที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาตามหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามคำร้องของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระบุความผิดฐาน “กระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบควบคุม หรือทำการก่อสร้าง ซอมแซม หรือรื้อถนน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้นๆ โดยปราการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น” ทั้งนี้ คดีมีอายุความ 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 28 เดือน เมษายน 2556 แต่ไม่เกินวันที่ 28 เมษายน 2579
ถือเป็นอีกบทพิสูจน์ ของหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมของไทย!
อ่านประกอบ :
เปิดหนังสือร้องเรียน 9 ฉบับ ความพยายามของพ่อเหยื่อสะพาน 200 ปี ถล่ม!
เปิดหนังสือ"ดีเอสไอ"ตอบพ่อเหยื่อสะพาน200 ปีถล่ม ลุยล่าตัวผู้กระทำผิดแน่!
ภาพสะพานจาก : www.posttoday.com