เรื่องเล่าของหนุ่มโรงอ่าง ปัตตานี...เมื่อ "น้ำ" คือวิถีชีวิต
ในขณะที่รอบๆ เมืองปัตตานีเต็มไปด้วยการรายล้อมของ "น้องน้ำ" อยู่ในขณะนี้ บ้านผมซึ่งอยู่ในตัวเมืองก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเหมือนกัน
โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เริ่มพร่องน้ำ แน่นอนว่าพื้นที่ปลายน้ำใกล้ออกทะเล บริเวณปากอ่าวปัตตานีอย่าง อ.เมืองปัตตานี ย่อมเลี่ยงผลกระทบไม่พ้น
วันสองวันก่อนน้ำจะมา (น้ำจากเขื่อนบางลาง) สถานการณ์ในขณะนั้น บริเวณใกล้ๆ ซอยบ้านผมที่ต้องใช้สัญจรไปมาโดนน้ำปิดล้อมไว้หมดแล้ว (เตรียมตัวโดนยึดเร็วๆนี้) เพียงแต่น้ำยังไม่ท่วมถึงตัวบ้านของผมเท่านั้นเอง (อาจเป็นเพราะทางเข้าบ้านผมสูง)
บ้านผมอยู่ถนนโรงอ่างครับ จะเรียกว่าเป็นถนนเลียบแม่น้ำปัตตานีด้านหนึ่งก็ได้ เพราะอยู่ห่างจากแม่น้ำปัตตานีไม่มาก ถนนสายนี้แต่เดิม...คือเมื่อหลายๆ ปีที่ผ่านมา...ใช้เป็นมาตรวัดว่าน้ำเดินทางข้ามถนนมาแล้วหรือยัง ถ้าข้ามมา ก็แสดงว่าน้ำต้องเอ่อทะลักท่วมเมืองปัตตานี แต่ถ้าไม่ข้าม ก็แสดงว่าไม่ท่วม
อย่างไรก็ดี เฉพาะตัวถนนโรงอ่างต้องบอกว่าเป็นถนนสายที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะน้ำมาทางท่อระบายน้ำ บางปีแค่ตาตุ่ม บางปีก็ถึงหัวเข่า รถเล็กหมดสิทธิ์วิ่งผ่าน
สำหรับปีนี้ อาจจะโชคดีหน่อยสำหรับบ้านผม เพราะบริเวณปากซอยมีการสร้างตึกใหญ่ ต้องถมดินให้สูงขึ้น และบริเวณรอบๆ บ้านก็มีการถางที่เททรายให้สูงขึ้นด้วย บ้านผมเลยรอดไป แต่ปากซอย (บนถนนโรงอ่าง) ก็ยังท่วมเหมือนเดิมอยู่ดี แต่ระดับน้ำก็ลดลงนิดหน่อย จากระดับหัวเข่าลดลงมาเหลือระดับหน้าแข้ง
วันหนึ่งระหว่างรอน้องน้ำ (จากเขื่อนบางลาง) ผมได้มีโอกาสเดินสำรวจถนนโรงอ่าง (หลังจากที่น้ำท่วมมาหลายวัน) ต้องบอกก่อนครับว่าถนนเส้นนี้มีระยะทางไม่ยาวมาก จากหัวถนนที่เข้าทางฝั่งหอนาฬิกาไปถึงสะพานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ น่าจะอยู่ที่ราวๆ 2 กิโลเมตร วันที่ผมไปเดินปรากฏว่าตลอดเส้นทางเต็มไปด้วย "น้องน้ำ"
ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เมืองที่ติดแม่น้ำ หนำซ้ำอีกด้านยังเป็นทะเล วิถีชีวิตจึงผูกพันกับน้ำ แน่นอนว่าเวลาน้ำท่วมก็ต้องลำบากขึ้นเป็นธรรมดา แต่ก็ใช่ว่าจะรับมือไม่ไหว เพราะโดนกันเกือบทุกปี
ระหว่างที่ผมเดินไปเรื่อยๆ ก็เจอเด็กๆ เล่นน้ำกันสนุกสนาน (ซึ่งเป็นธรรมดาตามประสาเด็ก เพราะเด็กกับน้ำเป็นของคู่กัน) ผมถามเด็กๆ ที่กำลังเล่นน้ำกันว่าสนุกไหม เขาก็ตอบพร้อมเพรียงกันว่าสนุก
ผมถามต่อว่าน้ำเข้าบ้านหรือเปล่า เด็กๆ ตอบว่าไม่เข้า เพราะบ้านเขาสูง (บ้านสูงกว่าถนน หรือไม่ก็อาจจะเป็นบ้านยกพื้น) นั่นแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้คนที่มีบ้านอยู่ใกล้แม่น้ำปัตตานี
เดินต่อไปเรื่อยๆ เจอก๊ะคนหนึ่ง (ก๊ะ หมายถึงพี่สาวในภาษามลายู) ผมก็ชวนแกคุย
ผม: ก๊ะ...ที่บ้านน้ำท่วมแล้วยัง
ก๊ะ : ก็ท่วมตั้งแต่วันจันทร์แล้ว (22 ธ.ค.)
ผม : ปีนี้หนักกว่าทุกครั้งไหม
ก๊ะ: ก็หนักกว่าทุกครั้งนะ ถ้าไม่นับปีที่พายุเข้า (ปี 2553) แต่น้ำก็ยังไม่เข้าบ้าน เพราะบ้านสูง
จังหวะนั้นสายตาผมเหลือบไปเห็นก๊ะกำลังลากอะไรบางอย่าง เป็นภาชนะคล้ายๆ ฝาปิดลังน้ำแข็งใบใหญ่ๆ ผมก็เลยมีคำถาม
ผม : ก๊ะไปไหน
ก๊ะ : กำลังจะไปจ่ายตลาด พอซื้อของเสร็จก็เอาตั้งบนฝานี่ แล้วก็ลากเข้าบ้าน เพราะน้ำท่วมด้านนอก ขี่มอเตอร์ไซค์เข้าบ้านไม่ได้แล้ว
นี่เป็นอีกหนึ่งวิถีของการปรับตัวให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในยามที่เผชิญอุทักภัย
ผมยังคงเดินต่อไปเรื่อยๆ มองดูน้ำในแม่น้ำปัตตานีที่กำลังไหลเชี่ยวอยู่ สายน้ำเหมือนกำลังจะล้นตลิ่งอยู่ร่ำไร แต่อีกฝั่งซึ่งเป็นฝั่งจะบังติกอ (ชุมชนเก่าแก่ของปัตตานี) มองเห็นเด็กๆ เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน เป็นภาพชินตาช่วงน้ำท่วม
ไม่กี่วันต่อมาหลังจากที่ผมเดินสำรวจถนนโรงอ่าง ปรากฏว่ามีประกาศจากทางเขื่อนบางลางว่าได้ลดการระบายน้ำลงแล้ว เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชน ประกอบกับฝนไม่ตกกระหน่ำซ้ำลงมาอีก ทำให้สถานการณ์ค่อนข้างคลี่คลาย...
ถ้าโชคดีผมคงไม่ต้องฉลองปีใหม่ในน้ำ!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-3 น้ำท่วมถนนโรงอ่างและบริเวณใกล้เคียงในตัวเมืองปัตตานี
4 น้ำในแม่น้ำปัตตานีเอ่อล้นขอบฝั่ง ขณะที่เด็กๆ ยังเล่นน้ำกันสนุก