เปิดยุทธศาสตร์จัดการน้ำ’58 แสนล. รบ.ลุย 6 แผนงาน 4,227 โครงการ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) 30 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2558 จำนวน 6 แผนงาน และเพิ่มงบฯลงทุนน้ำอีก 55,985 ล้านบาท รวมมีวงเงินลงทุนตามแผนยุทศาสตร์ฯ 108,229 ล้านบาท
“เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ” อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะฝ่ายเลขาคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า ครม.ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำปี 2558 6 แผนงาน 4,227 โครงการ วงเงิน 55,985 ล้านบาท
สำหรับวงเงินดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เงินกู้ จำนวน 39,706 ล้านบาท และงบกลางปี 2558 จำนวน 16,278 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินลงทุนรวมตามแผนยุทธศาสตร์ปี2558 108,229 ล้านบาท
ส่วนแผนงาน 6 ด้านภายใต้ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและการพังทลายของหน้าดิน , การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค, การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต(เกษตรอุตสาหกรรม) , การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย, การจัดการคุณภาพน้ำ ,และการบริหารจัดการ
อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า ผลสัมฤทธิ์จากงบฯเพิ่มเติมครั้งนี้ รวมกับงบฯปี58ที่ได้รับไปแล้ว จะสามารถฟื้นฟูป่าได้ 4,700 ไร่ ปลูกหญ้าแฝกป้องกันการกัดเซาะ 675,000 ไร่ มีน้ำอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 3,941 หมู่บ้าน มีประปาเขตเมืองเพิ่มขึ้นอีก 481 แห่ง เกษตรกรกว่า 1.5 แสนครัวเรือน สามารถทำเกษตรที่มีระบบชลประทานในพื้นที่ 2.91 ล้านไร่
นอกจากนี้ยังมีปริมาณน้ำสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและการบริการได้อย่างมั่นคง สามารถป้องกันและบรรเทาพื้นที่อุทกภัยพื้นที่สำคัญได้ 24 แห่ง แม่น้ำสายหลักมีคุณภาพน้ำอยู่ในระดับพอใช้ สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และบูรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เลิศวิโรจน์” เผยว่า แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ 2558 จะมี 25 หน่วยงาน 8 กระทรวงดำเนินการตามโครงการดังกล่าว และให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มี พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธาน ติดตามตรวจสอบโครงการให้มีความโปร่งใสตามระเบียบและกฏหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งรายงานสรุปผลให้ครม.อย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ ครม.ยังมีมติอนุมัติหลักการให้ดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตร แก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและภาวะแห้งแล้งพบว่าทั่วทุกภาคของไทยมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้ต้องสำรองปริมาณน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2558 เพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ ฯลฯ
สำหรับพื้นที่ทำการเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจำนวน 3,456 ตำบล ใน 68 จังหวัด โดยภัยแล้งที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถปลูกพืช เกิดการว่างงานและขาดรายได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร
พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้ชุมชนเกษตรสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอันจะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะยาว โดยให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปจัดทำรายละเอียดของโครงการแล้วนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาอีกครั้ง
ขอบคุณภาพจาก:www.mcot.net