เหมือนเดิม-เปลี่ยนไป? ปัญหาทุจริตหลังคสช.ยึดอำนาจในทัศนะ“ปธ.ป.ป.ช.”
“…ส่วนเรื่องคะแนน CPI ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าที่คะแนนไม่ดี ส่วนหนึ่งเกิดจากนักการเมือง ต่างชาติบอกเราว่านักการเมืองมีปัญหา ก็หวังว่าการปฏิรูปที่ทำกันมากมาย และมีแนวทางต่าง ๆ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วเราจะได้นักการเมืองที่ดีกว่าเดิม ที่รับผิดชอบ เราหวังอย่างนั้น…”
ถือเป็นปีที่ตกระกำลำบากปีหนึ่งในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นับตั้งแต่ต้นปีลากยาวมาจนถึงสิ้นปี 2557 ถูกประชาชนบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำผรุสวาทรุนแรงพร้อมกับขุดวาทกรรม “สองมาตรฐาน” กลับขึ้นมาอีกครั้ง
ภายหลังมีการแจ้งข้อกล่าวหาประเด็นทุจริตกับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี รวมไปถึง “บิ๊กรัฐมนตรี” ซีกพรรคเพื่อไทยหลายราย แต่โครงการทุจริตในสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กลับไม่มีความคืบหน้ามากนัก
พร้อมกับสังคมที่เริ่มตั้งคำถามว่าสำนักงาน ป.ป.ช. เปรียบดั่ง “แดนสนธยา” ที่ใครก็ยากจะเข้าไปตรวจสอบได้ ?
“จริง ๆ ป.ป.ช. สามารถโดนตรวจสอบได้ตามที่กฎหมายวางไว้ แต่การตรวจสอบ ป.ป.ช. เองต้องยากพอสมควร ถ้าง่ายก็ทำงานไม่ได้สิ เพราะเราไปชี้มูลเขานะ ถ้าง่ายก็คงโดนฟ้องทุกวัน (หัวเราะ) อย่างนี้มันก็ไม่ได้”
เป็นคำยืนยันของ “ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดห้องทำงานสุดโอ่อ่าบนชั้น 4 สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org
“ปานเทพ” อธิบายว่า ตามกฎหมายนั้นการจะตรวจสอบหรือเอาโทษกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการโดย “กลุ่มบุคคล” ไม่ใช่ “บุคคล” เช่น ถ้าจะดำเนินคดีอาญาหรือถอดถอน หากเป็นประชาชนจะต้องร่วมกันลงชื่อ 2 หมื่นชื่อ หรือจะร้องเรียนผ่านผู้แทนประชาชน เช่น ส.ส. ส.ว. เพื่อดำเนินการแทนก็ย่อมทำได้
ก่อนจะย้ำว่า “อีกอันที่ไม่จริงเลยคือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เรื่องนี้ต้องแก้เลย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ยื่นเหมือนกัน แต่ยื่นกับ ป.ป.ช. เองไม่ได้ ต้องไปยื่นกับวุฒิสภา และยื่นเหมือนกับนักการเมืองทั้งหมด เพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยเท่านั้น”
ความจริงแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. ควรเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯหรือไม่ ?
“ปานเทพ” นิ่งคิดก่อนจะตอบว่า มีอีกมุมมองหนึ่งคือ หากจะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อประชาชน มันก็ควรจะมีที่มาจากประชาชน ควรให้ประชาชนเป็นคนเลือกเข้ามา และประชาชนจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบ เช่น ส.ส. ส.ว.หรือรัฐมนตรี เป็นต้น เพื่อจะได้เข้าไปดูว่าคนที่ประชาชนเลือกเข้าไปมีความโปร่งใสหรือไม่ อย่างไร
“แต่นอกเหนือจากนั้นมันผ่านกระบวนการที่ไม่ได้มาจากประชาชน เป็นกระบวนการสรรหา กฎหมายไม่ได้บอกให้เปิด แต่เราไม่คิดอะไรเลยจะให้เปิดเผยหรือไม่ ถ้ามีการบังคับเป็นกฎหมายมันก็ทำได้”
ท่ามกลางความขัดแย้งที่ร้าวลึกในปัจจุบัน วาทกรรม “สองมาตรฐาน” ถูกขุดมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และ ป.ป.ช. ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่โดนวาทกรรมนี้เล่นงาน ?
“ปานเทพ” รีบอธิบายว่า คดีต่าง ๆ ที่เราโดนหาว่าสองมาตรฐาน เรารีบทำทั้งหมด เช่น คดีข้าวของคุณยิ่งลักษณ์เราก็ทำ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนของคณะทำงานร่วมฯ หรือคดีโรงพักตำรวจ (ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์) เราก็ทำ แต่ข้อมูลมันเยอะมาก ผมก็ถาม อ.วิชา (มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.) อยู่ตลอด ท่านก็บอกว่าเร่งดำเนินการอยู่ นอกจากนั้นยังมีคดีอื่น ๆ ที่ยังค้างเราก็เร่งดำเนินการหมด เช่น คดี GT 200 เป็นต้น
“คดีตรงนี้ถือว่าเป็นคดีที่สังคมจับตามองอยู่ มองถึงความโปร่งใสของ ป.ป.ช. ด้วย ตรงนี้เราต้องให้ความสำคัญ และต้องบอกสังคมเป็นระยะว่าความคืบหน้าเป็นอย่างไรแล้ว”
6 เดือนที่ผ่านมาสำหรับ ป.ป.ช. มองว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สอบผ่านหรือไม่ ?
“ปานเทพ” ตอบอย่างฉะฉานทันทีว่า ผ่านแน่ ในแง่ของ ป.ป.ช. เนื่องจากให้การสนับสนุนด้านการปราบปรามทุจริตอย่างจริงจัง รวมไปถึงในแง่ของประชาชนด้วย หากวัดจากโพลล์ที่ผ่านมามีสิ่งที่เด่นชัดในรัฐบาลชุดนี้คือการปราบทุจริต ซึ่งเรื่องนี้ดีมากเลย
“ปานเทพ” อธิบายว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ลักษณะความจริงใจออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริต ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะเองเลย ซึ่งคณะกรรมการฯชุดนี้ไม่ทับซ้อนกับการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. อย่างแน่นอน เพราะท่าน (พล.อ.ประยุทธ์) พูดตลอดเวลาว่าจะต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงานซึ่งกันและกัน เรื่องนี้ชัดเจนมาก ดังนั้นเมื่อภาครัฐมีความชัดเจน ทุกภาคส่วนก็ขยับเขยื้อน เพราะต้องทำตามนโยบายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณที่มีการบูรณาการเรื่องการปราบปรามทุจริตโดยเฉพาะ
“ทิศทางต่อไปเราก็เดินตามยุทธศาสตร์นี้ ร่วมมือร่วมใจกับรัฐบาลตลอดไป ดังนั้นที่เราหวังว่าจะได้ดัชนี้ชี้วัดความโปร่งใส (CPI) ถึง 50 คะแนนมันจะเป็นไปได้ทีเดียว แม้ว่าจะท้าทาย กระโดดเยอะ แต่ปีที่แล้วเราขยับมาถึง 17 อันดับ แม้คะแนนอาจะได้ลำบากนิดหนึ่ง แต่ขณะนี้ทิศทางไปในเชิงบวกมากขึ้น”
การปฏิรูปทุกด้าน จะช่วยลดช่องทางการทุจริตลงได้จริงหรือ ?
“คิดว่าทิศทางมันไปอย่างนั้นแล้ว แต่ว่าจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ พร้อมกับมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง อย่างที่ พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี) กล่าวว่า ต้องทำจริงจัง และต้องไม่ล่าช้าด้วย ซึ่งก็เข้ากับรูปแบบการทำงานของเรา ถ้าทำอย่างนี้ ทิศทางไปอย่างนี้ ภาพลักษณ์ของเราจะดีขึ้นแน่นอน”
แต่หลังจบรัฐบาลชุดนี้ จะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง มันจะไม่วนกลับไปสู่ “วัฏจักร” แบบเดิมอีกหรือ ?
“ปานเทพ” อธิบายว่า ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการปฏิรูป เราก็หวังว่ารัฐบาลที่รับช่วงต่อจากนี้จะให้ความสำคัญต่อเนื่องต่อไป ไม่ใช่อะไร แต่เป็นเรื่องภาพลักษณ์ของรัฐบาลเองด้วย รวมไปถึงภาพลักษณ์ของประเทศ มันถือเป็นไฮไลต์ทีเดียว
“ส่วนเรื่องคะแนน CPI ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าที่คะแนนไม่ดี ส่วนหนึ่งเกิดจากนักการเมือง ต่างชาติบอกเราว่านักการเมืองมีปัญหา ก็หวังว่าการปฏิรูปที่ทำกันมากมาย และมีแนวทางต่าง ๆ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วเราจะได้นักการเมืองที่ดีกว่าเดิม ที่รับผิดชอบ เราหวังอย่างนั้น”
พร้อมยกตัวอย่างถึงองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทยว่า “คุณประมนต์ (สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ) ระบุว่า รัฐบาลจะต้องเห็นความสำคัญของพลังประชาชาน ประชาชนมีหน้าที่ตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งดูเรื่องการทำงาน การเข้าสู่ตำแหน่ง การถอดถอนด้วย ต้องดูให้ครบหมด ก็หวังว่าทุกอย่างหลังการปฏิรูปแล้ว เราจะได้เห็นภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่จะมาทำต่อไป ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”
ท่ามกลางกระแสการถูกโจมตีแบบนี้ ส่งผลให้มีหลายฝ่ายส่งเสียงต้องการยุบรวม “องค์กรอิสระ” ทั้งหลายทั้งมวลเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อลดงบประมาณ และสร้างความ “กระชับ-คล่องตัว” ในการบริหารงาน ?
“ปานเทพ” พักดื่มน้ำก่อนจะเอนหลังพิงเก้าอี้ตอบเสียงดังฟังชัดว่า เรื่องนี้คงต้องดูกันว่าหน้าที่ต่าง ๆ มันจะเชื่อมโยงกันอย่างไร เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีกฎหมาย และหน้าที่ของตัวเอง แม้ว่าบางส่วนจะเหลื่อมล้ำกันบ้าง โดยเฉพาะเรื่องทุจริตที่มีหลายองค์กรเกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือแม้แต่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นต้น เขาจึงมองว่าควรจะรวมกัน
ก่อนจะเสนอแนวคิดว่า “จะรวมได้อย่างไร ต้องดูว่าหากรวมแล้ว เรื่องของกฎหมายก็ต้องรวม แล้วจะเอื้อกันอย่างไร ต้องมีการวางรูปแบบกฎหมายใหม่ทั้งหมด แม้ว่าในต่างประเทศจะมีการรวมกันขององค์กรทำนองนี้ เช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น แต่ของเราก็ต้องดูให้รอบคอบ หากกฎหมายเอื้ออำนวย และการทำงานสอดคล้องกันได้ ก็คิดว่าดี”
พร้อมเน้นย้ำในเรื่องของกฎหมายหลายครั้งว่า “ต้องดูถึงเรื่องของกฎหมายให้ชัด และดูหน่วยงานและบุคลากรต่าง ๆ ด้วย เพราะองค์กรอิสระหลายองค์กรเขาก็มีคนของเขา มีกฎหมายของเขา ถ้ามารวมกันอาจจะพูดง่าย แต่ทางปฏิบัติมันไม่ง่ายขนาดนั้น แต่ถ้ารวมกันได้ ก็จะมีประสิทธิภาพ”
“เขา” เสนอแนวทางใหม่ว่า หากมีการปรับเปลี่ยนความร่วมมือในการทำงานซึ่งกันและกัน เช่น เนื้อคดีน่าจะส่งต่อกันได้เลย ไม่จำเป็นต้องทำขึ้นใหม่ ยกตัวอย่าง สตง. ได้รับเรื่องร้องเรียนมาชัดเจน มีการสรุปเนื้อหาเสร็จแล้ว ก็ส่งให้ ป.ป.ช. ได้เลย ไม่ใช่ส่งมาแต่หัวเรื่องแต่ไม่มีเนื้อหา แต่ต้องส่งให้ทั้งชุด ป.ป.ช. จะได้ทำต่อเลย ซึ่งตรงนี้ทำได้แน่ อะไรอย่างนี้
“สมมติ ไม่ได้รวมกัน แต่ก็ต้องร่วมมือกันในการทำคดี คิดว่าน่าจะเริ่มจากตรงนั้นก่อน แต่ถ้าต้องการจะรวม อาจมีขั้นตอนเยอะ ยุ่งยากเยอะ”
ท้ายสุด “ปานเทพ” ฝากเรื่องสำคัญไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนชุดเก่าซึ่งจะหมดวาระในปี 2558 นี้ว่า แน่นอนที่สุด เราหวังว่าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่าง ๆ สามารถจะส่งทอดงานให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ได้โดยไม่ลำบากนัก แต่ก็มีเรื่องค้างอยู่เยอะทีเดียวที่เราต้องสะสางก่อน เพราะต่อจากนี้จะเหลือกรรมการอยู่ 4 ท่านที่ยังอยู่ก่อนการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ที่หมดวาระ ก็ยังเหลืองานอยู่ค่อนข้างมาก เช่น เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องคดีค้างต่าง ๆ ที่เหลืออยู่กว่า 8 พันคดี ซึ่งตอนนี้กำลังเร่งดำเนินการแก้ไขอยู่
นอกจากนี้ก็มีเรื่องต่างประเทศ เพราะชุดนี้เป็นชุดแรกที่ดำเนินงานด้านต่างประเทศมากเหลือเกิน ได้ท่านภักดี (โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.) ช่วยดำเนินการให้ ก็หวังว่ากรรมการชุดใหม่ จะให้ความสำคัญ เพราะชุดก่อน ๆ ให้ความสำคัญน้อย เพื่อหน้าตาของเรา
“รวมถึงขอฝากเรื่องกฎหมายที่อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย ไม่รู้ว่าจะเสร็จสิ้นทันเทอมของเราหรือไม่ ถ้าไม่เสร็จก็ต้องให้กรรมการชุดใหม่ดำเนินการต่อ รวมถึงการอนุวัฒน์กฎหมายต่างประเทศด้วย”
“ตรงนี้ต้องออกมาให้ได้ ต้องพยายามทำให้มันดี เพื่อจะได้ส่งมอบท่านได้อย่างสง่างาม และไม่อยากให้ชุดใหม่เหนื่อยเกินไปนัก”