ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาฯ ป.ป.ท.: ปีแห่งการกวาดล้างทุจริต
"โดยส่วนตัวผม ปีนี้ ก็คิดว่ามันจะเป็นปีแห่งการกวาดล้างทุจริต ผมในฐานะที่มีหน้าที่ก็จะทำให้เต็มที่ เมื่อพี่น้องทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชนยังทำเต็มที่ขนาดนั้น ผมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีทั้งอำนาจหน้าที่และกินเงินเดือนอีก ถ้าไม่ทำก็น่าอาย..."
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงคดีสำคัญในปีที่ผ่านมา คือคดีฟุตซอล ที่การบูรณาการความร่วมมือจากองค์กรตรวจสอบต่างๆ ในนามศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) นำไปสู่การประสานงานเพื่อดำเนินการกับทั้งกลุ่มข้าราชการ นายทุน และขยายผลไปสู่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการอนุมัติใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อนำมาใช้เป็นโมเดลต้นแบบในการเดินหน้า ตรวจสอบคดีอื่นๆ ต่อไป รวมทั้งบอกเล่าถึงภาพรวมคดีที่คั่งค้าง คดีที่คณะกรรมการพิจารณาและชี้มูลความผิดแล้ว รวมทั้ง อธิบายถึงการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้แต่ละคดี พิจารณาได้รวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ตระหนักว่าการทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริตในภาครัฐ ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่สุด คือ การตรวจสอบของภาคประชาชน รวมทั้งข้อร้องเรียนต่างๆ ที่ประชาชน ส่งมายัง ป.ป.ท.
@ ภาพรวมในแต่ละคดีที่ค้างอยู่ใน ป.ป.ท. ตอนนี้เป็นอย่างไร ?
ประยงค์ : ตั้งแต่ตั้ง ป.ป.ท. ขึ้นมา เรามี คดีทั้งหมด 17,179 คดี จนกระทั่งถึงวันที่ 22 พ.ค. 57 จาก 1 หมื่นกว่าคดีนี้ คณะกรรมการพิจารณาไปแล้ว 8,022 คดี และรอนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ อีก 900 เรื่อง
ในจำนวนที่พิจารณาไปแล้ว 8,022 เรื่อง ในจำนวนนี้ มีเรื่องที่เสร็จก่อนวันที่ 22 พ.ค. 5 พันกว่าเรื่อง โดยจำนวน 5 พันกว่าเรื่องนี้ ใช้เวลา3-4 ปี แต่หลังจาก 22 พ.ค. 57 จนถึงปัจจุบัน ภายในระยะเวลาเพียง 7 เดือน พิจารณาเสร็จไป ถึง 2-3 พันกว่าเรื่อง เจ้าหน้าที่ของเรา คณะกรรมการของเราก็ทำเต็มที่ และกระบวนการทำงานของเราก็ถูกกระตุ้นโดยประชาชนผ่านการร้องเรียนของประชาชน
ในรูปแบบของการทำงานต่อไป ผมก็จะใช้หนังสือร้องเรียนของพี่น้องประชาชนเป็นเครื่องมือ เพราะคน 64 ล้านคน ถ้ามีข้าราชการไปทำให้เขาเดือดร้อนที่ไหน ประชาชนเขาก็จะร้องเรียนมา ผมเองก็จะใช้คำสั่ง คสช. ที่ 69 ส่งเรื่องให้หน่วยงานราชการไปแก้ไข และตรวจสอบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของคุณ ทำผิดหรือเปล่า ถ้าทำผิดเป็นคดีอาญาก็ส่งมาให้ผม นี่คือรูปแบบการทำงานจากนี้ต่อไป
นอกจากนี้ เรามีการปรับกระบวนการภายใน โดยตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติม ทำให้ ภายใน 7 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 คณะกรรมการพิจารณา 2,041 คดี ชี้มูล 92 คดี นี่คือความสำเร็จ ในเชิงปริมาณ ถ้าในเชิงคุณภาพ คือคดีฟุตซอล ซึ่งกรณีฟุตซอลนี้ก็ยังไม่จบ ยังต้องไปดูในระดับ ป.ป.ช. อีก แต่ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน
@ มีเป้าหมายและทิศทางในการทำงานตรวจสอบทุจริต ต่อจากนี้อย่างไร ?
ประยงค์ : กลไกที่จะขับเคลื่อนให้หน่วยราชการต้องทำงานตรวจสอบคือ ศอตช. โดยมี ป.ป.ท. เป็นฝ่ายเลขา ศอชต. ถ้าหน่วยราชการไม่ทำงาน ก็จะมีกำลังจากส่วนนี้ คือจาก ป.ป.ช. ส.ต.ง. ดีเอสไอ ลงไปกระตุ้นในพื้นที่ เมื่อส่วนราชการทำงาน การตรวจสอบในประเทศจะดีขึ้น เพราะจะมีกลไกกำกับให้คุณต้องทำงาน กระตุ้นให้ดีขึ้น ในระยะต่อไปเราก็จะใช้ตรงนี้ ทำงานในรูปลักษณะนี้ และจะหยิบปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบโดยตรงมาดำเนินการ ซึ่งปัญหาแรก คือจำนำข้าว
โครงการที่ 2 ที่เราจะดำเนินการตรวจสอบ ก็คือโครงการที่เกิดจากงบแปรญัตติ
ตอนนี้ โครงการที่ใช้งบแปรญัตติ ประมาณ 3,500 ล้าน เราเพิ่งทำไปเพียงโครงการเดียวคือโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลนี่เราเห็นเลยว่าการที่เราบูรณาการกัน 4-5 หน่วยงานใน ศอชต. ทำให้เราสามารถดำเนินการกับกลุ่มข้าราชการ กลุ่มพ่อค้า และกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการหางบประมาณมา จนกระทั่งเราสามารถสรุปคดีได้ ในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 3-4 เดือน
และตอนนี้ ข้อมูลสนามฟุตซอลของจังหวัดแรก 58 โรงเรียน ป.ป.ท. ส่งให้ ป.ป.ช. แล้ว และ ป.ป.ช.เสนอให้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน ส่วนข้อมูลของอีก 17 จังหวัด จะเข้าสู่การพิจารณาของ ป.ป.ท.ภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่เมื่อ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนทั้ง 58 โรงเรียนแล้ว ป.ป.ช.ก็ยืนยันว่าจะไต่สวน ให้เสร็จ ภายใน 1 ปี นี่คือรูปแบบการทำงานแบบบูรณาการที่ชี้ให้เห็นว่าเร็วขึ้น
ส่วนโครงการ ที่ 3 ที่เราดำเนินการคือการตรวจสอบงบประมาณเงินทุนอุดหนุนท้องถิ่น 18,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ ผมทำโครงการเดียวคือ โซล่าเซลล์ เพิ่งตรวจสอบการใช้งบ 350 กว่าล้านบาท แล้วอีก 17,000 กว่าล้านบาทยังรอการตรวจสอบ ซึ่งเมื่อจับปัญหาที่ใหญ่ในลักษณะนี้แล้วถ้ามีการทุตริจ การเจาะลึกไปในแต่ละกรณีก็จะสามารถสาวไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อที่ว่าเราจะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
@ กรณีฟุตซอลที่มีความคืบหน้าไปมาก มีข้อสังเกตอะไรเกี่ยวกับการใช้งบประมาณในส่วนนี้ ?
ประยงค์ : กรณีฟุตซอล มีจุดอ่อนเห็นชัด เราเห็นว่าเกราะป้องกันของบุคลากรทางการศึกษาแทบไม่มี ครูเป็นพันๆ คน ปล่อยให้พ่อค้าไปบีบให้ทำในสิ่งที่พ่อค้าต้องการได้อย่างไร ถึงที่สุดครูก็ต้องถูกดำเนินคดี ดังนั้น ต้องมีเกราะป้องกันครู
จุดอ่อนประเด็นที่สอง คือระบบงบประมาณมีจุดรั่วไหลหรือเปล่า จู่ๆ คุณไปตัดงบประมาณของกรมหนึ่ง มาให้อีกกรม แล้วให้เอาไปทำโครงการอะไรก็ไม่รู้ ยกตัวอย่างที่โคราชจังหวัดเดียวที่ทำไป มีค่าความแตกต่างในแต่ละสัญญา ต่างจากที่ควรจะเป็น ถึง 60-70% แล้วเรื่องความคุ้มค่าในการใช้งาน ก็เห็นว่าใช้ไม่ได้
เพราะฉะนั้น การตรวจสอบกรณีสนามฟุตซอล เมื่อแล้วเสร็จ ผมก็จะมีข้อเสนอเชิงนโยบายว่าเรื่องงบประมาณ การใช้จ่ายต้องรัดกุม ให้รัฐบาลรับไปและกำชับให้ส่วนราชการดำเนินการแก้ไข
@ เรื่องการใช้จ่ายงบแปรญัตติกรณีก่อสร้างสนามฟุตซอล จะขยายผลสอบประเด็นใดเพิ่มเติม ?
ประยงค์ : ผมจะขยายผลไปยังโครงการ อื่นๆ จะเลาะตะเข็บตรวจ เพราะถือว่าทำร้ายประเทศชาติ มันโจ่งแจ้ง ถ้ามีจิตใจที่มีคุณธรรมสักนิดคงไม่ทำ แต่นี่ผมว่าแย่มาก
@ การทำงานร่วมกันของหน่วยงานตรวจสอบ ในคดีฟุตซอล จะนำไปเป็นต้นแบบในการตรวจสอบคดีอื่นๆ อย่างไร ?
ประยงค์ : กรณีฟุตซอล เนื่องจากว่ามีการกระทำผิดของคนหลายกลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่งกลุ่มครู กลุ่มที่สองคือพ่อค้า และกลุ่มที่สามคือกลุ่มที่จัดหางบประมาณมา อาจจะเป็นกลุ่มการเมืองอะไรก็แล้วแต่ ซึ่ง ป.ป.ท. ไม่มีอำนาจไปดำเนินการกับกลุ่มพ่อค้า ไม่มีอำนาจไปดำเนินการกลุ่มที่จัดหางบประมาณ แต่ดีเอสไอสามารถดำเนินการกับพ่อค้าได้ ส่วน ป.ป.ง. สามารถจะหาเส้นทางทางการเงินและเชื่อมโยงได้ เพราะการทุจริต มีวัตถุประสงค์เพื่อจะหาเงิน เพราะฉะนั้น มันก็จะมีเส้นทางการเงิน ส่วน สตง. จะมีข้อมูลการเบิกจ่าย
เมื่อรวมกัน 4-5 หน่วยงาน คนมากขึ้น อำนาจก็มากขึ้น เมื่ออำนาจมาก ครอบคลุมทั้งหมด เราไปทำงานร่วมกัน จึงสรุปได้เร็ว เพราะไม่มีหน่วยงานใดจะครอบคบุมทุกประเด็นขนาดนี้ นี่คือสิ่งที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ท่านให้นำเอามาใช้ เพราะฉะนั้น ต่อไป ก็จะทำแบบนี้ อย่าง ป.ป.ท. ทุกวันนี้ มีเจ้าหน้าที่ 247 คน เจ้าหน้าที่ปราบจริงๆ มีแค่ 100 กว่าคน แต่ถ้ารวมกัน 4 หน่วยงานแล้ว ผมว่าก็มีหลายพันคนจากทั้งดีเอสไอ ป.ป.ช. ส.ต.ง. ป.ป.ง. อีก
ในส่วนของ ป.ป.ท. เอง เมื่อหลังวันที่ 22 พ.ค. 57 เราก็มีการหารือกัน ให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาเพื่อพิจารณารายละเอียดแต่ละคดี ทำให้เกิดความสำเร็จในเชิงปริมาณ เนื่องจากเป็นคณะอนุกรรมการคอยกลั่นกรองรายละเอียดเรื่องต่างๆ ให้กับคณะใหญ่ การพิจารณาแต่ละเรื่องก็จะเร็วขึ้น ในปีใหม่ 2558 เราก็จะใช้รูปแบบนี้
@ นับแต่ รัฐบาลภายใต้ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ มีกรณีหนึ่งที่สังคมให้ความสนใจ คือผลสอบไมโครโฟนแพง ปัจจุบันการตรวจสอบอยู่ในขั้นใด ?
ประยงค์ : เนื่องจากเรื่องนี้เป็นการขออนุมัติแบบเร่งด่วน ซึ่งเมื่อสื่อไปท้วง โครงการก็หยุดดำเนินการต่อ ถามว่าเรื่อง กฎหมายถือว่าผิดไหม ก็เมื่อยังไม่เกิดก็ไม่ผิด แต่ในเรื่องความโปร่งใส ป.ป.ช. ยังดำเนินการตรวจสอบอยู่
@ ป.ป.ท. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนการทุจริตเข้ามาพอสมควร มีอะไรอยากฝากถึงภาคประชาชน ?
ประยงค์ : ฝากถึงพี่น้องประชาชนว่าโดยส่วนตัวผม ปีนี้ ก็คิดว่ามันจะเป็นปีแห่งการกวาดล้างทุจริต ผมในฐานะที่มีหน้าที่ก็จะทำให้เต็มที่ เมื่อพี่น้องทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชนยังทำเต็มที่ขนาดนั้น ผมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีทั้งอำนาจหน้าที่และกินเงินเดือนอีก ถ้าไม่ทำก็น่าอาย ผมจะทำเต็มที่และทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมให้ได้
เมื่อเราทำงานในเชิงบูรณาการ มีการลงพื้นที่ ก็มีการร้องเรียนเข้ามาเยอะ ชี้ให้เห็นว่าประชาชนให้ความเชื่อมั่นเรา เขาก็จึงร้องเรียนเข้ามามาก ดั้งนั้น เราจะรักษาสถานะนี้ได้อย่างไร เมื่อเขาเชื่อมั่น ป.ป.ท. และร้องเข้ามา ป.ป.ท. ตรวจสอบเต็มที่ ผมเชื่อว่าในระยะต่อมา ปัญหาก็จะลดน้อยลงเอง
….
คือเจตจำนง ความมุ่งหวังและทิศทางการทำงานตรวจสอบทุจริต ของเลขาธิการ ป.ป.ท. ที่สังคมต้องจับตาว่า นับจากนี้จะมีเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่โปร่งใสอีกกี่มากน้อยที่รอคอยการถูกตรวจสอบจาก ป.ป.ท.
ภาพประกอบจาก : www.js100.com