ปีแพะร้อน "3 คลื่นยักษ์" ถล่มรัฐนาวา... จับตากองทัพยุค "มากนาย"
กูรูการเมืองหลายสำนักประเมินตรงกัน ปีหน้าปีแพะ (หลายคนเตรียมเรียกปีแพะบ้า) สถานการณ์บ้านเมืองมีโอกาสขยับสู่จุดเดือดอีกครั้ง
ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ปัญหาการเมืองที่ต้องชิงความได้เปรียบกัน และปัญหาความขัดแย้งที่ยังไม่จบลง
คำถามคือ กองทัพซึ่งเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นแค่ไหน อย่างไร?
กองทัพกระชับอำนาจ
วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการจากวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ศึกษาด้านความมั่นคงทางทหาร มองว่า กองทัพได้กระชับอำนาจอย่างหนาแน่นทุกภาคส่วน การคงกฎอัยการศึกเอาไว้ เปรียบเสมือนการคงเขี้ยวเล็บของกองทัพให้มีต่อไป
นอกจากนั้นยังมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 37 และ 50/2557 เพิ่มอำนาจศาลทหาร ให้มีเขตอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความมั่นคงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหมิ่นประมาท หมิ่นสถาบัน และอาวุธสงคราม นี่คืออำนาจแบบเต็มร้อยของกองทัพที่ปรากฏต่อภายนอก
ส่วนโครงสร้างต่างๆ ภายในกองทัพเอง ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป บรรดาหน่วยทหาร เช่น จังหวัดทหารบก จะแปรสภาพเป็นมณฑลทหารบกเกือบทุกแห่ง ซึ่งการยกสถานะเป็นมณฑลทหารบก จะสามารถระดมสรรพกำลัง และมีศักยภาพในการทำงานด้านกิจการพลเรือนมากขึ้น
ขณะที่การจัดงบประมาณของรัฐบาลชุดนี้ ก็ผ่องถ่ายไปยังกองทัพต่างๆ เพื่อจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะ "เรือดำน้ำ" ที่รอกันมานาน แต่การอนุมัติจัดซื้อจัดหาก็อยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เพราะกองทัพมีหน้าที่ทั้งรักษาอธิปไตยและดูแลทรัพยากรของชาติ
ย้อนยุคก่อนพฤษภาทมิฬ
วันวิชิต กล่าวต่อว่า เมื่อหันไปดูกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เป็นทางการของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่าง รธน.) ก็จะพบว่ามีการตระเตรียมให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง และเปิดช่องให้อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวง ทบวง กรม เข้าไปดำรงตำแหน่งได้ บรรยากาศจะกลับไปเหมือนช่วงก่อนปี 2540 ที่มีนายพลพาเหรดเข้าไปเป็น ส.ว.จำนวนมาก
เช่นเดียวกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้รัฐบาลรักษาการก่อนการเลือกตั้ง เป็นคณะรัฐมนตรีที่ประกอบด้วยปลัดกระทรวงต่างๆ คำถามคือ สถานการณ์แบบนี้ปลัดกระทรวงไหนจะได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการถ้าไม่ใช่ปลัดกระทรวงกลาโหม
"ผมคิดว่าสถานการณ์จะกลับไปเหมือนช่วงก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ คือบทบาททหารเยอะ แต่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นตัวกลาง ระหว่างอำนาจเก่า กลุ่มชนชั้นนำ กับขั้วอำนาจใหม่ และประชาชนที่มีสำนึกทางการเมืองสูง ประเมินว่าสถานการณ์การเมืองปีหน้า กองทัพยังเอาอยู่ เพราะยังได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต ระบุ
จุดอ่อนที่ตัวนายกฯ
อย่างไรก็ดี วันวิชิต ประเมินว่า จุดเปราะบางของกองทัพและรัฐบาลก็มีเช่นกัน นั่นก็คือทุกปัญหาจะพุ่งตรงเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เพียงคนเดียว ขณะที่กระทรวงอื่นๆ และรัฐมนตรีคนอื่นๆ กลายเป็นรัฐมนตรีโลกลืม
"โดยเฉพาะเรื่องที่กระทบกับความมั่นคง จุดอ่อนคือทุกปัญหาจะโฟกัสที่นายกฯมากเกินไป บทบาทของ ผบ.ทบ. (พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม) ดูลดความสำคัญลง สิ่งที่ต้องระวังคือนายกฯอารมณ์อ่อนไหวง่าย ทำให้ง่ายต่อการถูกโจมตี ถ้าไม่มีการผ่องถ่ายหน้าที่รับผิดชอบให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะงานด้านคามมั่นคง ก็จะกลายเป็นจุดอ่อนที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและกองทัพโดยรวมได้เหมือนกัน" วันวิชิต ระบุ
ส่วนการชิงตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนต่อไป ระหว่าง พล.ท.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ในฐานะนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 (ตท.14 เพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.อุดมเดช) กับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. (ตท.15) นั้น นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทหาร มองว่า แม้จะมีโอกาสของความขัดแย้งเกิดขึ้นได้บ้าง แต่ก็ยังมีเวลาพอสำหรับการทำความเข้าใจและเลือกผู้นำกองทัพคนใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในห้วงเวลานั้นๆ มากที่สุด
3คลื่นยักษ์ถล่มรัฐนาวา
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพ ประเมินสถานการณ์ในมุมที่ต่างออกไปว่า สภาพการณ์ตอนนี้แยกไม่ออกแล้วระหว่างแม่น้ำ 5 สายที่ คสช.ตั้งขึ้น เพราะเชื่อมโยงกันไปหมด ไม่ว่าจะเป็น คสช.เอง คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่าง รธน.)
ทั้ง 5 องคาพยพนี้เหมือนรัฐนาวาที่ขับเคลื่อนไป และการกระทำของแต่ละองคาพยพก็จะส่งผลถึงกันและกัน ขณะที่การนำพารัฐนาวาก็ต้องเจอกับคลื่นลมและมรสุม ซึ่งเป็นสถานการณ์ล่อแหลมที่ต้องเผชิญ ประกอบด้วย
1.คลื่นการเมือง มาจากเรื่องความขัดแย้งที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ และไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง
2.ทิศทางการร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมา ไม่มีใครรู้ว่าจะออกมาอย่างไร แต่ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นก่อผลกระทบแน่ ไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหน
3.เอกภาพของกองทัพ ในฐานะองค์กรที่ประคองเรือหรือรัฐนาวาให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ซึ่งหลักๆ คือกองทัพบก
เมื่อกองทัพมี "มากนาย"
แหล่งข่าวรายนี้ อธิบายว่า กองทัพบกในปัจจุบันแตกต่างจากยุคก่อนๆ เพราะมีปัญหาเรื่องเอกภาพ แม้ภาพภายนอกจะดูดี แต่ภายในค่อนข้างคุกรุ่น สาเหตุสำคัญเกิดจากกองทัพบกถูกควบคุมจากอำนาจหลายแหล่ง
แหล่งแรก คือ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. (พล.อ.ประยุทธ์) ซึ่งเคยเป็น ผบ.ทบ.มาก่อน ก็จะคุมอำนาจอยู่ก้อนหนึ่ง
แหล่งที่สอง คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็จะคุมอำนาจอีกก้อนหนึ่งในกองทัพ
แหล่งที่สาม คือ พล.อ.อุดมเดช ผบ.ทบ. คุมอำนาจได้บางส่วน แต่ตนเองก็ถูกวางบทบาทไม่ให้มีพลังอำนาจเต็มที่ การให้ ผบ.ทบ.ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ทำให้ความเป็นลูกน้องที่มีต่อนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอยู่สูงมาก ทั้งยังเป็นน้องในบูรพาพยัคฆ์ด้วย ส่งผลให้การขับเคลื่อนงานด้วยตนเองทำไม่ได้เต็มร้อย
อุทาหรณ์ "ไฟใต้"
เขายกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โครงสร้างการบริหารจัดการไม่ได้เอื้อให้ พล.อ.อุดมเดช แสดงฝีมือแบบเต็มร้อย การมีคณะกรรมการหลายระดับ เช่น ในกระบวนการขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุข แม้จะทำให้เกิดความรอบคอบในการทำงาน แต่อาจมีปัญหาเรื่องความคล่องตัว และการ "คิดนอกกรอบ" ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนและไม่มีสูตรตายตัวเช่นนี้
"ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผอ.รมน. (ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) พล.อ.อุดมเดช เป็นรองผอ.รมน. แล้ว พล.อ.อุดมเดช จะทำอะไรได้มากจริงหรือ เพราะไปอยู่ใต้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นอดีต ผบ.ทบ. ไม่ใช่นายกฯจากพลเรือนเหมือนผู้นำคนก่อนๆ"
"เช่นเดียวกับกระบวนการพูดคุยสันติสุข แม้ พล.อ.อักษรา เกิดผล (ตท.14) จะเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย และยังเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ ผบ.ทบ. แต่กรอบการพูดคุยก็ยังมีคณะกรรมการนโยบายคุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง หากคิดในมุมของความรอบคอบ เป็นทางการ ก็ถือว่าดี แต่ถ้าคิดในมุมของความคล่องตัวในการเจรจา ก็ต้องบอกว่าอึดอัดขัดข้องพอสมควร ไม่เหมือนคณะพูดคุยในรัฐบาลชุดที่แล้วที่ทำงานกันได้อย่างเสรี"
จับตาโยกย้าย เม.ย.58
แหล่งข่าวคนเดิมวิเคราะห์ต่อว่า ในกองทัพยังมีระบบรุ่นเป็นปัญหาซ้อนอยู่ข้างใน เพราะ ผบ.ทบ.เป็น ตท.14 มี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ.คนต่อไป แต่ขณะเดียวกันกลับมี พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา (ตท.15) ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ ของนายกรัฐมนตรี เป็นแคนดิเดตอยู่ด้วย
"ความเป็นรุ่น 14 ทำให้ พล.อ.อุดมเดช ถูกกดดันให้ต้องผลักดันเพื่อนรุ่นเดียวกันกับเขาขึ้นรับไม้ต่อ จึงเกิดความอึดอัดใจมากที่สุด เพราะแคนดินเดตอีกคนเป็นน้องชายของนายกฯ ทำให้ ผบ.ทบ.ต้องดูแลทั้งเพื่อน เจ้านาย และกองทัพ"
"จุดเปลี่ยนให้จับตาดูว่าการโยกย้ายวาระกลางปี เดือน เม.ย.58 จะออกมาอย่างไร รุ่น 14 กับรุ่น 15 จะถูกจัดวางอย่างไร นั่นคือตัวชี้สถานการณ์ในลำดับต่อไป"
ใครคือคนทุบโต๊ะตัวจริง
แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพ วิเคราะห์อีกว่า ทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้ดูที่สถานการณ์ใดเพียงสถานการณ์เดียว ต้องดูให้ครบทุกกระบวน ไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องกลุ่มอำนาจเก่า เรื่องอำนาจที่ชิงมาได้ ปัญหารุ่นในกองทัพ และความเปลี่ยนแปลงในสถาบันหลักของชาติ
"สิ่งเหล่านี้จะมีผลสะเทือน เพราะความไม่แน่นอนในกองทัพ และผู้ที่จะตัดสินใจของกองทัพไม่สามารถตัดสินใจได้แบบเด็ดขาด เนื่องจากถูกคุมอำนาจจากหลายแหล่ง จนกว่าจะถึงวันนั้นจึงจะรู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย ด้วยเหตุนี้การคงกฎอัยการศึกเอาไว้จึงเป็นแนวทางที่หนีไม่ได้ เพราะอย่างไรเสียก็ต้องมีเครื่องมือไว้สำหรับจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทุกคนไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดก่อนเกิดหลัง" แหล่งข่าวกล่าว