ควันหลงน้ำท่วมปัตตานี ชาวบ้านขอเขื่อนแทนถุงยังชีพ
สถานการณ์น้ำท่วมชายแดนใต้เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะที่ จ.ปัตตานี พื้นที่รับน้ำและอยู่ปลายน้ำก่อนออกทะเล เพราะฝนขาดเม็ด ไม่ถล่มซ้ำเติมอีก
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่น้ำท่วมหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองและเขตเศรษฐกิจของจังหวัด
ควันหลงหลังเภทภัยผ่าน คือเสียงวิจารณ์ที่มีต่อการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาของภาครัฐ จะบวกหรือลบเป็นประเด็นที่น่าสนใจ
นายอาหามะ มูดอ อายุ 50 ปี ชาวบ้าน จ.ปัตตานี บอกว่า ทุกปีพื้นที่ อ.หนองจิก อ.เมือง และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม ไม่ว่าน้ำจะมากหรือน้อย ไม่มีปีไหนที่ไม่ท่วม แต่ก็น่าชื่นชมภาครัฐที่มีการพัฒนาขึ้น เข้าหาประชาชนได้เร็วกว่าเมื่อก่อน ที่ไม่เข้าถึงประชาชนเลย
"เดี๋ยวนี้น้ำท่วม 2 วันเจ้าหน้าที่ก็จะเข้ามาแจกถุงยังชีพให้กับชาวบ้านแล้ว"
อย่างไรก็ดี นายอาหามะ บอกว่า ทุกๆ ปีรัฐก็จะช่วยแบบนี้ เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า น้ำท่วมก็แจกถุงยังชีพ น้ำลดก็ถือว่าทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ ก็จบไป พอปีหน้าน้ำท่วมอีกก็แจกถุงยังชีพใหม่ ทั้งชีวิตเกิดมาที่นี่มีน้ำท่วมทุกปี ถามคนแก่ๆ ก็บอกว่าท่วมตลอด เพราะเป็นพื้นที่ปลายน้ำ
ฉะนั้นขอได้ไหม ขอให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ปลายน้ำด้วยการสร้างเขื่อนแทนการแจกถุงยังชีพ
"ถุงยังชีพก็ต้องเบิกงบประมาณมาซื้อเหมือนกัน ทุกปีๆ หมดไปเท่าไหร่ เอาเงินนั้นมาสร้างเขื่อน วางระบบป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่ดี มีคุณภาพ จะดีกว่าไหม ถ้าทำได้ ถุงยังชีพก็ไม่จำเป็นอีกแล้ว เรื่องขอให้สร้างเขื่อน ทุกปีที่มีการพูดคุยกับภาครัฐ ชาวบ้านจะเรียกร้องมาตลอด แต่ก็ไม่เคยมีความคืบหน้า จึงขอความชัดเจนในเรื่องนี้ด้วย"
ด้าน นางปาอีซะ ลาเต๊ะ อายุ 37 ปี ชาวบ้าน จ.ปัตตานี กล่าวว่า เราอยู่ทางผ่านของน้ำ ไม่ได้อยู่ใกล้คลอง แต่ถ้า จ.ยะลา น้ำท่วม เราก็พลอยได้รับความเดือดร้อยไปด้วย และน้ำที่ไหลเข้ามาพื้นที่ลุ่มก็ไม่ได้ไหลแล้วผ่านไปทั้งหมด แต่น้ำบางส่วนจะขังอยู่เป็นเวลานาน 3 เดือนก็เคยมี ทุกปีจะต้องเจอปัญหาน้ำท่วมขัง พอน้ำขัง การเข้าออกหมู่บ้านก็ลำบาก การใช้ชีวิตประจำวันก็กระทบ แล้วจะออกไปทำงานอะไรก็ยาก เด็กๆ ไปโรงเรียนเสื้อผ้าเปียกตลอดเพราะต้องเดินผ่านน้ำ เรื่องกลิ่นไม่ต้องพูดถึง ถ้าน้ำขังนานๆ ก็กลายเป็นน้ำเสีย
"การแก้ปัญหาของรัฐก็ดี เข้ามาแจกถุงยังชีพ ท่วมเมื่อไหร่ก็เข้ามาแจก น้ำลดก็จบกัน ไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สิ่งที่ควรทำคือไปคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนยากจน และไม่ต้องเจอกับน้ำท่วมทุกปี ไม่ต้องเท้าเปื่อย"
"ก๊ะไม่รู้นะว่าจะแก้อย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐเขาเก่ง ร่ำเรียนมา น่าจะคิดได้มากกว่าพวกเรา ถุงยังชีพก็พอประทังไปได้ แต่เราไม่ต้องการถุงยังชีพแบบนี้ทุกปี เราต้องการไม่ให้มีน้ำท่วมขังแบบนี้ทุกปีมากกว่า"
นายจรัญ จันทรปาน นายอำเภอหนองจิก กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาวของพื้นที่ปลายน้ำ ก็ต้องสร้างเขื่อน และอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับปัญหาของพี่น้องประชาชนถือว่าเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานเคยมีการพูดคุยเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
"แนวทางการสร้างเขื่อน ต้องสร้างจาก อ.แม่ลาน แต่ถ้าจะให้ดีก็น่าจะต้องมีการสร้างจาก จ.ยะลา ต้นน้ำ มาถึงปลายน้ำที่ อ.หนองจิก และ อ.เมือง เพราะตอนนี้ อ.หนองจิก กับ อ.เมือง สองพื้นที่จะแบ่งกันรับน้ำพร้อมๆ กัน แนวเขื่อนที่มีอยู่ 2 สาย ก็ถือว่ายังไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด ถ้าจะให้ดีก็ต้องสร้างเพิ่มเพื่อรองรับน้ำที่เข้ามามากขึ้นในปัจจุบัน"
อนึ่ง จ.ปัตตานี มีเขื่อนอยู่แล้ว 1 เขื่อน คือ เขื่อนปัตตานี กั้นแม่น้ำปัตตานีบริเวณรอยต่อระหว่าง จ.ยะลา กับ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี แต่หลายฝ่ายเห็นว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันอุทกภัยและเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง
ด้านการให้ความช่วยเหลือของภาคประชาชน นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้บริหารโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่บ้านยือโม๊ะ บ้านจางา บ้านปะกาฮารัง ต.ปะกาฮารัง อ.เมืองปัตตานี พร้อมมอบข้าวสาร อาหารแห้ง และเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้กับพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ ทั้งสามหมู่บ้านเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพราะเป็นที่ลุ่ม มีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ ประกอบกับมีโครงการก่อสร้างปิดเส้นทางน้ำ ทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า ชาวบ้านกว่า 500 หลังเรือนต้องจมอยู่ใต้น้ำสูงกว่า 2 เมตรนานกว่าสัปดาห์ และอาจต้องใช้เวลานานนับเดือนกว่าน้ำจะแห้ง
นายอนุศาสน์ กล่าวว่า ที่ ต.ปะกาฮารัง โดยเฉพาะหมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 5 และหมู่ 8 ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ รวมทั้ง ต.ตะลูโบะ บางส่วนด้วย โดยทั่วไปแม้น้ำจะลดไปบ้างแล้ว แต่พื้นที่เหล่านี้ยังหนักอยู่ พี่น้องประชาชนต้องพ่ายเรือเข้าออกพื้นที่ โดยเฉพาะออกมารับถุงยังชีพที่มีหลายหน่วยงานเข้ามามอบ
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงช่วงหลังน้ำท่วมก็คือ การฟื้นฟู ซ่อมแซมบ้านและที่อยู่อาศัย รวมไปถึงสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะที่บ้านจางา ทุกวันนี้ หญ้าที่ให้กับวัวก็ขาดแคลน ชาวบ้านเป็นห่วงเรื่องนี้ด้วย สำหรับแผนระยะยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูเรื่องของการระบายน้ำ ตอนนี้สิ่งปลูกสร้างที่ขวางเส้นทางน้ำก็มีมากขึ้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขต่อไป
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สนช. ออกเยี่ยมเยียนและให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวปัตตานีบริเวณจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก