“ไพบูลย์” แนะชุมชนยึดหลักคุณธรรมทลายกรงกักขังการพัฒนาประเทศ
ระบุโลกกำลังวิกฤติ ประชากรเพิ่ม-ทุจริต-ความดีถดถอย ให้ยึดหลัก ความดี –ความสามารถ-ความสุข แก้ปัญหา “อำพล” ชี้ส่วนกลางทำ ชุมชนล่มสลาย –ขัดแย้งวัฒนธรรม-ไม่เกิดการเรียนรู้และ คอรัปชั่น เสนอทางออกชุมชนต้องจัดการตนเอง
วันที่ 14 ก.ย.54 นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “สานพลังชุมชนท้องถิ่นและภาคีสู่การจัดการตนเอง” ภายในงานสมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชน “สานพลังชุมชนท้องถิ่นและภาคีสู่การจัดการตนเอง” และการจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ครั้งที่ 1/2554 ที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต ว่า ปัจจุบันโลกและสังคมไทย กำลังเผชิญกับมหัตภัยที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงซึ่งเกิดจากปัญหาหลัก 1. สัดส่วนประชากรต่อทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก 2.วัตถุนิยม โลภะนิยม บริโภค เห็นแก่ตัว การแก่งแย่งเพิ่มขึ้น และ 3. ความดีงามลดน้อยถอยลง เปรียบเสมือนกรงขนาดใหญ่ที่ขังประเทศไทยไม่ให้เกิดการพัฒนา คือความอ่อนด้อยในการจัดการตนเอง การพัฒนาต้องเริ่มจากการจัดการตนเอง ไปสู่ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติต่อไป โดยใช้หลักการตรวจสอบ 3 ประการ คือ ได้แก่ ความดี ความสามารถ และ ความสุข เพราะถ้าเราไม่สามารถจัดการตัวเองได้ ก็ไม่สามารถจัดการคนอื่นได้
ส่วนการ “สานพลังชุมชนท้องถิ่นและภาคีการพึ่งพาตนเอง” ซึ่งจะเป็นทางออกในการพัฒนาประเทศ จะต้องทลายกรงยักษ์ 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 ความอ่อนแอในการจัดการตนเอง ชั้นที่ 2 ระบบโครงสร้างการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจ และชั้นที่ 3 คุณธรรมของมนุษย์ ความโลภ และการทุจริตการเอาเปรียบแย่งชิงนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ ภายในงานมีการเสวนา หัวข้อ “ชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการตนเองโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” โดย นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในอดีตชุมชนมีการจัดการตนเองอยู่แล้ว เช่นการจัดการที่ดินสาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน การว่าคดีความในชุมชนโดยผู้นำหมู่บ้าน แต่สาเหตุที่ทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะถูกจัดการจากส่วนกลาง ที่ดินสาธารณะถูกนำมาออกโฉนด และมีการสัมปทานขุดแร่ ในขณะที่ชุมชนไม่มีสิทธิใช้ทรัพยากรตนเอง ส่วนการปกครองก็จัดการผ่านระบบศาล มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ชุมชนไม่มีอำนาจในการปกครองตนเอง
นายแพทย์อำพล ยังกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ชุมชนควรมีอำนาจในการจัดการตนเองเช่นวิถีในอดีต เพราะการที่ส่วนกลางเข้ามาตัดสินใจแทนชุมชน จะทำให้เกิดปัญหาอย่างน้อย 4 เรื่อง คือ 1 ชุมชนล่มสลาย 2.ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม การปกครองจากส่วนกลางไม่เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น เกิดการดูถูกเหยียด และนำไปสู่การครอบงำโดยระบบทุนนิยม บริโภคนิยม เพื่อให้เป็นวัฒนธรรมเดียวในสังคม 3. ไม่เกิดการเรียนรู้ เพราะการศึกษาจากส่วนกลางเน้นให้เรียนรู้จากตำราแต่ไม่รู้จักรากเหง้าตนเอง 4. เกิดการทุจริต คอรัปชั่น
“กระบวนการพัฒนาชุมชนโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง จึงเป็นคำตอบในการแก้ปัญหา โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้เกิด 1. การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ 2. การทำข้อมูล ทราบจุดเด่น ภูมิปัญญา ทำให้เกิดปัญญา 3. การทำแผนชุมชน ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องของราชการ หากชุมชนทำได้ จะทำให้เรารู้ตัวตนของชุมชน และต้องดึงฝ่ายรัฐบาล อปท.ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว
ด้านนายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวว่า การรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลางทำให้ชุมชนอ่อนแอ ด้านการค้า ระบบเสรีนิยมทางการค้าเช่นร้านสะดวกซื้อ ทำให้เศรษฐกิจชุมชนล่มสลาย ด้านทรัพยากร ทำให้การผลิตเพื่อบริโภคในชุมชนเปลี่ยนไปสู่การป้อนอุตสาหกรรม เพราะเป็นการนำทรัพยากรในพื้นที่ไปใช้เพื่อเศรษฐกิจแก่คนนอกพื้นที่ ทำให้ระบบโซ่อาหารถูกครอบงำโดยบริษัททุน เพียงไม่กี่บริษัท
นายอุบล ยังกล่าวถึงทางออกของปัญหาว่า อยากให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของฐานทรัพยากรตนเอง จัดการ ดิน น้ำ ป่า และวิถี ชีวิตของตนเอง โดยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชน การผลิตเพื่อจำหน่ายสินค้าในชุมชน เพื่อต่อต้านระบบอาหารทุนในตลาด
นางจินดา บุญสะเกษ เครือข่ายองค์กรชุมชน จ.นครราชสีมา พื้นที่จัดการตนเองต้นแบบ กล่าวว่า ต.บ้านใหม่มีการจัดการตนเอง โดยเริ่มจากการใช้ข้อมูลวิเคราะห์ตนเองผ่านกระบวนการพัฒนาแผนแม่บทชุมชน ทำให้ทราบถึงปัญหาในพื้นที่ ซึ่งไม่ต่างจากชุมชนอื่นๆ เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สิน จนปัจจุบันชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถจัดการปัญหาได้เอง การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับสมาชิกที่ยากจนโดยใช้เงินกองทุนออมวันละบาท เป็นการจัดสวัสดิการชุมชนโดยชุมชน
ส่วนกระบวนการแก้ปัญหาในชุมชน นางจินดากล่าวว่า ต.บ้านใหม่ เริ่มจากการมีทุน ความรู้หรือปัญญา และทุนที่เป็นคน รวมเป็นพลังชุมชนเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผ่านเวทีสัญจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน ทำให้ชาวบ้านได้พูดถึงปัญหา และเสนอสิ่งที่ต้องการให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบความต้องการเพื่อจัดทำโครงการที่เหมาะสมกับพื้นที่
[ล้อมกรอบ]
คำประกาศ ของ สมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชน “สานพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเอง”
วันที่ 14 กันยายน 2554 ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ด้วยเวลากว่าหนึ่งทศวรรษหรือกว่าสิบปีที่ผ่านมา ขบวนองค์กรชุมชนของเราที่กระจายตัวในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน หนุนเสริมและผลักดันงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ครอบคลุมพื้นที่ 2,953 ตำบลและเมืองทั่วประเทศ จนเกิดรูปธรรมการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น ทั้งในระดับตำบล จังหวัด และภูมินิเวศน์ที่หลากหลาย คือ
1.มีการจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในเมือง 290 เมือง 1,600 ชุมชน
2. มีการแก้ไขที่ดินทำกินในชนบทจำนวน 536 ตำบลเพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตของคนจนทั้งในเมืองและชนบท
3. มีการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ใน 864 พื้นที่
4. มีการบูรณาการกองทุนชุมชนและเศรษฐกิจชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินใน 463 ตำบล/เมือง 3,600 องค์กร
5. มีการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน ให้เป็นฐานของระบบสวัสดิการชุมชน ด้วยการพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนที่จัดตั้งแล้วทั้ง 3,600 ตำบล
ให้สามารถดูแลสมาชิกได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึงทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มเป้าหมาย การปรับเปลี่ยนระบบเกษตรกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร
เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของเครือข่ายองค์กรชุมชน สู่การจัดการตนเอง สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่นจากฐานรากให้เป็นไปอย่างมีพลังและทั่วถึงและผลักดันข้อเสนอในเชิงนโยบายให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นจริง
เครือข่ายองค์กรชุมชน ได้ร่วมกันจัดงานประชุมสมัชชา “สานพลังชุมชนท้องถิ่นและภาคีสู่การจัดการตนเอง” ขึ้น ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ในระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2554 โดยมีผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ และภาคีเข้าร่วมจำนวน 1,000 คน
ในการจัดงานครั้งนี้ เครือข่ายองค์กรชุมชน ได้นำเสนอบทเรียนรูปธรรม และผลที่ได้จากการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงได้ร่วมกันพัฒนาข้อเสนอในเชิงนโยบาย เสนอต่อรัฐบาล หน่วยงาน ภาคี เพื่อร่วมหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเองให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สำคัญใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านกฎหมายและโครงสร้าง ด้านคุณภาพชีวิต ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ ดังนี้
- ด้านเศรษฐกิจ คือ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งในภาคเกษตร ลดภาระหนี้สินของเกษตรกร ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งเสริมระบบเศรษฐกิจพอเพียง จัดตั้งกองทุนชุมชนท้องถิ่นระดับตำบล เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตำบลที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ฟื้นฟูพันธุกรรมพืชและสัตว์ท้องถิ่น ร่วมประชาคมอาเซียน ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน
- ด้านสังคม พัฒนาสังคมโดยเน้นแนวทางปลูกจิตสำนึกคุณธรรมจริยธรรม ใช้ศาสนาและวัฒนธรรม อนุรักษ์ รักษาวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในผืนแผ่นดินไทย ร่วมกันสร้างกลไก สำรวจตรวจสอบบุคคลให้ได้รับสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และได้รับสวัสดิการอย่างเสมอภาค
- ด้านกฎหมายและโครงสร้าง ร่วมกันสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงสร้างท้องถิ่น การกระจายอำนาจ “ในรูปแบบ ชุมชน/ท้องถิ่น/ จังหวัดจัดการตนเอง” ทุกระดับ ใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ และรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม สอดคล้องกับฐานทรัพยากรของท้องถิ่นนั้นๆ
- ด้านคุณภาพชีวิต ร่วมกันสร้างคุณภาพการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคมอย่างยั่งยืน และยกระดับการพัฒนาสุขภาวะชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเอง
- ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม องค์กรชุมชนร่วมกับภาคีทุกระดับในการตัดสินใจ บริหารจัดการ ดูแล อนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงต้นทุนชีวิต สิทธิชุมชน ระบบนิเวศ บนหลักการมีส่วนร่วม “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ ร่วมติดตามประเมินผล ร่วมรับประโยชน์”